ข้อควรระวังในการใช้ขมิ้น

ขมิ้นชัน

ขมิ้นชัน

ชื่อพื้นเมืองอื่นๆ ขมิ้นแกง ขมิ้นหัว ขมิ้นหยอก สะยอ

ชื่ออังกฤษ Turmeric, Curcuma, Yellow Root

ชื่อวิทยาศาสตร์ Curcuma longa Linn.

ขมิ้นอ้อย

ขมิ้นอ้อย

ชื่อพื้นเมืองอื่นๆ ขมิ้นขิ้น แฮ้วดำ ละเมียด

ชื่ออังกฤษ Zedoary

ชื่อวิทยาศาสตร์ Curcuma zedoaria Rose.

วงศ์ Zingiberaceae

ขมิ้นที่นิยมใช้ได้แก่ ขมิ้นชัน และขมิ้นอ้อย ทั้งขมิ้นชันและขมิ้นอ้อยเป็นพืชล้มลุก มีเหง้าอยู่ใต้ดิน ขมิ้นชันจะมีเหง้าเล็กกว่าและสีเหลืองเข้มกว่าขมิ้นอ้อย ทั้งขมิ้นชันและขมิ้นอ้อยใช้เป็นเครื่องเทศในการปรุงอาหารไทย นิยมใช้ขมิ้นอ้อยมากกว่าขมิ้นชันเพราะกลิ่นไม่ฉุนมาก เหง้าขมิ้นสดนิยมใช้แต่งสีอาหารหลายชนิดเพื่อให้มีสีเหลือง เช่น ข้าวหมกไก่ แกงเหลือง แกงกะหรี่ เนย เนยแข็ง ผักดอง ขนมเบื้องญวน และผงมัสตาร์ด เป็นต้น การใช้ขมิ้นแต่งสีอาหารนั้นมีข้อเสียคือ ทำให้อาหารมีกลิ่นซึ่งบางคนไม่ชอบ

ข้าวหมกไก่

ขมิ้นเป็นพืชที่ปลูกง่ายชอบดินร่วนซุยที่ระบายนํ้าได้ดี ชอบ อากาศร้อนและชื้น ปัจจุบันประเทศไทยปลูกขมิ้นชันส่งขายเป็นสินค้าออก

ประโยชน์ทางยา

ในทางยามักใช้ขมิ้นชัน โดยใช้ประโยชน์ดังนี้

1. ทาแก้โรคผิวหนังผื่นคัน รักษาแผลพุพอง แก้อาการแพ้เนื่องจากแมลงกัดต่อย สารที่ออกฤทธิ์คือสารสำคัญในนํ้ามันหอมระเหยซึ่งมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อรา

วิธีใช้

ก. ใช้เหง้าขมิ้นชันสดล้างสะอาด ตำละเอียด คั้นนํ้า ใส่แผล ข. ใช้เหง้าสดฝนกับนํ้าต้มสุก ทาแผล

ค. ใช้ผงขมิ้นชัน ผสมนํ้าต้มสุกพอประมาณ ทาแผล

ง. ใช้ผงขมิ้นโรยบริเวณแผล

จ. ใช้ผงขมิ้นชันผสมนํ้ามันมะพร้าว อัตราส่วน 1: 2 เคี่ยวไฟ อ่อนๆ คนตลอดเวลาจนได้น้ำมันสีเหลือง ทาบริเวณแผล

2. ใช้รับประทานแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกเสียดแน่น(dyspepsia)

วิธีใช้ ใช้เหง้าขมิ้นชันสด ล้างสะอาดหั่นเป็นชิ้นบางๆ ตากแดดจัดๆ 2 วัน บดให้เป็นผงละเอียด ผสมกับนํ้าผึ้งปั้นเป็นลูกกลอนขนาดปลายนิ้วก้อย เก็บไว้รับประทานครั้งละ 2 – 3 เม็ด วันละ 4 ครั้ง หลังอาหาร และก่อนนอน หรือใช้เหง้าขมิ้นชันสดล้างสะอาด ตำละเอียด คั้นเอานํ้าผสมนำต้มสุกเท่าตัว รับประทานครั้งละ 2 ช้อนโต๊ะ วันละ 4 ครั้ง หลังอาหาร และก่อนนอน บางคนอาจแพ้ รับประทานแล้วท้องเสีย ต้องรีบหยุดยาทันที

