ข้อมูลของมะเกลือ


ชื่อวิทยาศาสตร์ Diospyros mollis Griff.
ชื่ออื่นๆ ผีเผา (ฉาน-เหนือ) มักเกลือ (ตราด) หมากเกือ มาเกือ (พายัพ)
ชื่ออังกฤษ Ebony Tree
ลักษณะ ไม้ต้นขนาดกลาง ถึงขนาดใหญ่ สูงประมาณ 10-25 เมตร แตกกิ่งก้าน ทุกๆ ส่วนของต้นเมื่อแห้งจะเปลี่ยนเป็นสีดำ ลำต้นตรง เปลือกไม่เรียบ ใบ เดี่ยว สีเขียวแก่ออกสลับกัน ใบกว้าง 2-3 ซ.ม. ยาว 6-10 ซ.ม. รูปไข่หรือรูปไข่แกมรูปหอกขนาน โคนใบค่อนข้างมนปลายใบทู่ ใบแห้งเป็นสีดำ ดอก ออกเป็นกระจุก ดอกตัวผู้และดอกตัวเมียอยู่ต่างต้น ดอกตัวเมียออกเดี่ยวๆ ดอกเล็กสีเขียวอมเหลือง กลีบดอกมี 4 กลีบ ดอกตัวผู้มีสีส้มออกเป็นช่อ ช่อละ 2-3 ดอก ผล ค่อนข้างกลม ผิวเรียบ กลีบรองดอกยังเหลือติดอยู่เมื่อเป็นผล มีสีเขียว ผลแก่จัดสีเขียวอมเทา เมื่อสุกมีสีดำ ภายในมีเมล็ดแบนสีเหลือง 4-5 เมล็ด
ส่วนที่ใช้ ผลโตเต็มที่ ผลสุก เนื้อไม้
สารสำคัญ ผลโตเต็มที่มีสาร Diospyroldi-glucosides ซึ่งเป็นสารประกอบพวก phenolic compound มีนิวเคลียส เช่น napthalene สารตัวนี้จะถูก oxidise ง่ายมาก และจะเปลี่ยนเป็นสารประกอบที่มีสีดำ
ประโยชน์ทางยา ผลโตเต็มที่ ใช้ถ่ายพยาธิ เหมาะสำหรับพยาธิปากขอ ตัวตืด ตัวกลม
ข้อดีของมะเกลือ
1. ถ่ายพยาธิได้หลายชนิด (broad spectrum)
2. เมื่อใช้มะเกลือแล้วไม่จำเป็นต้องใช้ยาถ่ายตาม จะถ่ายได้เอง
3. ราคาถูก
อื่นๆ ผล ใช้ย้อมผ้าจะได้ผ้าที่มีสีดำสนิท และตัดทนนาน
เนื้อไม้ มีสีดำเป็นมัน ใช้ทำเครื่องเฟอร์นิเจอร์ ประดับมุก
ข้อควรระวัง
1. ห้ามใช้กับเด็กอายุตํ่ากว่า 10 ขวบ
2. ห้ามใช้กับหญิงมีครรภ์หรือหลังคลอดใหม่ๆ
3. ห้ามใช้กับคนที่กำลังเป็นไข้
4. ผลมะเกลือต้องไม่สุกไม่ช้ำไม่ดำ เตรียมยาแล้วให้กินทันที
5. ไม่ให้เกินขนาด อายุ 10 ขวบ ให้ 10 ผล ถ้า 15 ปีให้ 15 ผล อายุเกิน 25 ปีให้ 25 ผล
ที่มา:ศาสตราจารย์พเยาว์  เหมือนวงษ์ญาติ