ข้อมูลของหญ้าหมอน้อย


ชื่ออื่น หญ้าดอกขาว หญ้าละออง(กรุงเทพฯ) ก้านธูป(จันทบุรี) ถั่วแฮะดิน ฝรั่งโคก(เลย) เสือสามขา(ตราด) หญ้าสามวัน(เชียงใหม่) เซียหั่งเช่า(แต้จิ๋ว) ซางหางฉ่าว(จีนกลาง) Purple Fleabane
ชื่อวิทยาศาสตร์ Vernonia cinered (L.) Less
(Conyza cinerea L.)
วงศ์ Compositae
ลักษณะต้น เป็นไม้ล้มลุกสูง 20-80 ซม. ลำต้นตรง กิ่งก้านน้อย มีขนอ่อนปกคลุม ใบออกสลับกัน มีก้านใบ ใบยาว 2-6 ซม. กว้าง 1-3 ซม. ขอบใบหยักตื้น ดอกออกเป็นกระจุกประมาณ 20 ดอก คล้ายดอกดาวเรืองเล็กๆ สีม่วงแดง พอดอกแก่กลายเป็นผลมีขนที่ข้อเป็นสีขาว ปลิวไปขยายพันธุ์ไปทั่ว เมล็ดเดี่ยวเปลือกแข็งแห้ง ไม่แตก ยาวประมาณ 2 มม. ออกดอกตลอดปี ขึ้นเองตามที่รกร้างทั่วไป
ส่วนที่ใช้ ทั้งต้น ใบ ดอก เมล็ด ราก
สรรพคุณ
ทั้งต้น ลดไข้ แก้ไอ ดีซ่าน(ที่เกิดจากตับอักเสบชนิดเฉียบพลัน) ปัสสาวะรดที่นอน ฝี
ใบ แก้บิดมีตัว แก้กลากเกลื้อน ผื่นคัน และโรคเท้าช้าง
ดอก ลดไข้
เมล็ด ขับพยาธิตัวกลม พยาธิเส้นด้าย
ราก ขับพยาธิ แก้ท้องเสีย แก้ตาแดง ลดไข้ แก้ไอ และโรคปวดข้อ
ตำรับยาและวิธีใช้
1. ปัสสาวะรดที่นอน ใช้ใบสด 50 ใบ(5 กรัม) ต้มกับน้ำ 1 ถ้วย นาน 10-20 นาที ทำเป็นชาดื่ม
2. ไข้หวัด (มีไข้ ไอ ซึม) ใช้ต้นสด 2 ต้น ต้มกับน้ำ 1 ถ้วย นาน 10-15 นาที กินวันละ 3 เวลาก่อนอาหาร
3. ฝี ใช้ต้นสดตำพอกบริเวณที่เป็น
ผลทางเภสัชวิทยา
เมล็ดมีฤทธิ์ขับพยาธิตัวกลม และพยาธิเส้นด้าย
ใบมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้บ้าง แต่ไม่มีผลต่อเชื้อมาเลเรีย สารสกัดด้วยแอลกอฮอส์ 50% มีผลยับยั้งต่อเชื้อไวรัส (Ranikhet) และมี ผลยับยั้งเซลส์มะเร็งชนิดซาร์โคมา 180 (Sarcoma 180 ) ในหนูถีบจักร ยังไม่พบความเป็นพิษต่อหนูถีบจักรแม้ให้ยาในขนาด 500 มก.ต่อ กก. น้ำหนักตัว
สารเคมีที่พบ
ทั้งต้น พบสาร flavonoids (ซึ่งได้แก่ liiteolin-7-mono- ß – d- glucopyranoside, quercetrin, luteolin และ kaempferol), ß-amyrin, lupeol, ß-sitosterol, stigmasterol, α-spinasterol, resin และ potassium chloride.
ที่มา:สำลี  ใจดี, สุนทรี  วิทยานารถไพศาล, รพีพล  ภโววาท, จิราพร  ลิ้มปานานนท์, นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี, วิทิต  วัณนาวิบูล