3. ช่วยป้องกันโรคกระเพาะอาหาร และรักษาแผลเปื่อยใน

กระเพาะ และลำไส้

จากการวิจัยทางคลินิกพบว่า เคอร์คูมินกระตุ้นให้เกิดการหลั่งมิวซิน (mucin) ในกระเพาะ จึงช่วยป้องกันแผลในกระเพาะได้ เคอร์คูมินในขนาดตํ่ากว่า 50 มก/กก จะช่วยป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะที่เกิดจากยาเฟนิล บิว-ทาโซน (phenylbutazone), แอสไพริน และ 5-ไฮดรอกซีทริปตามีน (5-hydroxytiyptamine) ในหนูตะเภาได้ แต่ถ้าให้ในขนาดที่สูงขึ้นถึง 100 มก/กก จะทำให้เกิดแผลในกระเพาะได้ เนื่องจากทำให้มีการหลั่งมิวชินน้อยลง และพบว่าขมิ้นชันสามารถใช้รักษาแผลเปื่อยในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กได้ผลดี

4. ช่วยลดอาการอักเสบชนิดเฉียบพลันได้ดี

จากการวิจัยพบว่าเคอร์คูมิน และนํ้ามันหอมระเหยในขมิ้นมีฤทธิ์ลดอาการอักเสบเฉียบพลันได้ดีกว่าการอักเสบเรื้อรังโดยการไปลดฮีสตามีน (histamine) ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เกิดการอักเสบ จากฤทธิ์ลดการอักเสบนี้เองจึงมี ผู้นำขมิ้นไปใช้รักษาโรคทางเดินหายใจ ลดอาการไอ ขับเสมหะ รักษาโรคไขข้ออักเสบ และใช้ผสมในยาสีฟันเพื่อช่วยลดอาการอักเสบของเนื้อเยื่อในช่องปากและรักษาเหงือกอักเสบ

5. ช่วยย่อยอาหาร

สารเคอร์คูมินมีฤทธิ์ขับนํ้าดี จึงเป็นผลให้มีการย่อยอาหารดีขึ้น (ทำให้อาการจุกเสียดแน่นบรรเทาลงได้)

6. มีฤทธิ์ต้านมะเร็ง

มีการทดลองใช้สารสกัดขมิ้นชันด้วยอีเทอร์ และขี้ผึ้งเคอร์คูมิน เพื่อรักษามะเร็งผิวหนัง พบว่าสามารถลดกลิ่นเหม็นและอาการคันได้ ทำให้แผลแห้งและแผลเล็กลง

ข้อควรระวังในการใช้ขมิ้น

ขมิ้นทำให้แท้งได้ในระยะแรกๆ ของการตั้งครรภ์ แต่ไม่มีผล ต่อการตกไข่ ดังนั้นจึงควรระวังในการใช้กับหญิงมีครรภ์ เพราะการใช้ขมิ้นในขนาดสูงๆ อาจเป็นอันตรายได้ นอกจากนี้การใช้ขมิ้นนานๆ อาจเกิดฤทธิ์ข้างเคียงได้ เช่น อาเจียน ถ่ายเป็นเลือด งุ่นง่าน ตื่นกลัว เป็นต้น

จะเห็นว่าขมิ้นเป็นสมุนไพรที่มีประสิทธิภาพในการรักษา และจากการวิจัยก็ไม่พบพิษที่เกิดเฉียบพลัน คนไทยโดยเฉพาะคนภาคใต้รับประทานขมิ้นเป็นอาหารกันมานานแล้ว อีกทั้งกระทรวงสาธารณสุขแนะนำให้ใช้ขมิ้นชันในโครงการสาธารณสุขมูลฐานอีกด้วย จึงนับว่าขมิ้นเป็นสมุนไพรที่น่าใช้และน่าปลูกชนิดหนึ่ง