ข้าวฟ่าง:เกษตรกรปลูกข้าวฟ่างเหลื่อมข้าวโพดโดยไม่ต้องไถดิน

ปริญญา  ชินโนรส

สถาบันวิจัยการทำฟาร์ม

กรมวิชาการเกษตร

ข้าวฟ่างเป็นพืชเศรษฐกิจนำรายได้เข้าประเทศปีละหลาย ๑๐๐ ล้านบาท ในปี ๒๕๒๘/๒๙ มีพื้นที่ปลูกทั้งหมด ๑,๙๓๕,๓๔๐ ไร่ได้ผลผลิต ๔๐๔,๒๔๔ ตัน ผลผลิตเฉลี่ย ๒๒๒ กก./ไร่

จังหวัดลพบุรีมีพื้นที่ปลูกข้าวฟ่างมากที่สุด ๗๓๑,๖๐๙ ไร่ ผลผลิต ๑๗๑,๗๔๖ ตัน จังหวัดอื่นที่ปลูกมากมี นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ นครราชสีมา และสระบุรี เป็นต้น

อำเภอโคกสำโรงปลูกข้าวฟ่างมากอำเภอหนึ่งของจังหวัดลพบุรี เกษตรกรโดยทั่วไปจะปลูกข้าวฟ่าง หลังจากเก็บข้าวโพดเสร็จเรียบร้อยแล้ว ไถดินใหม่แล้วหว่านข้าวฟ่าง แต่เกษตรกรตำบลชอนสารเดช ปลูกข้าวฟ่างเหลื่อมข้าวโพดในพื้นที่พันกว่าไร่ โดยไม่ต้องไถดินใหม่มาเป็นเวลานานกว่า ๑๐ ปี วิธีการนี้เป็นที่ยอมรับของเกษตรกรหมู่ ๖ และหมู่ ๙

ทำไมจึงปลูกข้าวฟ่าง

ลุงประยูร  เปรียบศิริ เป็นผู้เริ่มปลูกข้าวฟ่างเหลื่อมข้าวโพดได้เล่าให้ฟังว่า..”เมื่อ ๑๐ กว่าปีมาแล้วประมาณ พ.ศ.๒๕๑๓-๒๕๑๔ หลังจากเก็บข้าวโพดเสร็จ ก็เตรียมไถดินเพื่อปลูกพืชใหม่ แต่ดินแฉะรถไถใหญ่ลงไม่ได้เลยลองหยอดข้าวฟ่างดู ปีแรกทำไร่เดียวได้ผลดี ปีต่อมาหยอดหมด ๒๐ ไร่ ในขณะนั้นพื้นที่ ๒๐ ไร่ปลูกไม่ใส่ปุ๋ยเคมีได้ข้าวโพด ๘ เกวียน ได้ข้าวฟ่าง ๖ เกวียน”

“ปีแรกที่ทำเพื่อนบ้านมาเห็นเขาหาว่าผมบ้า เอาข้าวฟ่างไปปลูกในป่าข้าวโพดจะเป็นไปได้อย่างไร แต่ผมคิดว่าของเราทำได้ ไม่ต้องลงทุนอะไรใช้แรงงานในครอบครัวทำไม่ต้องจ้าง เมื่อเพื่อนบ้านเห็นว่าดีก็ทำตามจากพื้นที่ไม่กี่ ๑๐ ไร่เพิ่มเป็น ๑,๐๐๐ กว่าไร่ในปัจจุบัน

ดายหญ้าก่อนหยอด

ก่อนอื่นจะต้องดายหญ้าให้เตียนก่อน ใช้แรงงานในครอบครัวทำเองไม่ต้องจ้าง ถ้าแรงดี ๑๐ ไร่ทำคนเดียว ๑๐ วันเสร็จ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าหญ้ารกหรือไม่รก หญ้าไม่รกดายหญ้าครั้งเดียวก็พอ ใช้เวลาไม่นานก็เสร็จ ถ้าหญ้ารกต้องดาย ๒-๓ ครั้ง

เวลาหยอดที่เหมาะสม

เมื่อดายหญ้าเสร็จ ก่อนหักข้าวโพดประมาณ ๑๕ วัน ตอนข้าวโพดออกฝักต้มได้ กาบใบเริ่มเหลืองก็จะหยอดข้าวฟ่าง เริ่มแรก ๒๐ ไร่ ใช้จอบขุดคนเดียว ๑ อาทิตย์ปลูกเสร็จต่อมาใช้ไทยดัน (เครื่องมือทำรุ่นข้าวโพด) ๓ วันเสร็จ อาศัยจังหวะฝน ปกติจะทำตอนข้าวโพดจวนแก่ (ต้นเดือนสิงหาคม) หยอดทุกร่องบางคนหยอดกลางร่องข้าวโพดหรือหยอดข้างแถวข้าวโพด ช่วงเก็บข้าวโพดข้าวฟ่างจะสูงประมาณคืบกว่า

พันธุ์ที่ใช้ครั้งแรกเป็นข้าวฟ่างขาวต้นสูง หยอดระหว่างแถวข้าวโพด ระยะข้าวโพด ๕๐ ซม. ๖-๗ เมล็ด/หลุม ปัจจุบันแถวข้าวโพด ๗๕ ซม. ระยะหลุม ๒๕ ซม. ๒-๓ ต้น/หลุม พันธุ์ที่ใช้ก็เปลี่ยนไปเดี๋ยวนี้นิยมข้าวฟ่างพันธุ์ลูกผสมของบริษัท

