ข้อมูลของคนทีเขมา


ชื่ออื่น กุโนกามอ (มาเลเซีย-ปัตตานี) กูนิง (มาเลเซีย-นราธิวาส) อึ่งเกง (แต้จิ๋ว) หวงจิง (จนกลาง) Negundo Chest Nut
ชื่อวิทยาศาสตร์ Vitex negundo L.
(V. arborea Dest.)
(V. panicu/ata Lam.)
(V. spicata Lour.)
วงศ์ Verbenaceae
ลักษณะต้น เป็นไม้พุ่มอาจสูงถึง 6 เมตร กิ่งและใบมีกลิ่นหอม กิ่งอ่อนเป็นเหลี่ยม สีเทา ปกคลุมด้วยขนอ่อน ใบออกตรงกันข้าม ใบรวมคล้ายรูปมือ ประกอบด้วยใบย่อย 5 หรือ 3 ใบ (ส่วนใหญ่มักมี 5 ใบ) ใบย่อยรูปไข่ ยาว 4-9 ซม. กว้าง 1.5-3.5 ซม. ใบกลางใหญ่ที่สุด ใบข้างทั้งสองด้านเล็กลงตามลำดับ ปลายใบแหลมยาว ขอบใบเรียบหรือมีรอยหยักเล็กน้อย หลังใบสีเขียวเข้ม ท้องใบสีขาว และมีขนอ่อนปกคลุม ช่อดอกเกิดตรงยอด ดอกสีม่วงอ่อน โคนกลีบดอกติดกันเป็นกรวย ตรงปลายแยกคล้ายริมฝีปาก ปากบนแยกเป็น 3 แฉก ปากล่าง 2 แฉก ผลแห้งเปลือกแขง สีน้ำตาล รูปกลมรี เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2.5 มม. ภายในมีเมล็ดเล็ก 1 เมล็ด ชอบขึ้นตามที่ชื้นแฉะ ขยายพันธุ์โดยการปักชำ
ส่วนที่ใช้ กิ่ง ใบ ช่อดอก ผล และราก
สรรพคุณ
กิ่ง แก้ไข้หวัด ไอ เจ็บคอ โรคปวดข้อ ปวดฟัน แผลพุพองจาก
ไฟไหม้
ใบ แก้ปวดหัว หูอื้อ แก้ไข้หวัด อาเจียนและถ่าย แก้บิดไม่มีตัว ลำไส้อักเสบ แก้ไข้มาเลเรีย ดีซ่าน โรคปวดข้อ บวมฟกช้ำ ฝี กลาก เกลื้อน เชื้อราที่เท้า บาดแผลจากของมีคม สุนัข หรือตะขาบกัด ไล่แมลง
ช่อดอก ลดไข้ ฝาดสมาน แก้ท้องเสีย
ผล ขับเสมหะ แก้ไข้หวัด ไอ หอบหืด เหน็บชา แก้ไข้มาเลเรีย ไข้รากสาดน้อย (typhoid fever) ปวดท้องโรคกระเพาะ กระเพาะอาหาร เป็นแผล กระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง ฝีคัณฑสูตร
ราก แก้ไข้หวัด ไอหอบหืด ขับเสมหะ ขับปัสสาวะ แก้ไข้มาเลเรีย โรคปวดข้อ ปวดท้องโรคกระเพาะ ขับพยาธิเส้นด้าย (พยาธิเข็มหมุด)
ตำรับยาและวิธีใช้
1. ไข้รากสาดน้อยและไอ นำผล 3-10 กรัมมาคั่วอย่าให้ไหม้ (เพราะจะทำลายฤทธิ์ของยา) แล้วต้มน้ำกิน
2. หอบหืด ใช้ผลแห้ง 50 ลูกหรือ 6-15 กรัม บดเป็นผงแล้วเติมน้ำตาลทรายจำนวนพอควร ชงน้ำกินวันละ 2 ครั้ง
3. ปาดท้องโรคกระเพาะ ใช้ผลแห้ง 3-10 กรัม บดเป็นผง ปั้นเป็นเม็ดกิน
4. กระเทาะอาหารเป็นแผล กระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง ใช้ผลแห้ง 30 กรัม ต้มน้ำหรือบดเป็นผงกิน หรือใช้รากสด 30 กรัม เติมน้ำตาลแดง ปริมาณพอควร ต้มน้ำกิน
5. ฝีคัณฑสูตร ใช้ผลแห้ง 15 กรัม คั่วแล้วบดเป็นผง อาจใช้เหล้าเล็กน้อยผสม กินตอนท้องว่าง
6. ไข้หวัด ลำไส้อักเสบ บิดไม่มีตัว ใช้ใบสด 35-40 ใบ หรือ 10 กรัม ต้มกับน้ำ 3 ถ้วยเคี่ยวให้เหลือถ้วยครึ่ง แบ่งกินวันละ 3 ครั้ง
7. ไข้มาเลเรีย ใช้ใบสด 180 กรัม เติมน้ำพอท่วมแล้วต้มด้วยไฟอ่อนๆ เคี่ยวให้ข้น จนเหลือประมาณถ้วยครึ่ง แบ่งกินครึ่งหนึ่งก่อนมี อาการ หลังจากนั้น 2 ชั่วโมงกินส่วนที่เหลือ หรือใช้รากสด 30 กรัม ต้มน้ำกินก่อนมีอาการ 3 ชั่วโมง
ข้อควรระวัง ห้ามใช้ในคนที่มีสีหน้าซีดขาว ผอม ท่าทางอิดโรย อ่อนเพลีย หายใจตืน ไม่มีแรง (แพทย์จีนเรียกอาการพร่อง)
8. โรคปวดข้อ ใช้กิ่งสด 15 กรัม ต้มน้ำ แบ่งกินเช้าเย็น
9. ขับพยาธิเส้นด้าย ใช้รากสด 30 กรัม หั่นเป็นชิ้นบางๆ แล้ว นำไปคั่วกับเหล้าหวานจนเป็นสีเหลือง ใส่น้ำ 2 ถ้วยต้มให้เหลือ 1 ถ้วย กินก่อนอาหารค่ำ
10. เชื้อราที่เท้า ใช้ใบสดตำละเอียดพอกบริเวณที่เป็น
11. บาดแผลจากของมีคม สุนัขหรือตะขาบกัด ใช้ใบสดตำละเอียด พอกบริเวณที่เป็น
12. แผลพุพองจากไฟไหม้ นำกิ่งแห้งมาคั่วอย่าให้ไหม้ บดเป็นผงผสมน้ำมัน ทาบริเวณแผล
13. ไล่แมลง ใช้ใบแห้งปูรองเมล็ดพืชกันแมลงรบกวน
รายงานทางคลีนิค
1. หลอดลมอักเสบเรื้อรัง ใช้เมล็ดผิงไฟให้แห้งแล้วบดเป็นผง ผสมน้ำผึ้งทำเป็นลูกกลอนหนักเม็ดละ 10 กรัม กินครั้งละ 1 เม็ด วันละ 3 เวลา เป็นเวลา 20 วัน ผลจากการใช้กับผู้ป่วย 46 ราย พบว่า 5 ราย ดีขึ้นและไม่แสดงอาการชั่วคราว, จำนวน 17 ราย สังเกตได้ว่าอาการดีขึ้น, อีก 15 ราย ดีขึ้นชั่วคราว ผลการรักษาในผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรงและไม่มีโรคอื่นแทรกซ้อน (แต่มีอาการกลัวหนาว เสียงค่อย เหงื่อออกง่าย เป็นไข้หวัดง่าย หายใจขัด) ดีกว่าผู้ป่วยที่มีโรคแทรกซ้อน โดยทั่วไปผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการดีขึ้นหลังจากใช้ยาไปแล้ว 2 วัน นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ในการขับเสมหะ แก้ไอ หอบ แต่มีฤทธิ์ในการขับเสมหะได้ดีที่สุด ในระหว่างกินยาผู้ป่วยไม่มีอาการข้างเคียงใดๆ
2. บิดไม่มีตัว ใช้ใบสด 300 กรัม เติมน้ำ 800 มล. ต้มนานหนึ่งชั่วโมงครึ่ง กรองเอากากทิ้ง แล้วเคี่ยวให้เหลือ 100-120 มล. กินครั้งละ 30-40 มล. วันละ 3 ครั้ง รักษาคนไข้จำนวน 54 ราย พบว่าอาการต่างๆ เช่น จำนวนครั้งในการถ่ายอุจจาระและอุณหภูมิของร่างกายค่อยๆ ลดลงจนเป็นปกติในวันที่สองของการรักษา อาการปวดมวนและอุจจาระเป็นมูกเลือดหายไปใน 2-7 วัน โดยเฉลี่ยตรวจไม่พบเชื้อบิดภายใน 5.1วัน ได้ ติดตามผลในผู้ป่วยจำนวน 18 ราย หลังจากรักษาไปแล้ว 50 วัน ปรากฏว่าหายขาดไม่มีอาการเกิดขึ้นอีก นอกจากนี้ยังใช้ป้องกันบิดได้ด้วย
3. ลำไส้อักเสบเรื้อรัง ใช้ใบสด 5 ใบ ต้มน้ำดื่มวันละครั้ง หรือใช้ทั้งต้นสด 100 กรัม ต้มน้ำให้ได้ 750 มล. แบ่งดื่มวันละ 150 มล. รักษาผู้ป่วยกว่า 40 ราย โดยทั่วไปอาการเริ่มดีขึ้นภายใน 2 วัน นอกจากนี้นำมาชงดื่มแทนชาเพื่อป้องกันลำไส้อักเสบได้
ผลทางเภสัชวิทยา
เมื่อฉีดน้ำต้มเมล็ดและรากคนทีเขมาเข้าไปในปอดของหนูขาวที่ ทดลองนอกร่างกาย ทำให้หลอดลมขยายตัว ส่วนที่สกัดจากเมล็ดมีฤทธิ์แรงกว่าส่วนอื่น สารละลายที่ได้จากการต้มราก และเมล็ด มีฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย Bacillus aureus
สารละลายที่ได้จากการต้มรากคนทีเขมามีฤทธิ์ระงับไอในหนูถีบจักร (ทำให้ไอโดยวิธีรมไอแอมโมเนีย) และมีฤทธิ์ขับเสมหะ (ทำให้มี เสมหะโดยการใช้ phenol red) นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ในการขยายหลอดลม และยับยั้งการเจริญของแบคทีเรีย
ยาต้มที่ได้จากใบ ใช้ลดอาการบวมตามข้อของหนูขาวที่ทดลอง (ทำให้ข้อบวมโดยการฉีดฟอร์มัลดีฮัยด์ (formaldehyde) )และต้านแบคทีเรียบางชนิด เช่น Micrococcus pyogenes var. aureus และ Escherichia coli
สารสกัดจากใบ มีฤทธิ์ต้านเซลล์เนื้องอกชนิดเออร์ลิช แอสไซติส (Ehrlich ascites tumour cells)
ผงที่ได้จากเชื้อราชนิด Alectra parasitica ที่เจริญบนรากของ คนทีเขมา ใช้รักษาโรคเรื้อน และไม่ก่อให้เกิดพิษ
สารเคมีที่พบ
ใบ มีอัลคาลอยด์ (nishindine และ hydrocotylene), gluconitol, hydroxyisophthalic acid, 3,4-dihydroxybenzoic acid, tannic acid, aucubin, agnuside, casticin, orientin, isoorientin, α-d-glucoside ของ tetrahydroxymonomethylflavone, 5-hydroxy-3,6,7,3′,4′- pentamethoxyflavone, carotene และ วิตามิน ซี
ผลแห้ง ประกอบด้วยน้ำมันหอมระเหย 0.1% ซึ่งมี cineol,l sabinene,l-2-pinene, camphene, ß -caryophyllene และสารประกอบ พวก diterpenes, hemiterpene alcohol และสาร azulene เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีพวก flavone และสารกระตุ้นหัวใจ
ที่มา:สำลี  ใจดี, สุนทรี  วิทยานารถไพศาล, รพีพล  ภโววาท, จิราพร  ลิ้มปานานนท์, นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี, วิทิต  วัณนาวิบูล