กุหลาบ:ไม้ดอกยอดนิยมปลูกได้โดยไม่ต้องใช้สารเคมี


กุหลาบที่นิยมปลูกเพื่อการค้าได้แก่ กุหลาบตัดดอกและกุหลาบพวง

กุหาลตัดดอก หรือ ไฮบริดที (Hytird Tea) มีลักษณะทรงพุ่มตั้งตรงสูงประมาณ 1-2 เมตร ดอกขนาดโต กลีบดอกซ้อน ออกเป็นดอกเดี่ยว เป็นชนิดที่มีขายตามร้านดอกไม้ทั่วไป พันธุ์ที่นิยมปลูก เช่น มีสออลอเมริกันบิวตี้ (Miss All American Beauty) คริสเตียนดิออร์ (Christian Dior) อเล็กซ์ เรด (Alex’s Red) คิงส์แรมซัม (King Ransom)

กุหลาบพวง หรือ ฟลอริบันดา (Floribunda) นิยมปลูกเพื่อเด็ดดอกขาย ลักษณะทรงพุ่มตั้งตรงสูงประมาณ 0.5-1 เมตร ดอกมีขนาดเล็ก ออกดอกเป็นพวงใหญ่ในแต่ละช่อมีหลายดอก พันธุ์ที่นิยมปลูก เช่น ฟูซีเลีย (Fusilier) แองเจลเฟซ (Angel Face) ลิลี่เบท (Lilibet)

การขยายพันธุ์

กุหลาบนิยมขยายพันธุ์โดยการปักชำ หรือตอนกิ่ง นอกจากนี้ยังสามารถขยายพันธุ์โดยการติดตา หรือเพาะเมล็ดก็ได้ ช่วงที่เหมาะสมสำหรับการปลูกกุหลาบมากที่สุดคือ ต้นฤดูฝนถึงฤดูหนาว ส่วนการปลูกในหน้าร้อนนั้นหากมีน้ำและความชื้นในดินไม่เพียงพอกุหลาบอาจตายได้หรือให้ผลผลิตไม่ดีเท่าที่ควร

วิธีการปักชำ

เลือกกิ่งที่มีดอกยาวประมาณ 1 ฟุต ลิบใบที่โคนกิ่งทั้งสองแนว ตัดดอกทิ้ง  นำโคนกิ่งไปจุ่มกับน้ำสกัดชีวภาพสักครู่แล้วผึ่งให้แห้งนำไปปักในกระบะชำ เพื่อช่วยให้รากงอกเร็วและมีความแข็งแรง ดินที่ใช้ให้นำทรายหยาบกับถ่านแกลบอย่างละ 1 ส่วน นำกิ่งลงไปปักลึก 1 ใน 3 ส่วนของความยาว หมั่นรดน้ำเช้าเย็น ประมาณ 4-5 สัปดาห์ จึงมีรากงอกนำไปปลุกได้

วิธีการตอนกิ่ง

เลือกกิ่งที่แตกออกมาจากตาต้นจะได้ผลดีที่สุด หักหนามออก ใช้มีดคม ๆขวั้นหัวท้ายห่างกัน 1 ซม. แกะเปลือกออกให้หมด แล้วนำดินมาพอก ห่อด้วยกาบมะพร้าวที่แช่น้ำจนอิ่มตัว ผูกเชือกให้แน่น หมั่นรดน้ำเช้าเย็น ประมาณ 4-5 สัปดาห์ จึงมีรากงอกนำไปปลูกได้

การเลือกสถานที่ปลูก

สถานที่ปลูกกุหลาบควรเป็นที่โล่งแจ้ง ได้รับแสงอย่างน้อยไม่ต่ำกว่าวันละ 8-10 ชั่วโมง หากปลูกในที่ที่ได้รับแสงน้อยจะให้ผลผลิตต่ำ ขนาดดอกเล็ก และมักพบว่าต้นอ่อนแอต่อโรคได้ง่าย สำหรับการปลูกพืชบังลมในที่โล่งที่ลมพัดแรง ควรปลูกห่างจากแปลงหรือต้นกุหลาบประมาณ 10 เมตร เพื่อป้องกันการบังแดดและแย่งอาหารจากต้นกุหลาบ

