ข้อมูลของไพรีทรัม


ชื่อวิทยาศาสตร์ 1. Tanacetum cinerariaefolium (Trev) Sch. Bip
2. Tanacetum coccineum Willd.
Syn.            1. Chrysanthemum cinerariaefolium Visiani
2. Chrysanthemum coccineum Willd
ชื่ออังกฤษ Insect Flower, Pyrethrum Flowers, Pyrethrum Flower Heads.
ลักษณะ เป็นไม้ล้มลุกอายุเกิน 1 ปี สูงประมาณ 0.5-0.80 เมตร แตกกิ่งก้าน ใบเป็นใบเดี่ยว ขอบใบหยักลึก ใบออกสลับกัน ใบกว้าง 3-4.5 ซ.ม. ยาว 4-6 ซ.ม. ดอกเป็นดอกช่อเหมือนดอกเบญจมาศ เมื่อบานทั้งช่อมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2-3 ซ.ม. มี ray หรือ ligulale florets ลักษณะเป็นแผ่นแบนๆ บางๆ สีเหลือง หรือสีแดง ล้อมรอบด้วย disc หรือ tubular florets ซึ่งมีลักษณะเป็นหลอดสั้นๆ อยู่ตรงกลาง เป็นจำนวนมาก
ปัจจุบันไพรีทรัมปลูกกันมากในทวีปแอฟริกา มีการจัดตั้ง “Kenyan Pyrethrum Board” ซึ่งเป็นแหล่งผลิตไพรีทรัมที่ใหญ่ที่สุดในโลก สำหรับดอกไพรีทรัมที่ผลิตทางการค้า มี 2 พันธุ์คือ
ชนิดดัลมาเชียน (Dalmatian type) เป็นพืชพื้นเมืองของดัลมาเชีย พันธุ์นี้ดอกเป็นสีเหลือง ได้จาก Tanacetum cinerariaefolium (Trev.) Sch. Bip. มีการเพาะปลูกกันมากที่เคนยา แทนชาเนีย รูอันดา และ เอควาดอร์ นอกจากนั้นยังมีการปลูกใน ยูโกสลาเวีย อินเดียและญี่ปุ่น
ชนิดเปอร์เซียนหรือคอร์เคเซียน (Persian or Caucasian type) เป็นไม้พื้นเมืองของเปอร์เซีย ซึ่งได้จาก T. coccineum และ T. marschallii
2 พันธ์นี้มี ray florets เป็นสีแดงถึงสีม่วงแดง
สำหรับไพรีทรัมนี้มีทั้งขึ้นเองในธรรมชาติและมีการเพาะปลูก ชอบขึ้นในพื้นที่ที่สูงกว่าระดับนํ้าทะเลมากๆ ประมาณ 1,900-2,700 เมตร และอากาศต้องเย็นในเวลากลางคืน (ประมาณ 5-15 องศาเซลเซียส) การเก็บดอกที่มีคุณภาพที่ดีที่สุดคือ เก็บจากต้นที่มีอายุ 2 ปี และจะเก็บได้ไปจนต้นมีอายุได้ ถึง 6 ปี เก็บขณะดอกที่อยู่ตรงกลาง (disc florets) เริ่มบาน จะมีสารสำคัญ ในการใช้ฆ่าแมลงเปอร์เชนต์สูงที่สุด ดอกไพรทรัม 1,000 กิโลกรัม จะได้สารสกัดประมาณ 55-60 กิโลกรัม ดอกไพรีทรัมสดจะไม่มีพิษต่อแมลง เมื่อเก็บดอกมาทำให้แห้งในที่ร่ม อุณหภูมิไม่สูงนัก และจะส่งขายในลักษณะดอกแห้งก็ได้ แต่ส่วนใหญ่จะส่งขายในรูปผงดอกหรือสารสกัด ประเทศที่นำเข้าผลิตภัณฑ์ดอกไพรีทรัมมากที่สุด ได้แก่ประเทศสหรัฐอเมริกาในปีค.ศ. 1986 มีการผลิตดอกไพรีทรัมแห้งเป็นจำนวนถึง 13,000 ตัน คิดเป็นมูลค่าสารสกัดถึง 900 ล้านบาท
ส่วนที่ใช้ ดอกที่เริ่มบาน
สารสำคัญ สารที่ออกฤทธิ์ฆ่าแมลงในดอกไพรีทรัมเป็นสารพวกเอสเทอร์ ได้แก่ ไพรีทรัม l, ไพรีทรัม II, cinerin I, cinerin II, jasmolin I และ jasmolin II.
