ขนุนอ่อน ผักพื้นบ้าน อาหารพื้นเมือง

ด้วยความร่วมมือของ มูลนิธิการแพทย์แผนไทยพัฒนา

พูดถึงขนุน คนเมืองส่วนใหญ่คงคิดถึงขนุนเฉพาะเป็นผลไม้ที่มีรสหวาน ที่พ่อค้าแม่ค้านำมาแกะขายเป็นขีด ๆ ทั้งที่ความจริงแล้วก่อนที่ขนุนจะสุก เราสามารถนำขนุนไปประกอบอาหารหลายอย่าง เช่น ใช้ยอดหรือใบอ่อน ทานกับส้มตำ เมี่ยง หรือลวกจิ้มน้ำพริก ส่วนผลอ่อนก็นำไปปอกเปลือกฝานเนื้อขนุนเป็นแว่นต้มจิ้มน้ำพริก ทำซุบบักมี่ หรือนำไปแกง ฯลฯ ในที่นี้จะขอแนะนำแกงลูกขนุนกับไก่มาให้ลองทำรับประทานกันดู

แกงลูกขนุนกับไก่ ส่วนใหญ่แล้วจะออกรสค่อนข้างเผ็ด สำหรับบุคคลที่ทานเผ็ดไม่ค่อยได้อาจทำให้เกิดอาการแสบท้องหรือท้องเสียขึ้นมาได้ อย่างไรก็ตามสรรพคุณของลูกขนุนที่มีรสฝาดก็จะช่วยในการสมานลำไส้ และรักษาอาการท้องเสียนั้นให้บรรเทาไปได้เช่นกัน

แกงลูกขนุนกับไก่

เครื่องปรุง ไก่หั่นชิ้นพอคำ ¾ ถ้วย ขนุนอ่อนหั่นสี่เหลี่ยม 1 ถ้วย มะพร้าวขูด 500 กรัม น้ำปลา 1 ช้อนโต๊ะ น้ำตาลปีบ 1 ช้อนชา

เครื่องแกง พริกขี้หนูแห้ง 40 เม็ด ตะไคร้ 2 ต้น กระเทียม 1 หัว หอมแดง 2 หัว ขมิ้น 2 เซนติเมตร พริกไทยเม็ด 2 ช้อนชา เกลือป่น 1 ช้อนชา กะปิ 1 ช้อนโต๊ะ

วิธีทำ

คั้นมะพร้าวให้ได้กะทิ 2 ถ้วย จากนั้นให้นำกะทิตั้งไฟ ใส่เครื่องแกงที่โขลก พอหอมใส่ไก่ ขนุน น้ำปลา น้ำตาลปีบ พอทุกอย่างสุก ขนุนนุ่มปิดไฟ

คุณค่าทางอาหาร

แกงลูกขนุนกับไก่ 1 ชุด ให้พลังงานต่อร่างกาย 2144 กิโลแคลอรี่ ประกอบด้วยน้ำ 806.9 กรัม โปรตีน 73.8 กรัม ไขมัน 165 กรัม คาร์โบไฮเดรต 88.6 กรัม กาก 54.5 กรัม ใยอาหาร 20.2 กรัม แคลเซียม 39.8 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 1176.5 มิลลิกรัม เหล็ก 39.3 มิลลิกรัม เรตินอน 0.88 ไมโครกรัม เบต้าแคโรทีน 12 ไมโครกรัม ไวตามินเอรวม 24112 IU ไวตามินบีหนึ่ง 56.85 มิลลิกรัม ไวตามินบีสอง 1.57 มิลลิกรัม ไนอาซิน 28.65 มิลลิกรัม ไวตามินซี 104.9 มิลลิกรัม

สรรพคุณทางยา

1.  ขนุนอ่อน รสฝาด มีฤทธิ์ฝาดสมาน แก้อาการท้องเสีย

2.  มะพร้าว รสมันหวาน บำรุงกำลัง บำรุงเส้นเอ็น ใช้รักษาโรคกระดูก

3.  พริกขี้หนู รสเผ็ดร้อน ช่วยกระตุ้นให้เจริญอาหาร ขับลม ช่วยย่อยอาหาร

4.  กระเทียม รสร้อนฉุน แก้ไอ แก้โรคผิวหนัง กลากเกลื้อน ขับลม แก้จุกเสียด แน่น บำรุงธาตุ ขับโลหิต

5.  หอมแดง รสเผ็ดร้อน แก้ไข้เพื่อขับเสมหะ แก้โรคในปาก

6.  ตะไคร้ รสปร่า กลิ่นหอม แก้ปวดท้อง ขับปัสสาวะ บำรุงธาตุ ช่วยเจริญอาหาร

7.  ขมิ้นชัน รักษาแผลในลำไส้ ช่วยเจริญอาหาร ขับลม รักษาโรคผิวหนัง

8.  พริกไทยเม็ด รสเผ็ดร้อน ขับลม ขับเหงื่อ ช่วยเจริญอาหาร

เอกสารอ้างอิง: ไม้เอนกประสงกินได้ สภาวิจัยแห่งชาติ คณะกรรมการ สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา เฟื่องฟ้าพริ้นติ้ง 2540 ผักพื้นบ้าน ความหมายและภูมิปัญญาของสามัญชนไทย สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข 2538 : หนังสือวิชาการชุมนุมแพทย์แผนไทยและสมุนไพรแห่งชาติครั้งที่ 3 สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข 2542