ข้าว:ปลูกข้าวให้วัวกิน

ทวี  คุปต์กาญจนากุล

สถานีทดลองข้าวหันตรา  สถาบันวิจัยข้าว

กรมวิชาการเกษตร

ตามท้องนาในเขตจังหวัดพระนครศรีอยุธยา สิงห์บุรี ลพบุรี อ่างทอง และสุพรรณบุรี ระหว่างเดือนมิถุนายน ถึง ตุลาคม หลายท่านอาจจะเคยสังเกตเห็นชาวนากำลังเกี่ยวใบข้าวในนา มัดเป็นฟ่อน หาบใส่รถเข็น หรือใส่เรือขนกลับบ้าน หากลงไปสอบถามดูก็จะได้คำตอบว่านำใบข้าวที่เกี่ยวได้ไปเลี้ยงวัว

การเลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะโคและกระบือนั้นเคยเป็นอาชีพเก่าแก่ของเกษตรกรในพื้นที่ภาคกลางมาก่อน เพื่อใช้แรงงานในการทำนาหรือขายสัตว์เลี้ยงเหล่านั้นเป็นรายได้เสริม การเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจสังคมและเทคโนโลยีการเกษตรในช่วง ๓๐ ปีที่ผ่านมา ทำให้เกษตรกรเลิกเลี้ยง

โคกระบือ หันไปใช้เครื่องจักรกลการเกษตรในการทำนาแทนแรงงานสัตว์ เป็นผลให้โคกระบือในพื้นที่เหลือจำนวนน้อยมาก

ภาวะราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำในช่วง ๑๐ ปีที่ผ่านมา ทำให้ชาวนาประสบปัญหาทำนาแล้วขาดทุน มีภาระหนี้สินเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันความต้องการอาหารโปรตีนจากเนื้อสัตว์สูงขึ้น ทำให้โคกระบือมีราคาแพง เกษตรกรในพื้นที่ดังกล่าวเลยหันมาเลี้ยงสัตว์กันหลายรายปรารภว่าจนเพราะทำนา แต่พอจะลืมตาอ้าปากได้จากการเลี้ยงโคกระบือ

การเลี้ยงปศุสัตว์แทบทุกชนิด ปัจจัยต้นทุนการผลิตที่สำคัญมีสองอย่าง คือ ค่าพันธุ์สัตว์ และ ค่าอาหารที่ใช้เลี้ยงสัตว์ การเลี้ยงโคกระบือก็เช่นกัน เมื่อเกษตรกรในพื้นที่นิยมเลี้ยงกันมากขึ้นก็อาจนำไปสู่ภาวะการขาดแคลนพืชอาหารสัตว์ โดยเฉพาะหญ้าซึ่งมีอยู่ในธรรมชาติ การวิจัยที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ได้มาซึ่งแหล่งพืชอาหารสัตว์สนองความต้องการของเกษตรกรนับว่าเป็นเรื่องสำคัญ การใช้ใบข้าวเป็นอาหารทดแทนหญ้าในการเลี้ยงสัตว์ก็น่าจะเป็นทางออกที่ดีได้ โดยเฉพาะในบริเวณที่ราบลุ่มภาคกลางของประเทศไทยซึ่งชาวนามักจะปลูกข้าวขึ้นน้ำเป็นประจำทุกปี

การตัดใบข้าวขึ้นน้ำในช่วงระยะการเจริญเติบโตทางลำต้น ในขณะที่น้ำในนาค่อย ๆ เพิ่มระดับเป็นสิ่งที่เกษตรกรเคยปฏิบัติมาก่อน โดยมีเหตุผลในการปฏิบัติที่สำคัญสองประการ คือ ประการแรกเพื่อลดปัญหาการเฝือใบ หรือการเจริญเติบโตทางลำต้นที่สูงเกินความต้องการ และประการที่สองเป็นการกำจัดวัชพืช เพราะขณะที่ตัดใบข้าวก็ทำการตัดต้นวัชพืชในนาไปพร้อม ๆ กัน

การวิจัยเบื้องต้นเกี่ยวกับการตัดใบข้าวที่สถานีทดลองข้าวหันตรา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๒๙ โดยทดลองตัดใบข้าวขึ้นน้ำพันธุ์ปิ่นแก้ว ๕๖ เมื่อต้นข้าวมีอายุระหว่าง ๔๐-๑๐๐ วัน ระดับน้ำในนาลึกประมาณ ๐-๘๐ ซม. ตัดใบข้าวที่ตำแหน่งคอใบสูงสุด ผลการทดลองพบว่า

๑.  การตัดใบไม่ทำให้ผลผลิตของข้าวลดลงและมีแนวโน้มที่จะทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นได้

๒.  การตัดใบทำให้ความสูงของลำต้นข้าวลดลง ต้นข้าวไม่ล้มง่าย

๓. หลังตัดใบการเจริญเติบโตของต้นข้าวชะงัก แต่ก็สามารถเร่งการเจริญเติบโตจนเข้าสู่ระดับปกติได้ภายในเวลาประมาณหนึ่งเดือน

๔.  การตัดใบแต่ละครั้งได้ผลผลิตของใบข้าวสดประมาณ ๓๒๐-๕๕๐ กก./ไร่ คิดเป็นใบข้าวแห้งประมาณ ๙๐-๑๕๐ กก./ไร่

๕.  การตัดใบสามารถทำได้หลายครั้ง แต่ครั้งสุดท้ายควรจะทำก่อนที่ต้นข้าวเริ่มสร้างรวงอ่อนประมาณหนึ่งเดือน

เมื่อนำใบข้าวที่ตัดไปวิเคราะห์ทางเคมีและทดลองเลี้ยงสัตว์ที่มหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ เมืองลอสบันยอส ประเทศสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ผลการวิเคราะห์พบว่า ใบข้าวปิ่นแก้ว ๕๖ มีปริมาณโปรตีนค่อนข้างสูง เปอร์เซ็นต์การย่อยได้ก็อยู่ในเกณฑ์สูงใกล้เคียงกับหญ้าที่ใช้ในการเลี้ยงสัตว์โดยทั่วไป นอกจากนั้นยังพบว่าแกะโคและกระบือชอบกินใบข้าวพอๆกับหญ้าชนิดอื่น

การเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรและลดต้นทุนการผลิตเป็นเป้าหมายสำคัญของการวิจัยการเกษตร และเป็นความหวังของชาวนา การใช้ประโยชน์ของใบข้าวในการเลี้ยงสัตว์เป็นการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ และสภาพแวดล้อมในท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์กับการผลิตการเกษตรมากที่สุด นับว่าเป็นประโยชน์ต่อการเกษตรทั่วไป โดยเฉพาะในที่ลุ่มภาคกลางของประเทศไทย