ขี้เหล็ก

(Cassod Tree, Thai Copper (pod)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Senna siamea (Lam.) Irwin & Barneby
ชื่อวงศ์ LEGUMIMOSAE – CAESALPINIOIDEAE
ชื่ออื่น ขี้เหล็กไทย ขี้เหล็กบ้าน ขี้เหล็กหลวง ผักจี้ลี้
ถิ่นกำเนิด เอเชียตะวันออกเฉียงใต้


ลักษณะทั่วไป ไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง 8 -15 ม. ขนาด ทรงพุ่ม 4-6 ม. ไม่ผลัดใบ ทรงพุ่มกลมแผ่กว้างหรือรูปทรงกระบอกทึบ เปลือกต้นสีเทาอมนํ้าตาลและแตกเป็นร่องตื้นตามแนวยาว
ใบ ใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ เรียงสลับ แกนกลางใบประกอบยาว 10-25 ซม.ใบย่อย 5-14 คู่ เรียงตรงข้าม รูปขอบขนาน กว้าง 1-1.5 ซม. ยาว 3-7 ซม. ปลายและโคนใบมนหรือแหลม ขอบใบเรียบ แผ่นใบบาง แต่ค่อนข้างเหนียว สีเขียวเข้ม ผิวใบด้านล่างมีขนนุ่มสั้นใบอ่อนมีทั้งสีเขียว อมแดงและสีเขียวอมขาว
ดอก สีเหลือง ออกเป็นช่อแบบช่อเชิงหลั่นแตกแขนงที่ปลายกิ่ง ช่อดอกตั้งยาว 20-30 ซม. ดอกย่อยรูปดอกหางนกยูง 10-60 ดอก กลีบเลี้ยง 5 กลีบ รูปไข่กลับหรือกลม กลีบดอก 5 กลีบ รูปไข่กลับ เกสรเพศผู้ 10 อัน 2 อันยาวกว่าอันอื่นๆ เส้นผ่านศูนย์กลางดอก 2.5-4 ซม.
ผล ผลแห้งแตกสองตะเข็บ เป็นฝักทรงแบนโค้งและมีสันนูนกว้าง
1-1.5 ซม. ยาว 20-30 ซม. ฝักอ่อนสีเขียวคลํ้า เมื่อสุกสีน้ำตาล เมล็ด รูปรี สีน้ำตาลเข้ม จำนวน 20-30 เมล็ดต่อฝัก ออกดอกติดผล ตลอดทั้งปี ออกดอกมากเดือน มิ.ย.-ก.ค. ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด
นิเวศวิทยา พบตามป่าทุ่งและป่าโปร่งทั่วไปทุกภาคของประเทศไทย
การใช้ประโยชน์ ยอดอ่อน ดอกอ่อน นำมาต้มน้ำทิ้งจนจืด แล้วนำมาแกงกะทิ
การใช้ประโยชน์ด้านสมุนไพร เปลือก แก้ริดสีดวง ใบ แก้ระดูขาว แก้นิ่วขับปัสสาวะ ดอกตูมใบอ่อน เป็นยาระบายอ่อนๆ ดอกทำให้นอนหลับ แก้หืด แก่น แก้ไข้ แก้แสบตา ราก แก้ไข้
หมายเหตุ ต้นไม้ประจำจังหวัดชัยภูมิ
ที่มา:วัลลิ์รุกขบุปผชาติ ตามรอยพระบาทบรมราชกุมารี โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย