กุ้งกุลาดำ

ลักษณะทั่วไปของกุ้งกุลาดำคือ มีหนวดลายจางมากไม่เด่นชัด แก้มอยู่ในแนวระนาบ และสันที่อยู่สองข้างโคนกรียาวเกือบถึงฟันกรีอันหลังสุด ซึ่งมีสันแนวข้างเฉียงชี้ไปทางนัยตา นอกจากนี้มีลักษณะ อื่นๆ ที่เด่นชัดคือ ลำตัวสีแดงอมน้ำตาลถึงน้ำตาลเข้ม มีลายพาดขวางด้านหลังประมาณ 9 ลาย และสีออกน้ำตาลเข้มข้างแถบสีขาว ด้านบนของกรีมีฟัน 6-8 ซี่ ด้านล่างมี 2-4 ซี่ ขอบปลายหางและขาว่ายน้ำมีขนสีแดง ถิ่นอาศัย มีอยู่ทั่วไปในทวีปเอเชีย ในประเทศไทยพบแพร่กระจายทั่วไปในอ่าวไทย แต่จะพบมากบริเวณเกาะช้าง บริเวณนอกฝั่งจังหวัดชุมพรถึงนครศรีธรรมราช และทางฝั่งมหาสมุทรอินเดีย (ทะเลอันดามัน) บริเวณนอกฝั่งของจังหวัดภูเก็ตและระนอง ชอบอาศัยอยู่ในบริเวณที่มีพื้นดินเป็นทรายปนโคลน หรือทรายปนเปลือกหอยและหอยปะการัง กุ้งชนิดนี้สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี สามารถปรับตัวอยู่อาศัยในแหล่งน้ำกร่อยได้ อาหาร ชอบกินแพลงก์ตอน หนอน และแมลงน้ำ ขนาด ความยาวประมาณ 18-25 ซม. ประโยชน์ ใช้บริโภคในประเทศและส่งไปจำหน่ายต่างประเทศ ซึ่งขายกันด้วยราคาแพงกว่ากุ้งทะเลชนิดอื่น

การเลี้ยง

ปัจจุบันสถานประมงน้ำกร่อยของกรมประมงและฟาร์มของเอกชนสามารถเพาะกุ้งชนิดนี้ได้ ด้วยวิธีบีบตา (Eyestalk ablation) กุ้งชนิดนี้สามารถนำไปเลี้ยงได้ในบริเวณพื้นที่ดินเค็มของภาคตะวันออกเฉียงเหนือในระดับความเค็มระหว่าง 10-30 ppt. ซึ่งมีพื้นที่ลักษณะดังกล่าวอยู่จำนวนนับล้านไร่ในภูมิภาคนี้ ซึ่งสมควรจะได้พิจารณาการใช้ประโยชน์ในด้านการเลี้ยงกุ้งทะเลเพื่อทดแทนพื้นที่ดินป่าไม้ชายเลน ซึ่งถูกราษฎรบุกรุกเข้าไปทำนากุ้งมากขึ้นเป็นลำดับ ถึงขั้นที่จะเสียหายต่อระบบนิเวศนวิทยาของสัตว์นํ้ากร่อยแล้ว