ข้อควรรู้เกี่ยวกับสมุนไพรโคกกะออม


ชื่อ
จีนเรียก     ตัวติ้งโคหน่อย ซากั๊กเปา  ซากั๊กเล้า Cardiospermum halicacabum Linn.

ลักษณะ
ชอบขึ้นตามที่ลุ่มนํ้า คนมักนำมาปลูกเป็นยา เป็นพืชล้มลุกในประเภท ไม้เลื้อย ลำต้นเรียวเล็กมีเส้นนูนขึ้นตามต้น สีเขียวอ่อน ยาวเลื้อยไป ตามดินประมาณ 10 ฟุต มีหนวดพันไปกับไม้อื่น ใบขึ้นคู่แยกเป็นสองสามใบในก้านเดียวกัน ใบรูปเชิงสามเหลี่ยม ปลายแหลมยาวประมาณนิ้วกว่าๆ ขอบใบแหว่งเป็นแฉก ออกดอกตามฐานด้านใบในฤดูฝน บ้างก็ออกดอกที่ปลายก้าน ดอกสีขาวเป็นรูปกระเปาะ ออกลูกเป็นรูปกลม สีดำ

รส
ขมแกมเปรี้ยวนิดๆ ธาตุเย็น ไม่มีพิษ

สรรพคุณ
สามารถประสะเลือดให้เลือดเย็น ดับพิษ แก้คัดแน่น ใช้ภายนอกแก้พิษ แก้บวม แก้ปวด ฤทธิ์เข้าถึงปอดและตับ

รักษา
เจ็บช้ำเพราะสีข้างถูกตี ใช้พอกทาแก้เจ็บบวม เป็นผื่นตุ่มพิษร้อน ผื่นคั้น งูสวัด ฝีตะมอย เด็กเป็นผื่นแผลที่หน้าเพราะร้อน ผื่นพิษของเด็กเนื่องจากทำคลอดไม่สะอาด

ตำราชาวบ้าน
1. เจ็บช้ำสีข้างเพราะถูกตี -โคกกะออม 1 ตำลึง ต้มนํ้าชงเหล้ารับประทาน
2. เป็นตุ่มผื่นพิษร้อน – โคกกะออม ตำกับนํ้าตาลแดง พอก หรือโคกกะออม ตำกับหูปลาช่อน ใช้พอก หรือโคกกะออมและหูปลาช่อน อย่างละครึ่งตำลึง ต้มด้วยกัน แล้วรับประทาน
3. เป็นผื่นคัน – โคกกะออม ต้นดอกแก้ว หญ้าเกล็ดปลา ตำด้วยกันจนแหลกเอานํ้าทา
4. งูสวัด – โคกกะออมตำแหลกใส่ผงหรดาล นิดหน่อย แล้วใช้ทา
5. ฝีตะมอยเล็บมือเล็บเท้า -โคกกะออม ตำใส่เหล้าพอก หรือตำกับ หญ้าดอกตูบ โทปัวแห่  จนแหลกแล้วใช้พอก
6. เด็กเป็นผื่นแผลที่หน้าเพราะร้อน -โคกกะออมกับลูกใต้ใบ ตำแหลกเอานํ้าผสมนํ้าดีหมูใช้ทา
7. เด็กเป็นผื่นพิษตามตัวเนื่องจากการทำคลอดไม่สะอาด -โคกกะออมต้มน้ำอาบ

ปริมาณใช้
ใช้ทั้งต้นทั้งใบสดไม่เกิน 2 ตำลึง แห้งไม่เกิน 1 ตำลึง ใช้ภายนอกกะพอ
ประมาณ

ข้อควรรู้
ไฟธาตุลำไส้และกระเพาะอ่อนไม่ควรรับประทาน หญิงมีครรภ์ห้ามรับประทาน

ที่มา:บุญชัย  ฉัตตะวานิช