ข้อมูลของชา


ชื่อวิทยาศาสตร์ Camellia sinensis Ktze.
ชื่ออื่นๆ เมี่ยง (เหนือ) เต๊ (ชื่อจีน) เต๊ล่า (ญี่ปุ่น)
ชื่ออังกฤษ Tea, Thea.
ลักษณะ ไม้พุ่ม สูง 1.2-5 เมตร ใบเดี่ยวออกสลับกัน ใบกว้าง 3-5 ซ.ม. ยาว 6-12 ซ.ม. ใบหนาเหนียวเหมือนหนัง รูปไข่ เส้นใบชัดเจนขอบใบหยักเล็กๆ เหมือนฟันเลื่อย ใบเขียวตลอดปี ดอกเดี่ยวหรือเป็นกระจุก 2-3 ดอก ดอกใหญ่สีสวย สีขาวนวล มีกลิ่นหอม ผลเป็น capsule แตกได้ในหนึ่งผลมี 1-3 เมล็ด
ส่วนที่ใช้ ใบที่ค่อนข้างอ่อนจนถึงใบเพสลาด เมล็ด
สารสำคัญ ใบประกอบด้วยคาเฟอีน 1-4% อเดนีน ทีโอโบรมีน และทีโอฟิลลีน จำนวนเล็กน้อย มีกรดแกลโลแทนนิค 15% นํ้ามันหอมระเหยสีเหลืองเป็นของแข็งในอุณหภูมิห้องที่มีกลิ่นหอมแรงและรสจัด 0.75%


ประโยชน์ทางยา ใบชามีฤทธิ์กระตุ้น ทำให้กระชุ่มกระชวยเมื่อดื่มไม่ง่วงนอน มีฤทธิ์ฝาดสมาน จึงใช้แก้อาการท้องเดิน กากชาใช้พอกแผลนํ้าร้อนลวก จะทำให้สารฝาดไปตกตะกอนโปรตีนที่เป็นพิษ มีฤทธิ์ขับปัสสาวะ และช่วยให้กล้ามเนื้อเรียบคลายตัว
อื่นๆ กากชาใช้ดูดกลิ่น ถูมือที่รับประทานของมีกลิ่นติดมือมา จะช่วยให้กลิ่นจางหาย คนโบราณสมัยก่อนไม่มีนํ้ายาฟอร์มาลินที่ใช้ฉีดกันศพเน่าเปื่อย ถ้าทิ้งไว้เกิน 1 วัน ศพจะมีกลิ่น นิยมใส่ใบชาลงในโลงศพ เพื่อดูดกลิ่น คนทางภาคเหนือนิยมเคี้ยวและอมใบเมี่ยง (ใบเมี่ยงทำจากใบชาที่เพสลาดนำไปหมัก) แทนการกินหมากของคนภาคกลาง ใบอ่อนของชาใช้ยำมีรสฝาด หวาน หอม อร่อย น่ารับประทาน นํ้ามันจากเมล็ดชา (fixed oil) ใช้ทำเนยเทียม กากเมล็ดชา มีสารซาโปนีน (saponin) มีคุณสมบัติล้างสิ่งต่างๆ ได้สะอาดดีมาก หญิงจีน นิยมใช้กากเมล็ดชา ซึ่งเรียกว่า “แต้โค่” สระผม เพราะมีสารซาโปนีนจะช่วยชะล้างสิ่งสกปรกออกจากผม นอกจากนั้นแล้วนํ้ามันที่ติดอยู่ที่กากเมล็ดชา ช่วยทำให้เส้นผมชุ่มชื้นเป็นมันอีกด้วย
การเก็บและเตรียมใบชา
1. การเก็บ ต้นชาที่ปลูกพอปีที่ 3 เริ่มเก็บใบได้บ้าง จะให้ผลผลิตเต็มที่ เมื่อต้นชามีอายุ 5 ปีแล้ว ผลผลิตจะสูงสุดจนถึงปีที่ 8 สามารถจะเก็บไปได้จนอายุได้ 50 ปี การเก็บใช้มือเด็ดอย่าให้ชํ้า เด็ดจากยอดใบที่หนึ่งและที่สอง จะได้ชาชั้นหนึ่ง เด็ดใบที่สามที่สี่เป็นชาชั้นสอง ใบที่ห้าหกเจ็ดเป็นชาชั้นเลว การเก็บเว้นระยะ 7-10 วันต่อครั้ง ยิ่งเด็ดยอดชายิ่งแตกใบอ่อนมากขึ้น บางครั้งต้องช่วยเล็มกิ่งก้านทิ้ง เพื่อให้ชาผลิยอดใหม่อยู่ตลอดเวลา การเก็บใบชา ไม่นิยมเก็บหมดทุกใบ เก็บบ้างเว้นบ้าง เชื่อกันว่าการเก็บวิธีนี้จะได้ใบชาที่มีคุณภาพดีแต่ถ้าเก็บหมดทุกๆ ใบ ใบชาที่ได้จะมีคุณภาพตํ่ากว่าชนิดที่เก็บบ้างเว้นบ้าง ต้นชาที่นิยมปลูกกันมีหลายพันธุ์ ที่นิยมปลูกในประเทศจีน ญี่ปุ่น และไต้หวัน เป็นพันธุ์ “Bohea” ส่วนพันธุ์ที่ขึ้นดีในเมืองร้อน เช่น อินเดีย หมู่เกาะอินเดียตะวันออก และศรีลังกา เป็นพันธุ์ “Viridis” เมล็ดชามีอายุสั้น ถ้าเก็บไว้เกิน 2 อาทิตย์ เพาะไม่ขึ้น
2. การเตรียมใบชา
วิธีที่ 1 เรียกว่า Green Tea เป็นชาแบบจีน นิยมเตรียมแบบนี้ในจีน และญี่ปุ่นโดยนำใบชาที่เก็บมาจากต้นทำให้แห้งเร็วที่สุด โดยการคั่วใบชาในหม้อทองแดงใช้ความร้อนไม่สูงนัก เพื่อทำลายเอนไซม์ที่มีอยู่ในใบชาให้หมดไป ไม่ให้เกิดการบูด (fermentation) เมื่อแห้งแล้วนำมาคลึงเบาๆ ด้วยฝ่ามือ มี 2 ชนิด คือ ชาคอ กับชากลิ่น ชาคอเมื่อชงและดื่มจะรู้สึกชุ่มคอและมีรสฝาดมาก ส่วนชากลิ่นจะมีกลิ่นหอมชื่นใจ โดยชาชนิดนี้จะอบด้วยดอกไม้ที่มีกลิ่นหอม เช่น ดอกมะลิ ดอกหอมไกล ฯลฯ
วิธีที่ 2 เรียก Black Tea ชาวลังกาและอินเดียจะเตรียมโดยใช้วิธีนี้ บางทีเรียก “ชาฝรั่ง” การเตรียมเมื่อเก็บใบชามาจากต้นจะนำมาสุมไว้เป็น กองเพื่อให้เกิดการบูด (fermentation) 1 วัน ช่วยขยี้เพื่อเร่งให้เกิดการบูดไวขึ้น เมื่อบูดได้ที่แล้วนำไปทำให้แห้งโดยใช้ความร้อน
นํ้ามันเมล็ดชา (Tea seed oil)
เอาเมล็ดชามาบีบ ได้น้ำมัน fixed oil ใช้เป็นอาหารทำเนยเทียม ทำน้ำมัน ใส่ผม ซึ่งจะทำให้ผมดกดำเป็นเงางาม
กากชา แต้โค่ (Cake of Tea seed) เป็นส่วนที่เหลือจากการบีบเอานํ้ามันจากเมล็ดแล้ว มีสารซาโปนีน และนํ้ามันเล็กน้อย ใช้สระผม ทำให้ผมสะอาด ดกเป็นเงางาม
การทำใบเมี่ยง
ใช้ใบชาที่เพสลาดนำมาผึ่ง จัดเรียงลงในกระชุไม้ไผ่ นำกระชุไปฝังดิน 2-3 เดือน เพื่อให้เกิดการบูดอย่างเต็มที่ นำมาใช้รับประทานได้ เวลาใช้รับประทานราดด้วยนํ้าส้มสายชูเพื่อแต่งรสให้เปรี้ยวยิ่งขึ้น
การทำเมี่ยงทรงเครื่อง
ใช้ใบเมี่ยงที่เตรียมได้ที่แล้วห่อ ขิงอ่อน มะพร้าวคั่วให้เหลือง นํ้าตาลปึกนิดหน่อย ใช้อมและเคี้ยว ชาวเหนือนิยมอมกันมาก
ชาวจีน นิยมดื่มนํ้าชาจีน ชาวสหราชอาณาจักรอังกฤษและออสเตรเลีย ชอบดื่มชาใส่นมแทนกาแฟ ใบชาที่ชงแก่ๆ โดยใช้ชา 5 กรัม ชงให้ได้ 1 ถ้วย จะมี caffeine อยู่ถึง 100 mg. แต่ถ้าชงธรรมดาใน 1 ถ้วยของนํ้าชาจะมี caffeine ประมาณ 30-60 mg. การชงชาที่ถูกวิธีต้องชงด้วยนํ้าเดือดและดื่ม อย่าแช่กากชาทิ้งไว้ เพราะสารแทนนินซึ่งมีรสฝาดจะออกมา ทำให้รสชาติไม่ดี ทั้งยังทำให้ท้องผูกอีกด้วย
ที่มา:ศาสตราจารย์พเยาว์  เหมือนวงษ์ญาติ