ขี้ตุ่น


ชื่อ
จีนเรียก  ซัวอิ่วมั้ว ซัวจือมั้ว แกอิ่วมั้ว Helicteres angustifolia linn.

ลักษณะ
มักขึ้นตามเนินดิน ในทุ่ง เป็นพืชล้มลุกหลายปี อยู่ในประเภทไม้ต้น เพราะรากแข็ง ลำตัวมีขนปุยขึ้นทั่วไป สูงประมาณ 2 ฟุต ใบขึ้นสลับ เยื่อเหนียว มีก้านใบสั้น โคนใบค่อนข้างกลม ยาวประมาณ 1-2 นิ้ว ปลายใบแหลมกว่าฐานใบ คลำดูหลังใบสากกว่าหน้าใบ เอ็นใบเด่นชัด หน้าใบเรียบ ออกลูกกลมเล็ก มีขนปุยติดคล้ายเมล็ดงา

รส
รสขมเฝื่อน ธาตุเย็น ไม่มีพิษ

สรรพคุณ
แก้ร้อนในหวัดแดด ไล่ลม หวัดแดดปวดท้อง กัดเสลด แก้พิษ ใช้ภายนอก แก้คัน ฤทธิ์เข้าถึงปอด

รักษา
ไอเพราะหวัดแดดหวัดลม หวัดแดดปวดท้อง ถูกน้ำถูกลมมากแข้งขาเมื่อยอ่อน เป็นบิดลงท้อง ฝีมะคำร้อย กิ่งและใบใช้แก้ผิวหนังเป็นพิษ คางทูม ถูกของคมบาดเลือดไหล

ตำราชาวบ้าน
1. ไอหวัดลมร้อน-รากขี้ตุ่น 1 ตำลึง ต้มกับกวยแชะ รับประทาน
2. หวัดแดดปวดท้อง-ขี้ตุ่น 1 ตำลึง ต้มนํ้ารับประทาน
3. ถูกน้ำถูกลมมากแข้งขาปวดเมื่อย-ขี้ตุ่น 1 ตำลึง ต้มน้ำชงเหล้า
4. กินผิดเป็นบิด-ขี้ตุ่น กับถั่วดำอย่างละ 1 ตำลึง ต้มน้ำใส่น้ำตาลแดง
5. ร้อนในเป็นบิดนานวัน-รากขี้ตุ่น 3 เฉียน ต้มน้ำรับประทาน
6. ฝีมะคำร้อย-รากขี้ตุ่น 1 ตำลึง ต้มกับกวยแชะ รับประทาน
7. คางทูม-เอาใบขี้ตุ่น ตำแหลก ทาหรือพอก
8. ถูกของมีคมบาด-ใช้ใบขี้ตุ่น ตำแหลกแล้วพอก

ปริมาณใช้
ใช้รากดิบไม่เกิน 2 ตำลึง แห้งไม่เกิน 1 ตำลึง ใช้ใบและกิ่งกะพอประมาณ

ข้อควรรู้
หญิงมีครรภ์ไม่ควรกิน เพราะอาจจะแท้งได้

ที่มา:บุญชัย  ฉัตตะวานิช