การเจริญเติบโตของเชื้อและความรุนแรงของโรคผัก

สิ่งแวดล้อมที่ช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของเชื้อและความรุนแรงของโรคผัก

1. อุณหภูมิ

อุณหภูมิ ได้แก่ความร้อนหรือความเย็น ซึ่งจัดว่าเป็นตัวการรวมที่มีความสำคัญยิ่งในการทำให้เกิดโรคผัก โดยมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องทั้งกับเชื้อสาเหตุโรคและพืชที่เป็น host อุณหภูมิที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคแบ่งออกได้เป็น  2 ชนิดคือ

1.1 อุณหภูมิของอากาศ

นับว่ามีอิทธิพลต่อทั้งพืชที่เป็น host และเชื้อสาเหตุโรคเป็นอย่างมาก การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของอากาศจากร้อนเป็นเย็น หรือเย็นเป็นร้อน อาจมีผลทำให้ผักบางชนิดเกิดการเปลี่ยนแปลงภายในต้นทำให้ยากหรือง่ายต่อการเกิดโรคบางอย่างขึ้นได้ ขณะเดียวกันทางด้านเชื้อโรคความสูงต่ำของอุณหภูมิก็อาจช่วยส่งเสริมการเกิด การแพร่ระบาดและความรุนแรงในการทำให้เกิดโรคกับพืชได้เช่นกัน เช่น โรคเลทไบล์ท (late blight) ของมะเขือเทศและมันฝรั่ง ซึ่งเกิดจากเชื้อรา Phytophthora infestans อุณหภูมิที่เหมาะต่อการที่รานี้จะสร้างสปอร์เพื่อใช้ในการขยายพันธุ์เพิ่มปริมาณได้มากที่สุด (optimumtemperature) อยู่ระหว่าง 18-22 ° ซ. นอกจากนั้นยังพบอีกว่าอุณหภูมิมีอิทธิพลหรือมีหน้าที่ควบคุมการงอกของ sporangia และ conidia ของเชื้อให้แตกต่างกันออกไปอีกคือ

งอกโดยทางอ้อม (indirect germination) คือถ้าอุณหภูมิของอากาศอยู่ระหว่าง 12-15°ซ. sporangia หรือ conidia จะงอกออกมาเป็น zoospores โดยใช้เวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมง และ sporangia หรือ conidia แต่ละอันอาจงอก zoospores ออกมาได้เป็นจำนวนมากวิธีนี้ก็เท่ากับทำให้มีตัวต้นเหตุในการทำให้เกิดโรค (source of inoculum มากกว่าการงอกออกเป็นเส้นใย (germ tube) โดยตรง

งอกโดยตรง (direct germination) ถ้าอุณหภูมิของอากาศสูงกวก่า 25° ซ. เชื้อราตัวเดียวกันนี้จะมีการขยายพันธุ์โดยการสร้างทั้ง sporangia และ conidia และทั้งสองชนิดนี้ เมื่องอกก็จะงอกออกเป็นเส้นใยเดี่ยวๆ แทนที่จะเป็นzoospoi คู่ ดังเช่นที่อุณหภูมิต่ำ นอกจากนั้นยังใช้เวลาในการงอกที่ยาวนานกว่าแบบแรกคือราว 5-7 ชั่วโมง โดยวิธีนี้ก็จะเห็นได้ว่าทำให้เกิดมี source of inoculum น้อยกว่า

สำหรับการเจริญของ germ tube หลังจากงอกจากสปอร์แล้วก็จะเจริญได้ดีที่สุดที่อุณหภูมิระหว่าง 21-24°ซ และถ้าสูงกว่า 30° ซ. แล้วเชื้อนี้จะหยุดปฏิกิริยาทุกอย่าง คือไม่เจริญ ไม่เกิดสปอร์ ไม่งอกและไม่มีการเข้าทำลายพืช (infection)

ด้วยเหตุนี้จึงพบว่าโรคเลทไบลท์ ของมะเขือเทศและมันฝรั่งจะเกิดระบาดสร้างความเสียหายรุนแรงที่อากาศเย็น มากกว่าอากาศร้อน

