ข้าวฟ่าง:การปลูกข้าวฟ่างพันธุ์สุพรรณบุรี ๖๐

จุฬี  ทิพยรักษ์ (สถาบันวิจัยพืชไร่ กรมวิชาการเกษตร

ข้าวฟ่างพันธุ์สุพรรณบุรี ๖๐ เป็นข้าวฟ่างเมล็ดสีแดง พันธุ์แท้ เกษตรกรสามารถเก็บเมล็ดไว้ทำพันธุ์ได้ ต้นสูงประมาณ ๑๖๐ ซม. อายุเก็บเกี่ยว ๙๕-๑๐๐ วัน เหมาะสำหรับปลูกปลายฝน (ปลายกรกฎาคม) เป็นพืชที่สอง

การปลูกข้าวฟ่าง

๑.  การเตรียมดิน ทำเช่นเดียวกับการเตรียมดินปลูกข้าวโพด ถั่วต่าง ๆ ด้วยการไถดะ แล้วไถพรวนเพื่อย่อยดิน

๒.  วิธีปลูก ได้ ๓ วิธี คือ

– หว่าน ใช้เมล็ด ๑.๕-๒ กก.ต่อไร่ หว่านให้สม่ำเสมอ เมื่อหว่านในดินที่มีความชื้นเพียงพอให้เมล็ดงอกไม่ต้องพรวนกลบ หากหว่านในดินแห้งรอฝนควรพรวนกลบเมล็ด เพื่อป้องกันนก มด กินเมล็ดข้าวฟ่าง

– ปลูกเป็นแถว ระยะระหว่างแถว ๖๐-๗๕ ซม. ทำโดยแถบดินให้เป็นร่องลึก ๒-๓ ซม.หรือ ๑ นิ้ว โรยเมล็ดในร่องแล้วเกลี่ยดินกลบบาง ๆหลังข้าวฟ่างงอก ๑๕ วัน ถอนแยกให้ต้นในแถวห่างกัน ๑๐-๑๕ ซม.

– ปลูกเป็นหลุม หยอดเมล็ด ๕-๖ เมล็ด ต่อหลุม โดยให้ระยะระหว่างหลุม ๒๐-๒๕ ซม. หลังข้าวฟ่างงอก ๑๕ วัน ถอนแยกให้เหลือ ๒ ต้นต่อหลุม

การถอนแยก จำเป็นอย่างยิ่งในการปลูกข้าวฟ่าง การปลูกถี่หรือจำนวนต้นในหลุมเดียวกันมากเกินไปทำให้ต้นข้าวฟ่างแคระแกรนผลผลิตต่ำ

๓.  การใส่ปุ๋ย ในดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ควรใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยพืชสด หรือปุ๋ยวิทยาศาสตร์ สูตรปุ๋ยวิทยาศาสตร์ ๑๖-๒๐-๐ หรือ ๑๕-๑๕-๐ แนะนำให้ใส่ในดินทราย ๒๕-๗๕ กก.ต่อไร่ ในดินเหนียว ๒๕-๕๐ กก.ต่อไร่

การใส่ปุ๋ย

หว่านพร้อมหว่านเมล็ดข้าวฟ่างแล้วพรวนกลบ หรือโรยในร่องแล้วโรยเมล็ดกลบด้วยดินบาง ๆ หรือใส่ปุ๋ยหลังจากถอนแยก โดยโรยปุ๋ยข้างต้นข้าวฟ่างแล้วพูนโคน

๔.  การกำจัดวัชพืช หากมีวัชพืชมากในช่วงข้าวฟ่างงอกถึงอายุหนึ่งเดือน จำเป็นต้องกำจัดวัชพืชมิฉะนั้นต้นข้าวฟ่างจะแคระแกรน

๕.  การเก็บเกี่ยว ควรเก็บเกี่ยวเมื่อข้าวฟ่างอายุ ๑๐๐ วันหลังงอก หรือเมื่อเมล็ดมีสีแดงทั้งรวง แล้วนำมาตากไว้ ๒-๓ แดด จึงแยกเมล็ดโดยใช้ไม้ทุบ หรือใช้แทรกเตอร์ย่ำให้เมล็ดหลุดจากรวง แล้วฝัดให้สะอาด หรือใช้เครื่องสี จะได้เมล็ดที่มีคุณภาพดี และผลผลิตดี

การปล่อยให้เมล็ดแห้งคารวง จะทำให้น้ำหนักเมล็ดลดลง และเกิดโรคที่เมล็ดได้ง่ายและผลผลิตจะต่ำ

หากจะเก็บเมล็ดไว้ทำพันธุ์ต่อไป ให้นำเมล็ดที่สีแล้วตากอีก ๒-๓ แดดให้เมล็ดแห้งดี จึงคลุกยาป้องกันแมลงหรือคลุกด้วยปูนขาว สามารถป้องกันได้ระยะหนึ่ง