การเตรียมดินและแปลงปลูก

ก่อนปลูกควรมีการเตรียมดินหรือปรับปรุงดินให้มีคุณภาพ มีธาตุอาหารเพียงพอต่อการเจริญเติบโต โดยขุดดินให้ลึกประมาณ 1 ฟุต แล้วตากดินเพื่อฆ่าเชื้อโรคและแมลงประมาณ 1 สัปดาห์ หลังจากนั้นให้ย่อยดินให้ละเอียดใส่อินทรีย์วัตถุที่สลายตัวแล้วอย่างเช่น เศษฟาง เปลือกถั่วลิสง ขี้เถ้าแกลบ ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก ปุ๋ยชีวภาพ หรือปุ๋ยพืชสด เพื่อให้ดินมีความร่วนซุย สามารถเก็บความชื้นและมีการระบายน้ำดี มีค่า pH ระหว่าง 5.5-6.8 ซึ่งเป็นดินที่กุหลาบชอบ

แปลงที่ใช้ปลูกกุหลาบอาจใช้วิธียกร่อง หรือปรับระดับดินให้สูงกว่าระดับดินธรรมดาไม่ต่ำกว่า 1 ฟุต หลุมสำหรับปลูกควรขุดหลุมขนาดกว้าง 1 ฟุต ลึก 2 ฟุต ระยะปลูกประมาณ 60×60 ซม. ก่อนปลูกควรรองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอก ขุยมะพร้าว เปลือกถั่ว ฟางผุ อย่างละ 1 บุ้งกี๋ คลุกเคล้าให้เข้ากันแล้วจึงนำกิ่งพันธุ์ลงไปปลูก หลังจากกลบดินเรียบร้อยแล้วควรคลุมแปลงปลูกและรดน้ำให้ชุ่ม การคลุมแปลงจะช่วยรักษาความชื้นรักษาอุณหภูมิและช่วยป้องกันวัชพืชวัสดุที่ใช้คลุมแปลง เช่น ฟางข้าว เศษหญ้าแห้ง เปลือกถั่ว หรือวัสดุอื่นที่มี

การให้น้ำ

กุหลาบเป็นไม้ดอกที่ต้องการน้ำตลอดทั้งปี ในการให้น้ำนั้นจะให้มากให้น้อยขึ้นอยู่กับสภาพดินที่ปลูกและฤดูกาลด้วย หลักในการพิจารณาคือ ให้ต้นกุหลาบได้น้ำในระดับดินลึกประมาณ 16-18 นิ้ว ซึ่งเป็นระดับที่ลึกถึงรากใต้สุด อย่างไรก็ตามไม่ควรให้น้ำถึงกับดินเปียกโชกเกินไปด้วย จะทำให้เกิดโรคแมลงระบาดได้ง่าย

การให้ปุ๋ย

หลังจากปลูกกุหลาบประมาณ 15 วัน ให้ใส่ปุ๋ยที่มีไนโตรเจนสูง เพื่อเร่งการเจริญเติบโตของลำต้น กิ่ง และใบ ในระยะนี้หากกุหลาบขาดไนโตรเจนจะโตช้า ใบมีสีเหลือง กิ่งก้านยาว เล็ก และอ่อนแอ การให้ปุ๋ยครั้งต่อไปให้ใส่ทุก 15-20 วัน กระทั่งกุหลาบเริ่มให้ดอกจึงใส่ปุ๋ยที่มีฟอสฟอรัสสูงเพื่อเร่งดอก หลังใส่ปุ๋ยทุกครั้งควรรดน้ำตามทันที หรือฉีดพ่นด้วยน้ำหวานหมักจากผลไม้ (Fermented Fruit Juice) ใช้ฉีดพ่นแบบฮอร์โมนพืช ให้ผลในการบำรุงดีมาก โดยเฉพาะในช่วงที่พืชกำลังออกดอก