ตัวอย่างโรคผักที่เกี่ยวข้องกับอุณหภูมิของอากาศอีกโรคหนึ่งคือโรคราน้ำค้าง (downy mildew) ของผักกะหล่ำ และแตง ซึ่งเกิดจากเชื้อ Peronosporasp.และ Pseudoperonospora sp. พบว่าเชื้อนี้จะสร้างสปอร์ได้ดีที่สุดที่อุณหภูมิ 5°ซ. และสปอร์นี้จะงอกได้ดีที่สุดที่ 8-12°ซ. และหลังจากงอกแล้วก็จะเข้าทำลายพืชได้ดีที่สุดที่ 16°ซ. ส่วนทางด้านพืช หลังจากได้รับเชื้อแล้วก็จะแสดงอาการโรคเร็วและรุนแรงที่สุดที่ 4 °ซ. ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นปรากฎการณ์ที่พบในต่างประเทศที่มีอากาศเย็น ส่วนในประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศร้อน อุณหภูมิต่างๆ ในกระบวนการทั้งหมดอาจสูงกว่านี้เล็กน้อย โรคใบด่าง hosaic) ของมันฝรั่งที่เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งจะสร้างอาการและความเสียหายรุนแรงที่อุณหภูมิต่ำหรือฤดูที่มีอากาศเย็น ส่วนฤดูร้อนหรือในกรณีที่อุณหภูมิเปลี่ยนแปลงสูงขึ้นโรคก็จะลดความรุนแรงลง บางครั้งอาจไม่ปรากฏอาการให้เห็น อย่างไรก็ตามไวรัสส่วนใหญ่ปกติต้องการอุณหภูมิสูง (28-35 °ซ.) มากกว่าอุณหภูมิต่ำทั้งในการเข้าทำลาย และสร้างอาการโรคและถ้าเกิน 35 °ซ. ขึ้นไป ก็จะหมดความสามารถในการทำให้เกิดโรคกับพืชได้ หรือลดความรุนแรงลง

สำหรับโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียนั้น โดยทั่วๆ ไปต้องการอุณหภูมิค่อนข้างสูง เช่นโรคเน่าเละของผักต่างๆ ซึ่งเกิดจากเชื้อ Erwinia carotovora โรคนี้พบว่าจะสร้างความเสียหายรุนแรงและจะลดลงเมื่ออากาศเย็น ถ้าลดลงมาถึง 10 °ซ. อาการโรคก็จะหยุดและหายเป็นปกติได้เอง

1.2 อุณหภูมิของดิน

อุณหภูมิของดินโดยทั่วๆ ไปเกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตของพวกเชื้อโรคที่อาศัยหรือมีชีวิตความเป็นอยู่ในดิน (soil-borne pathogens) โดยเฉพาะเชื้อรา ตัวอย่างเช่นพวก Fusarium sp. สาเหตุโรคเหี่ยวหรือโรคต้นแห้ง (blight) ของผักต่างๆ หลายชนิด พวกนี้จะเจริญได้ดี ก่อให้เกิดโรคและสร้างความเสียหายรุนแรงให้กับพืชในดิน ที่มีอุณหภูมิสูง จากที่ได้ศึกษากันมาพบว่า อุณหภูมิของดินที่เหมาะที่สุดในการเจริญและการเข้าทำลายพืชของเชื้อ Fusarium sp. ส่วนใหญ่อยู่ระหว่าง 27 °ซ.- 35°ซ. ถ้าสูงกว่านี้ ความสามารถในการทำให้เกิดโรคของเชื้อราตัวนี้ ก็จะลดลงเช่นกันแตกมีข้อยกเว้นสำหรับ Fusarium sp. บางตัวที่พบว่าต้องการอุณหภูมิของดินต่ำในการเจริญเติบโตและการเข้าทำลายพืช ตัวอย่างเช่น Fusarium oxysporum f.sp.pisi สาเหตุ โรคเหี่ยวของถั่วลันเตา (Pisum sativum) พบว่าอุณหภูมิที่เหมาะของเชื้อนี้ในการทำให้เกิดโรคอยู่ระหว่าง 18 – 27°ซ. โดยเฉพาะที่ 21°ซ. จะรุนแรงที่สุด และถ้าสูงเกินกว่า 27°ซ. ก็จะค่อยๆ ลดความเสียหายลง และอาจหยุดการทำลายในที่สุด หากอุณหภูมิของดินสูงขึ้นไปถึง 30° ซ. อย่างไรก็ดีเกี่ยวกับโรคเหี่ยวของถั่วลันเตานี้ ความจริงแล้วพืชเองก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับอุณหภูมิด้วย กล่าวคือแม้ว่าเชื้อตัวนี้สามารถเจริญเติบโตได้ในอุณหภูมิที่สูงถึง 30°ซ. แต่ทางด้านต้นถั่วลันเตาเองนั้น เมื่ออุณหภูมิของดินสูงเกิน 28° ซ. ขึ้นไป แล้วจะมีการสร้างเซลล์ที่แข็งหนา (cambium หรือ cork cell) ขึ้นในส่วนที่เชื้อจะเข้าทำอันตราย มีหน้าที่คล้ายๆ กับเป็นเกราะป้องกันทำให้มีความต้านทานต่อโรคขึ้น

