กุหลาบพันธุ์ต่างๆที่ใช้เป็นต้นตอในการขยายพันธุ์

โดยทั่วไปแล้วเรามักจะสรรหากุหลาบที่จะนำมาใช้เป็นต้นตอ  โดยคัดเลือกจากพันธุ์กุหลาบป่าที่มีระบบรากดี  ทรงพุ่มแข็งแรง  ทนหนาว ทนร้อน มีอายุอยู่ได้นาน ต้านทานโรค  เช่น.-

1.  โรซ่า มัลติฟลอร่า (Rosa multiflora) มีถิ่นกำเนิดในญี่ปุ่น  มีระบบรากดี ทรงพุ่มแข็งแรง ช่อดอกใหญ่ อายุยืน ทนหนาว ทนร้อน ทนต่อโรคใบจุด (black spot) แต่ไม่ทนต่อโรคราขาว (powdery mildew) และโรคเหี่ยว(verticillium wilt) มีข้อสั้น

อีกประการหนึ่งคือ กุหลาบต้นนี้ดูดธาตุโบรอนและคลอรีน สะสมไว้ในใบมากกว่ากุหลาบชนิดอื่น ๆ จึงเป็นผลให้พันธุ์ดีเกิดอาการไหม้ตามขอบใบในฤดูร้อน

 

2. โรซ่า อินดิค่า (Rosa indica) หรือ โรซ่า ไซเนนซีส (Rosa chinensis) มีถิ่นกำเนิดในประเทศจีนและแถบเอเซียตะวันออก มีระบบรากหยั่งลึก ทนต่อความแห้งและทนต่อสภาพดินแห้งได้ดี  แต่ไม่ทนหนาว  มีหนามมาก  ไม่สะดวกในการทำงาน

3.  โรซ่า ด๊อกเตอร์ ฮุย (R.Dr.Heuy) เป็นกุหลาบลูกผสมระหว่างพันธุ์เลื้อย  มีลักษณะการเจริญเติบโตแบบเลื้อย ไม่มีหนาม  ช่วงข้อยาว  ดอกมีกลิ่นหอม  เจริญได้ดีในที่ ๆ มีอากาศเย็นแต่ไม่ทนต่อโรคใบจุด และโรคราแป้งขาว  นิยมใช้เป็นต้นตออย่างกว้างขวางในอเมริกา

4.  โรซ่า คามิน่า (Rosa camina) มีถิ่นกำเนิดในยุโรป ใช้เป็นต้นตอตั้งแต่ปี 1842 และที่ใช้เป็นต้นตอในปัจจุบันนี้  เป็นกุหลาบพันธุ์ลุกผสมทั้งสิ้น เช่น

–  โรซ่า คามิน่า “เฮนซอห์นเรคคอร์ด”(R.camina) “Heinsohns Rekord”กิ่งค่อนข้างคดปลายยอดมีสีแดง  ใบสีเขียวหม่น  มักใช้เป็นต้นตอกับพันธุ์กุหลาบดอกใหญ่  ทำให้พันธุ์ที่นำมาติดมีคุณภาพดีเยี่ยม  แต่ไม่ทนโรคราน้ำค้าง

–  โรซ่า คามิน่า “แพนเดอร์” (R.camina Plander) ต้นไม่มีหนาม  โคนกิ่งตรงแต่ปลายคด  ยอดอ่อนมีสีอมม่วง รากยาวแผ่กระจายเป็นต้นตอที่แข็ง  มักใช้เป็นต้นตอสำหรับกุหลาบยืนต้น แต่ไม่ทนโรคราน้ำค้าง

5.  โรซ่า  บูบองเนียน่า (R.bourboniana)  เป็นกุหลาบลูกผสม ลักษณะต้นตั้งตรง  กิ่งผอมบาง  ใบสีเขียวหม่น  หนามถี่แต่ผอมบาง  ใช้เป็นต้นตอในอินเดียตอนเหนือ  โดยเฉพาะต้นตอกุหลาบยืนต้น

ฉะนั้นเมื่อทุกพันธุ์ที่กล่าวมาแล้วข้างต้น มีทั้งข้อดีข้อเสีย  ผู้ปลูกจึงต้องใช้วิจารณญาณพิจารณาเอาเองว่า ควรจะใช้พันธุ์ใดเป็นต้นตอ จึงจะเหมาะสมกับกุหลาบพันธุ์ดีแต่ละพันธุ์