การตัดแต่งกิ่ง

ในระยะปีแรก ควรตัดแต่งกิ่งอย่างน้อยเดือนละ 2 ครั้ง เมื่อเข้าปีที่ 2 ควรตัดแต่งกิ่งเดือนละ 1 ครั้ง เพื่อตัดกิ่งที่ไม่สมบูรณ์ทิ้ง ทำให้ทรงพุ่งโปร่ง ง่ายต่อการดูแลรักษา และช่วยให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพคงที่ การตัดแต่งกิ่งควรใช้มีดหรือกรรไกรที่สะอาดและคม ตัดเป็นรอยเฉียงทำมุม 45 องศา ป้องกันไม่ให้มีน้ำขังทำให้รอยแผลเปื่อยยุ่ยและเกิดโรคเน่าตามมา การตัดไม่ควรตัดชิดตามากไป ควรเหลือกิ่งเหนือตาไว้ประมาณ ¼ นิ้ว และให้ตาอยู่ทางด้านส่วนสูงของรอยเฉียง หลังจากตัดกิ่งแล้วควรทารอยตัดสำหรับกิ่งที่มีขนาดโตกว่าดินสอด้วยสีน้ำมันหรือปูนแดง เพื่อป้องกันการแห้งตายของปลายกิ่ง จากการเข้าทำลายของเชื้อรา และหนอนเจาะลำต้น

ในการตัดแต่งกิ่งกุหลาบมีหลักในการพิจารณา คือ ให้ตัดกิ่งแก่ กิ่งแห้งตาย ซึ่งมักเป็นกิ่งในพุ่มและกิ่งแขนง เป็นกิ่งที่มีสีดำหรือน้ำตาล ตัดกิ่งที่ถูกโรคและแมลงรบกวนออกให้หมด ตัดกิ่งไขว้หรือกิ่งที่เข้าไปในทรงพุ่ม รวมทั้งกิ่งที่ล้มเอนเกะกะไปคลุมเกาะต้นอื่น ตัดกิ่งที่แตกมาจากต้นตอหรือกิ่งชักเกอร์(มักมาจากกิ่งที่ขยายพันธุ์โดยการติดตา)

การตัดแต่งกิ่งกุหลาบตัดดอก

ให้ตัดกิ่งออกไปครึ่งหนึ่งของความสูงเดิม เช่น ก่อนตัดกิ่งสูง 40 นิ้ว ให้ตัดเหลือ 20 นิ้ว แต่ไม่ควรตัดให้เหลือความสูงต่ำกว่า 18 นิ้ว แต่ก็อาจพิจารณาตามลักษณะสายพันธุ์และความแข็งแรงของต้นด้วย บางพันธุ์ต้นแข็งแรงก็ตัดเพียงเล็กน้อย ส่วนพันธุ์ที่ต้นอ่อนแอหรือลำต้นเตี้ยอาจตัดให้เหลือกิ่งสั้นกว่านั้นได้

การตัดแต่งกิ่งกุหลาบพวง

กุหลาบพวงต้องการดอกที่เป็นพุ่มช่อใหญ่ต่างจากกุหลาบตัดดอก การตัดแต่งควรตัดแต่งทรงพุ่มให้ได้สัดส่วนและมีความสูงเท่ากัน การตัดกิ่งควรให้กิ่งสั้นลง 1 ใน 4 ของความสูงเดิม ตัดกิ่งที่ไม่มีประโยชน์ออกไป รักษาเฉพาะกิ่งที่ให้ดอกดีไว้

การตัดดอก

การตัดดอกสำหรับกุหลาบตัดดอก แม้ราคาของกุหลาบที่มีก้านดอกยาวจะได้ราคาดีกว่ากุหลาบที่มีก้านดอกสั้น แต่การตัดดอกนั้นควรคำนึงถึงหลักปฏิบัติที่สำคัญเพื่อให้ต้นผลิตดอกที่มีคุณภาพไปนาน ๆ คือ ตัดให้เหลือใบรวมที่มีใบย่อย 5 ใบ ติดอยู่กับกิ่งที่ตัดอย่างน้อย 2 ใบ(กุหลาบจะมีใบรวม 2 ประเภท คือ ใบรวมที่มีใบย่อย 3 ใบ เป็นใบที่ยังไม่โตเต็มที่ และใบรวมที่มีใบย่อย 5 ใบ เป็นใบที่โตเต็มที่แล้ว) หากตัดถึงโคนกิ่งจะทำให้ต้นแม่โทรม กิ่งที่แตกขึ้นมาใหม่จะให้ดอกเล็กลงหรือไม่ให้ดอกอีกเลย

