ขมิ้นอ้อย

“ ขมิ้นอ้อย ” มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า เคอร์คิวม่า เซดดอเรีย (Curcuma zedoaria, Rose.) อยู่ในตระกูล ซิงจิเบอราซี่ (Zingiberaceae ) ภาคเหนือเรียกว่า ‘‘ขมิ้นหัวขึ้น” ขมิ้นอ้อยเป็นพืชล้มลุกงอกงามในฤดูฝน และต้นโทรมหัวใหญ่ในฤดูหนาวเช่นเดียวกับพวก ขิง ข่า กระชาย ใบโตกว่าใบกระชาย หัวใหญ่กว่าขมิ้นชันและหัวขมิ้นจะโผล่ขึ้นมาจากพื้นดิน ในขณะที่ต้นโทรม ในเหง้าหรือหัวของขมิ้นอ้อยมีน้ำมันหอมระเหยที่ประกอบด้วยสารสีเหลือง คือ เคอร์คิวมีน ( Curcumin ) และชัน (resin) มีกลิ่นหอมอ่อนกว่าขมิ้นชัน ในอาหารไทยพื้นบ้านหลายชนิดใช้ขมิ้นอ้อยแต่งสีและกลิ่นมากกว่าขมิ้นชันเพราะกลิ่นไม่ฉุนมาก เช่น ใส่ในขนมเบื้องญวน ข้าวเหนียวหน้ากุ้ง เป็นต้น ขมิ้นอ้อยให้สีและกลิ่นจากธรรมชาติไม่เป็นพิษภัยเหมือนสีสังเคราะห์ ดังนั้นท่านผู้บริโภคและผู้ประกอบอาหารขายขอได้ช่วยกันนึกถึงสิ่งที่ได้จากธรรมชาติมากกว่าสารสังเคราะห์ ถึงแม้จะไม่สะดวกสักหน่อยจะปลอดภัยกว่า

สรรพคุณทางยาของขมิ้นอ้อยใช้หุงในนํ้ามันมะพร้าวใส่แผลทำให้หายเร็ว เนื่องจากหัวขมิ้นอ้อยมีสารรสฝาด ( tannin ) และใช้พอกแก้อาการฟกช้ำบวมได้ และตามความเชื่อถือใช้เหง้าสดบดผสมกับน้ำปูนใสดื่มแก้ท้องร่วง

สรุปสรรพคุณ

หัวขมิ้นอ้อย  ประกอบด้วยนํ้ามันหอมระเหยสีเหลืองเคอร์คิวบีนและน้ำมันชัน ให้สีและกลิ่นจากธรรมชาติ ขับลม และแก้ท้องร่วง มีสารรสฝาดแทนนินทำให้แผลหายเร็ว พอกแก้อาการฟกบวม