ขนุน

(Jack Fruit Tree)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Artocarpus heterophyllus Lam.
ชื่อวงศ์ MORACEAE
ชื่ออื่น ขะเนอ มะหนุน หมักมี้
ถิ่นกำเนิด อินเดีย
ลักษณะทั่วไป ไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง 10-15 ม. ขนาดทรงพุ่ม 4-6 ม. ทรงพุ่มรูปเจดีย์ ต่อมาเป็นทรงกลม เปลือกต้นสีน้ำตาลอมแดง มีรอยด่างขาวกระจายทั่วไปและค่อนข้างเรียบ หรือแตกร่องตื้นๆ ตามแนวยาว


ใบ ใบเดี่ยว เรียงเวียนสลับ รูปไข่กลับ กว้าง 3.5-7.5 ซม. ยาว 5-25 ซม. ปลายใบเป็นติ่งแหลม โคนใบแหลม ขอบใบเรียบเป็นคลื่น เล็กน้อย แผ่นใบหนาและเหนียวคล้ายแผ่นหนัง ค่อนข้างเรียบ สีเขียวเข้ม เป็นมัน ผิวใบด้านล่างสีเขียวอมสีน้ำตาลอ่อนและมีขนเล็กๆ กระจายทั่วใบ ก้านใบยาว 1.5-2.5 ซม.
ดอก สีเหลืองนวล ดอกแยกเพศร่วมต้น ดอกเพศผู้ออกเป็นช่อแบบ ช่อกระจุกแน่นที่ซอกใบสุดท้ายของกิ่งแตกใหม่รูปกลมรีไม่มีกลีบเลี้ยง และกลีบดอก ดอกเพศเมีย ออกเป็นช่อแบบช่อกระจุกแน่นที่ลำต้น และกิ่งโครงสร้างขนาดใหญ่ ไม่มีกลีบเลี้ยงและกลีบดอก ช่อดอกมีกาบห่อหุ้มและหลุดเมื่อช่อดอกแก่
ผล ผลสดแบบมีเนื้อ เป็นผลรวมขนาดใหญ่ รูปรีหรือทรงกลมยาว มีหนามเป็นตุ่มๆ ไม่แหลมสีเขียวอมเหลืองเมื่อสุกสีน้ำตาลอมเหลือง และมีกลิ่นหอม เมล็ดมีเนื้อสีเหลืองหรือสีเหลีองอมส้มห่อหุ้ม เมล็ดหนา รูปไข่หรือรูปรี สีน้ำตาลอ่อน ขนาดใหญ่ 1 เมล็ดต่อผลย่อยติดดอกออกผลตลอดปี ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด เสียบยอดหรือทาบกิ่ง
นิเวศวิทยา พบปลูกเลี้ยงอยู่ทั่วไป
การใช้ประโยชน์ ดอกเพศผู้อ่อน ผลอ่อนทำซุป ผลสุกรับประทานเนื้อ หุ้มเมล็ด (ยวง) เมล็ดต้มให้สุกกินเป็นอาหารว่าง ยาง ใช้ติดจั๊กจั่น แก่นขนุน ทำสีย้อมผ้า
การใช้ประโยชน์ด้านสมุนไพร ผลอ่อน เป็นยาระบาย แก่น บดกิน เป็นยาระบาย เมล็ด ช่วยขับน้ำนมในสตรีหลังคลอด
ที่มา:วัลลิ์รุกขบุปผชาติ ตามรอยพระบาทบรมราชกุมารี โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย