ขิงมีประโยชน์อย่างไร


ชื่อวิทยาศาสตร์ Zingiber officinale Rose.
ชื่ออื่นๆ ขิงแกลง ขิงแดง (จันทบุรี) ขิงเผือก (เชียงใหม่) สะเอ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)
ชื่ออังกฤษ Ginger
ลักษณะ เป็นพืชล้มลุกที่มีเหง้าใต้ดิน ลำต้นบนดิน ซึ่งเป็นส่วนของกาบใบหุ้มกัน สูง 0.7-1 เมตร หน้าแล้งต้นบนดินจะตาย ใบเป็นใบเดี่ยว กว้าง 2-3.5 ซ.ม. ยาว 15-18 ซ.ม. ใบเรียวยาวรูปใบหอก มีกาบใบหุ้มลำต้น ใบออกสลับกัน รูปใบคล้ายใบไพล ดอกช่อออกเป็นรูปแหลมหัวแหลมท้ายตรงกลางป่อง ใบประดับสีเขียวอ่อนๆ จัดเรียงอย่างมีระเบียบ ซ้อนกันแน่น กลีบดอกสีเหลืองอ่อน มีสีม่วงอยู่ตรงโคนกลีบ ทั้งต้นมีกลิ่นหอมโดยเฉพาะเหง้า เหง้าแก่จะมีรสเผ็ด ร้อนมาก เนื้อในของเหง้าขิงสีเนื้ออมเหลือง ผิวนอกสีนํ้าตาลแกมเหลือง
ส่วนที่ใช้ เหง้าอ่อน แก่ สด และแห้ง
สารสำคัญ ในเหง้ามีนํ้ามันหอมระเหย 0.25-3% ประกอบด้วย camphene, pellandrene, zingiberene, cineol, borneol, linalool นอกจากนั้นพบพวกที่ทำให้เผ็ดร้อนได้แก่ zingerone และ 6-shogaol และ 6-gingerol มีเมล็ดสี แป้ง และ resin สารที่ออกฤทธิ์ขับลมคือนํ้ามันหอมระเหยได้แก่ cineol, borneol ฯลฯ สารที่ออกฤทธิ์ขับนํ้าดีช่วยย่อยไขมันได้แก่ borneol, fenchone, 6-gingerol สารที่ มีรสเผ็ดคือ 6-shogaol และ 6-gingerol ช่วยลดการบีบตัวของลำไส้จึงช่วยบรรเทาการปวดท้องที่มีอาการเกร็ง ขิงมีแป้งมากกว่า 50%
ประโยชน์ทางยา ใช้ขับลม แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ บำรุงธาตุ แก้คลื่นไส้อาเจียน แก้บิด แก้อาการเมารถ เมาเรือ
อื่นๆ ปรุงอาหารทั้งคาวหวาน ใช้ทั้งเหง้าแก่เหง้าอ่อน เป็นเครื่องเทศ ทำเครื่องดื่ม แต่งกลิ่นกลบรส ใช้ถนอมอาหาร เช่นดองหวาน ดองเค็ม และอื่นๆ
ที่มา:ศาสตราจารย์พเยาว์  เหมือนวงษ์ญาติ