โรคเหลืองหรือเหี่ยวของพวกกะหล่ำ (cabbage yellow or wilt) ซึ่งเกิดจากเชื้อ Fusarium oxysporum f.sp. conglutinans พบว่ามีช่วงของอุณหภูมิของดินที่เหมาะต่อการทำลายและการทำให้เกิดโรคอยู่ระหว่าง 16 – 35°ซ. หากสูงหรือต่ำกว่านี้โรคก็จะไม่เกิดหรือหากเป็นก็จะไม่มีความรุนแรง Fusarium oxysporum f.sp. lycopersici สาเหตุ โรคเหี่ยวของมะเขือเทศ ก็เป็นอีกชนิดหนึ่งที่อุณหภูมิของดิน มีผลต่อการเจริญและการเข้าทำลายพืชที่เฉพาะของมันโดยพบว่าเชื้อตัวนี้จะทำความเสียหายรุนแรงที่สุดถ้าดินมีอุณหภูมิ อยู่ระหว่าง 25°- 31°ซ. หากต่ำกว่า 18°ซ. แม้จะทำให้เกิดโรคได้ก็จะไม่เกิดความเสียหาย ถ้าสูงขึ้นไปถึง 37°ซ. เชื้อก็จะหยุดการเจริญและอาจจะตายหมดภายใน 2-3 วัน หาก อุณหภูมิยังสูงขึ้นไปเรื่อยๆ

นอกจาก Fusarium sp. แล้ว ตัวอย่างเชื้อราอื่นๆ ที่การ เจริญและการเข้าทำลายพืชขึ้นอยู่กับอุณหภูมิของดินก็ได้แก่ พวก Rhizoctonia sp. ราในดินสาเหตุสำคัญของโรคผักต่างๆ หลายชนิด เช่นโรคโคนเน่าคอดินของต้นกล้า โรคโคนต้นและรากเน่า โรคเน่าของฝักถั่ว (pod rot of beans) และโรคผลมะเขือเทศเน่า (tomato fruit rot) เป็นต้น เชื้อนี้จะเจริญแพร่ระบาดก่อให้เกิดโรคต่างๆ เหล่านี้ได้ดีในดินที่มีอุณหภูมิระดับปานกลางคือตั้งแต่ 15° – 12°ซ. โรคสมัทหรือเขม่าดำ (smut) ของหอมใหญ่ซึ่งเกิดจากเชื้อ Urocystis cepulae ก็เป็นราในดินอีกชนิดหนึ่งที่การเข้าทำลาย พืชจะเกิดขึ้นเฉพาะในช่วงที่อุณหภูมิของดินอยู่ระหว่าง 10 – 25° ซ. เท่านั้น ถ้าสูงกว่านี้ความสามารถในการก่อให้เกิดโรคก็จะค่อยๆ ลดลง และจะหยุดเมื่อสูงขึ้นไปถึง 29° ซ. หรือกว่านั้น

2. ความชื้น

ความชื้นที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดการระบาด และความรุนแรงของโรคแบ่งออกได้เป็นสองประเภทเช่นเดียวกันคือ

2.1 ความชื้นในอากาศ หมายถึง ปริมาณของไอน้ำหรือความชื้นสัมพัทธ์ (relative humidity) ของอากาศ ที่มีอยู่รอบๆ ต้นพืช โดยปกติแล้วความชื้นชนิดนี้จะมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับเชื้อสาเหตุโรคมากกว่าทางด้านต้นพืชซึ่งเกี่ยวข้องทางอ้อม เชื้อโรคเกือบทุกชนิดต่างต้องอาศัยความชื้นในการเกิด การทวีจำนวนและการงอกของสปอร์ ส่วนจะต้องการมากน้อยเท่าใดนั้นก็แตกต่างกันออกไปตามชนิดและธรรมชาติของเชื้อนั้นๆ ราชั้นต่ำเช่น Phytophthora infestans โรคเลทไบลท์ ของมะเขือเทศและมันฝรั่ง Albugo Candida โรคสนิมขาวของผักกาด และพวก Peronospora sp. โรคราน้ำค้าง พวกนี้ในช่วงหนึ่งของวงจรชีวิต (life cycle) ของมันจะมีการสร้างเซลล์ที่เคลื่อนไหว (swarm cells หรือ zoospores) ซึ่งเซลล์พวกนี้จะมีชีวิตอยู่ได้ก็เฉพาะในที่ที่มีความชื้นตั้งแต่ 95% ขึ้นไปเท่านั้น ขณะเดียวกันราชั้นสูงบางชนิด เช่น Erysiphae sp. โรคราแป้งขาว Fusarium sp. โรครากโคนเน่า และโรคเหี่ยว และพวกแซพโพรไฟท์ เช่น Rhizopus sp. Aspergillus sp. และ Penicillium sp. พวกนี้ในการขยายพันธุ์ไม่มีการสร้างเซลล์ที่เคลื่อนไหวดังเซ่น พวกราชั้นต่ำ มีความชื้นเพียงเล็กน้อยหรือเกือบไม่มีเลยก็สามารถเจริญเติบโตได้เป็นปกติ