การดูแลรักษา

หลังหยอด ๒๐ วัน พรวนดินโดยใช้ไทยดันพูนโคน ไม่ต้องใส่ปุ๋ย น้ำไม่ต้องรดอาศัยน้ำฝนอย่างเดียว ข้าวฟ่างเติบโตไปเรื่อย ๆ เมื่อหักข้าวโพดเสร็จก็ล้มต้นข้าวโพดคลุมดินตามแถว ถ้ามีปัญหาหนอนกัดกินช่อ ใช้ยาฉีดช่วยบ้างแต่ปกติไม่ค่อยได้ฉีดยา

ผลผลิตข้าวฟ่าง

ตอนเริ่มทำใหม่ๆ ดินยังดีอยู่พื้นที่ ๒๐ ไร่ ปลูกไม่ใส่ปุ๋ยได้ข้าวโพด ๘ เกวียน ข้าวฟ่าง ๖ เกวียน พอปลูกไปนานๆ ผลผลิตข้าวโพดลดลง มีการใส่ปุ๋ยเคมีช่วยบ้าง การปลูกวิธีนี้ปลูกทันฝนดีข้าวฟ่างมีน้ำหนัก เริ่มเก็บเกี่ยวปลายเดือนพฤศจิกายน เป็นต้นไปและยังได้เงินเร็วกว่าปลูกข้าวฟ่างวิธีเก่าประมาณ ๑ เดือน

เกษตรกรทำได้มากกี่ไร่

การปลูกวิธีนี้ไม่ยาก ใช้แรงงานในครอบครัว คนมีที่ดินไม่เกิน ๒๐ ไร่ไม่มีรถไถของตนเอง ไม่มีบ่อน้ำที่จะปลูกผัก นิยมหยอดข้าวฟ่างเหลื่อมข้าวโพด มีเวลาทำไปเรื่อย ๆ ดายหญ้า ๑-๓ ครั้ง ไม่ต้องจ่ายเงินสดเป็นค่าเตรียมดินใหม่ อาศัยจังหวะฝน ใช้ไทยดันหยอด เกษตรกรบางรายทำได้ ๗๐-๘๐ ไร่ แต่ในรายที่หญ้าในแปลงข้าวโพดรกมาก พื้นที่ ๑๐ ไร่ถ้าจ้างดายและหยอดตก ๓,๐๐๐ บาท สู้วิธีไถดินใหม่และจ้างรถหว่านไร่ละ ๕๐-๗๐ บาท จะดีกว่าถูกกว่า

เกษตรกรหมู่ ๖ หมู่ ๙ ตำบลชอนสารเดช นิยมปลูกโดยใช้วิธีการนี้มากตั้งแต่ปี ๒๕๒๘  ปัจจุบันมีประมาณ ๑๐๐ กว่าราย ปลูกข้าวฟ่างเหลื่อมข้าวโพดในพื้นที่ ๑,๐๐๐ กว่าไร่

ปัญหาที่พบ

ลุงประยูรบอกว่า “ข้าวฟ่างเหลื่อมข้าวโพดเมื่อปลูกไปนานๆ ทำให้ดินจืด ข้าวโพดที่ปลูกในปีต่อมาผลผลิตจะลดลง มีคนคิดปลูก ถั่วเขียวถั่วเหลืองเหลื่อมข้าวโพด แต่สู้หนอนไม่ไหว ฉีดยายาก หนอนกินใบพรุน ยอดพรุน”

สรุป

การปลูกข้าวฟ่างเหลื่อมข้าวโพดเป็นที่ยอมรับของเกษตรกรกลุ่มหนึ่งในอำเภอโคกสำโรง ถึงแม้ว่าจะไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการที่ปลูกพืชตระกูลเดียวกันตามกันและเป็นพืชใช้ปุ๋ยมากมีผลทำให้ดินเสื่อมความอุดมสมบูรณ์เร็วขึ้น แต่เป็นวิธีการง่าย ๆ ซึ่งเกิดจากความคิดของเกษตรกรเอง มีค่าใช้จ่ายที่เป็นเงินสดน้อย ใช้แรงงานในครอบครัวเป็นหลักตั้งแต่เริ่มปลูกจนถึงเก็บเกี่ยว ผลจากการทดลองปลูกของเกษตรกรรายหนึ่ง ทำให้เกิดรายได้ขึ้นมาคุ้มค่าการลงทุน เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น เพื่อนบ้านใกล้เคียงปฏิบัติตามก็ได้ผลเช่นเดียวกัน

การปลูกพืชร่วมกันในลักษณะเหลื่อมฤดูนี้ เป็นที่ยอมรับของเกษตรกรแล้วว่า เกษตรกรทำได้ง่าย สามารถลดจำนวนครั้งของการเตรียมดิน ปลูกพืชได้ทันเวลา แต่ชนิดของพืชที่จะปลูกร่วมกันนั้นจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อความเหมาะสมในด้านการอนุรักษ์ดิน การระบาดของโรคแมลงบางชนิดที่จะตามมาเมื่อปลูกพืชตระกูลเดียวกันตามกัน ดังนั้นการหาพืชตระกูลถั่ว เช่น ถั่วเหลือง ถั่วเขียว มาปลูกร่วมกับข้าวโพดในระยะเวลาที่เหมาะสมและมีมาตรการอารักขาพืชถูกต้องเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับเกษตรกร จะทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยใช้ต้นทุนการผลิตถูกกว่าวิธีการแบบเก่า ที่ต้องเตรียมดินทุกครั้งที่มีการปลูกพืชชนิดใหม่ โปรดติดตามผลงานวิจัยในลักษณะนี้ของกรมวิชาการเกษตรได้ในหนังสือพิมพ์กสิกร