ดอกไพรีทรัมจากเคนยามีปริมาณไพรีทรัม ไม่ต่ำกว่า 1.3% จากญี่ปุ่น 0.9-1.0% และจากยูโกสลาเวีย 0.7-0.8 %ตามมาตรฐานสากลกำหนดว่าในดอกไพรีทรัมจะต้องมีสารไพรีทรินไม่ต่ำกว่า 1% ซึ่งในจำนวน 1 %นี้ ต้องมีสารไพรีทริน I ไม่ตํ่ากว่าครึ่งหนึ่งของสารทั้งหมด ส่วนสารสกัดไพรีทรัม จะต้องมีไพรีทรินไม่ต่ำกว่า 25%
ประโยชน์ทางยา การใช้เป็นยาฆ่าแมลง ใช้ในรูปผงของดอกโรยลงไปเพื่อฆ่าแมลง หรือทำในรูปของการฉีดพ่น โดยการสกัดผงดอกด้วยนํ้ามันก๊าด สารสกัดนี้จะออกฤทธิ์ โดยตรงต่อระบบประสาทของแมลง เมื่อสัมผัสกับแมลง แมลงจะมีอาการตื่นเต้น สั่นแล้วเป็นอัมพาตอย่างรวดเร็ว ทำให้แมลงเกิด knock-down สำหรับฤทธิ์ของไพรีทริน I นั้นออกฤทธิ์ในการฆ่าแมลงได้ดีที่สุด ส่วนไพรีทริน II จะทำให้แมลงสลบอย่างรวดเร็ว จึงนิยมใช้เป็นส่วนผสมของยาฆ่าแมลงที่ใช้ในครัวเรือน ในการเตรียมสารไพรีทรินที่ใช้เป็นยาฆ่าแมลงนั้นต้องใส่สารที่ช่วยทำให้สารสำคัญ่ในดอกไพรีทรัมคงตัว คือไม่ให้สารสลายตัวเร็วเกินไป เช่น hydroquinone และยังนิยมผสมสารเสริมฤทธิ์ (synergists) เข้าไปด้วย สารที่ใช้นี้ได้แก่ sesamin ซึ่งเป็นสารที่ได้จากน้ำมันงา (sesame oil) ปัจจุบันใช้ piperonyl butoxide ซึ่งเป็นสารสังเคราะห์เลียนแบบโครงสร้างของ sesamin
การใช้สารไพรีทริน มีผลต่อแมลงทั้งประเภทเคี้ยว และประเภทปากดูดหลายชนิดมาก ทั้งยังสามารถกำจัดแมลงในบ้านเรือน เช่น มด ยุง แมลงวัน แมลงสาบ ได้ผลดี นอกจากนั้นแล้วคุณสมบัติที่ดีเด่นของสารนี้ก็คือ สามารถทำให้แมลงนั้นสลบได้รวดเร็วมาก และมีความเป็นพิษตํ่าต่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ข้อดีอีกข้อหนึ่งก็คือสลายตัวได้ง่ายมาก ทำให้ไม่มีปัญหาเกี่ยวกับสารพิษตกค้าง จึงไม่ทำให้เกิดมลภาวะ เช่นเดียวกับสารโรทีโนนในเถาหางไหลแดงจะสลายตัวได้ง่ายมาก
ไพรีทรัมนอกจากใช้กำจัดยุง แมลงวัน แมลงสาบแล้ว ยังสามารถกำจัด เพลี้ยอ่อน หมัดกระโดด ตั๊กแตน หนอนผีเสื้อกะหลํ่า เพลี้ยจั๊กจั่นฝ้าย หนอนเจาะมะเขือ เพลี้ยไฟ ผีเสื้อกลางคืน และอื่นๆ ในพืชไร่พืชสวนได้ผลดี
วิธีการเตรียมไพรีทรัมในการฆ่าแมลงศัตรูพืช
-ใช้โนรูปผงฝุ่น
-ในรูปสารละลายฉีดพ่น
การเตรียมในรูปผงฝุ่น ใช้สารไพรีทรินที่สกัดได้จากดอก เติมแป้งฝุ่น หรือปูนขาว หรือดินขาว ใส่เข้าไปเพื่อเพิ่มจำนวน จะช่วยทำให้พื้นที่การเกาะติดได้มากขึ้น
การเตรียมในรูปสารละลายฉีดพ่น
วิธีที่ 1 ใช้ดอกไพรีทรัมแห้งหนัก 250 กรัม แช่ในนํ้ามันก๊าด 2 ลิตร ทิ้งไว้ครึ่งวัน กรองเอากากออก เติมนํ้าสบู่ลงในนํ้ายาที่กรองแล้ว นํ้ามันก๊าดเป็นตัวไปละลายสารไพรีทรินในดอกไพรีทรัม ซึ่งสารละลายนี้ออกฤทธ์โดยจะสลายตัวช้าลง ส่วนสบู่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการฆ่าแมลง และนํ้ายาจะจับแผ่นใบได้ดีขึ้น
วิธีที่ 2 ใช้ผงดอกไพรีทรัมแห้ง 2 ลิตร เติมนํ้า 10 ลิตร คนให้เข้ากัน ใช้นํ้ายาฉีดราดพืชผักผลไม้ในตอนเย็นจะได้ผลดีที่สุด
วิธีที่ 3 ผงดอกไพรีทรัมแห้ง 10-15 กิโลกรัม นำ 90 ลิตร แช่ทิ้งไว้ 1 คืน กรองเอากากออก สบู่เหลว 2-3 กิโลกรัม เติมลงในนํ้ายาที่กรองได้ คนให้เข้ากัน ใช้ฉีดพ่น
สำหรับการเตรียมสารจากไพรีทรัมนี้ เมื่อเตรียมเสร็จแล้วจะต้องรีบใช้ทันที มิฉะนั้นจะทำให้การออกฤทธิ์ลดลง
ที่มา:ศาสตราจารย์พเยาว์  เหมือนวงษ์ญาติ