โรค-แมลงและการป้องกันกำจัด

โรคกุหลาบ โรคกุหลาบที่สำคัญได้แก่ โรคใบจุด โรคราแป้ง โรคราสนิม โรคแอนแทรกโนส โรคหนามดำ ซึ่งโรคเหล่านี้ผู้ปลูกจะทราบก็ต่อเมื่อเชื้อได้เข้าทำลายต้นกุหลาบแล้ว ดังนั้นวิธีการที่ดีที่สุดคือการป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเข้าทำลายต้นได้

1.  โรคใบจุด เกิดจากเชื้อราระบาดมากในช่วงฤดูฝน ระหว่างเดือนกันยายน-ตุลาคม หรือช่วงที่มีน้ำค้างมาก อาการของโรคจะมีจุดสีดำบริเวณผิวใบด้านบน เห็นเส้นใยในวงกลมเป็นขุยจากนั้นใบจะเหลืองและร่วงอย่างรวดเร็วต้นชะงักการเติบโต

2.  โรคราแป้ง เกิดจากเชื้อราระบาดในช่วงอากาศหนาวหรือมีน้ำค้างลงจัด มักเกิดกับใบย่อยหรือยอดอ่อน อาการของโรคจะเป็นขุยคล้ายผงแป้งสีขาวอยู่บริเวณผิวใบทั้งด้านบนและล่าง ใบมักหงิกงอ ส่วนที่เป็นโรคอาจจะเปลี่ยนเป็นสีม่วงถึงดำ หากเกิดกับใบจะทำให้ใบร่วง หากเกิดกับดอกตูมจะทำให้ดอกไม่บาน

3.  โรคราสนิม ระบาดในช่วงฤดูฝน มักเกิดกับใบแก่ อาการของโรคจะมีจุดสีส้มบริเวณด้านบนของใบ หากเป็นมากจะทำให้ใบร่วง

4.  โรคแอนแทรกโนส ระบาดในช่วงฤดูฝนเช่นเดียวกับราสนิม มักเกิดกับใบอ่อนหรือกิ่งอ่อน อาการของโรคจะมีจุดสีน้ำตาลเป็นวงกลมขนาดเล็ก แล้วเปลี่ยนเป็นสีขาวขอบม่วง

5.  โรคหนามดำ มักเกิดกับหนามของกิ่งอ่อนแล้วลุกลามไปตามกิ่งก้านอาการของโรคจะทำให้ก้านเหี่ยวและตายไป โดยมีแผลเป็นรูปวงรี

แมลงศัตรูกุหลาบ แมลงศัตรูของกุหลาบมีหลายชนิด เช่น ด้วยปีกแข็ง ผึ้งกัดใบ เพลี้ยวจั๊กจั่น เพลี้ยแป้ง เพลี้ยไฟ เพลี้ยหอย เพลี้ยอ่อน หนอนกินใบ หนอนเจาะดอก หนอนเจาะต้น

การป้องกันกำจัด วิธีที่ดีที่สุดคือดูแลรักษาต้นกุหลาบให้เจริญเติบโตสมบูรณ์ แข็งแรง หมั่นกำจัดวัชพืช บำรุงปุ๋ย ทำความสะอาดต้นด้วยการ นำใบแก่ที่ร่วงหล่นออกไปให้พ้นบริเวณต้น กำจัดต้นที่เป็นโรคไปเผาทำลาย หมั่นตัดแต่งกิ่งให้โปร่ง หลีกเลี่ยงการให้น้ำที่เปียกบริเวณต้นและใบ หรือฉีดพ่นน้ำหมักสะเดาหรือสมุนไพรอื่น ๆ ที่มีฤทธิ์ในการป้องกันและกำจัดแมลงศัตรูพืช เช่น ตะไคร้หอม ข่า ฟ้าทะลายโจร พริกขี้หนู หรือน้ำหมักชีวภาพเพื่อขับไล่แมลงศัตรูพืชทุก ๆ สัปดาห์ ก่อนที่จะมีโรคแมลงรบกวนโดยควรทำในช่วงเช้าหรือหลังฝนตกหนัก และควรมีการปลูกพืชหมุนเวียนบำรุงดินชนิดอื่น เพื่อตัดวงจรของโรคแมลง และให้มีการใช้ประโยชน์จากดินอย่างเต็มที่ เพราะพืชแต่ละชนิดมีรากลึกและต้องการธาตุอาหารแตกต่างกัน