สำหรับเชื้อแบคทีเรียเกือบทุกชนิดทั้งที่เป็นสาเหตุและไม่ใช่สาเหตุโรคต้องการความชื้นสูงอาจถึงระดับอิ่มตัว(100%) ในการแบ่งเซลล์หรือการเจริญเติบโตด้วยเหตุนี้โรคต่างๆ ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย จึงมักจะพบมากและรุนแรงในฤดูฝน หรือในช่วงที่อากาศมีความชื้นสูง มีหมอกน้ำค้างจัด ในฤดูแล้งมักไม่ใคร่พบ หรือหากเป็นก็จะไม่ก่อให้เกิดความเสียหายมากนัก

2.2 ความชื้นในดิน ได้แก่ปริมาณน้ำในดินหรือความสามารถในการอุ้มน้ำ(water holding capacity) ของดินนั้น ส่วนใหญ่ ความชื้นในดินจะมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับพวกจุลินทรีย์ หรือเชื้อโรคที่อาศัยอยู่ในดิน (soil in­habitants หรือ soil-borne organisms) ซึ่งมีทั้งรา ราเมือก แบคทีเรีย ไวรัส มายโคพลาสมา และไส้เดือนฝอย โดยเชื้อแต่ละชนิดเหล่านี้ต่างก็มีความต้องการความชื้นของดินในการเจริญเติบโตและการทำให้เกิดโรคมากน้อยไม่เท่ากันทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดและธรรมชาติของเชื้อนั้นตัวอย่างเชื้อรา เช่น เชื้อ Pythium debaryanum โรคโคนเน่าคอดินของกล้า ผักต่างๆ Aphanomyces euteichesโรคเหี่ยวของบีทและถั่ว (peas)ต่างๆ ทั้งคู่จัดเป็นราที่ต้องการความชื้นในดินค่อนข้างสูง โดยพบว่าโรคที่เกิดจากราพวกนี้จะระบาด และสร้างความเสีย หายรุนแรงในดินที่มีความชื้นตั้งแต่ 90% ขึ้นไป เชื้อที่ต้องการความชื้นสูงอีกตัวหนึ่งคือ Plasmodiophora brassicae เป็นราเมือกชนิดหนึ่งสาเหตุโรครากบวมของผักพวกกะหล่ำ พบว่าในระยะก่อนการเข้าทำลายพืช 24 ชั่วโมง เชื้อชนิดนี้ต้องการความชื้นของดินสูงถึงจุดอิ่มตัว (100%)

พวกที่ต้องการความชื้นปานกลางตัวอย่างที่พบบ่อยได้แก่Sclerotium cepivorum สาเหตุโรคเน่าของหอม เชื้อชนิดนี้ต้องการความชื้นของดินเพียงเท่าที่พืชต้องการ ก็สามารถเจริญเติบโตและก่อให้เกิดโรคได้ดี สำหรับพวกที่ต้องการความชื้นต่ำนั้นพบว่า Fusarium sp. และ Streptomyces sp.  เป็นพวกที่ต้องการความชื้นเพียงเล็กน้อย พวกนี้สามารถเจริญเติบโตและสร้างความเสียหายให้กับพืชได้ในดินที่มีความชื้นเพียง 40% หรือต่ำกว่า

โรคเส้นใบบวมโต (big vein) ของผักกาดหอม เกิดจากเชื้อไวรัสโดยมีไส้เดือนฝอยพวก Xiphinema sp. เป็นพาหะ เนื่องจากต้องอาศัยไส้เดือนฝอยซึ่งธรรมชาติต้องการความชื้นสูง ในการเจริญเติบโตและการเคลื่อนไหวเป็นตัวนำไปสู่พืช จึงพบว่าโรคนี้จะระบาดได้ดีในดินที่มีความชื้นสูง ในทำนองเดียวกันโรคพืชที่เกิดจากไส้เดือนฝอยที่อาศัยอยู่ในดินทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นพวก root knot, root lesion, golden หรือ cyst nematode ต้องการดินที่มีความชื้นอย่างต่ำ ตั้งแต่ 40% ขึ้นไปจนถึง 100% ในการทวีจำนวนเพิ่มปริมาณการเจริญเติบโต การเคลื่อนที่ และการทำให้เกิดโรคกับพืช

สำหรับทางด้านต้นพืช ความชื้นในดินเกี่ยวข้องกับการทำให้เกิดโรคหรือเพิ่มความรุนแรงของโรคทางอ้อม กล่าวคือความชื้นของดินที่พืชขึ้นเจริญเติบโตอยู่นั้น ไม่ว่าจะโดยที่มีมากเกินไปหรือน้อยเกินไปอาจมีส่วนทำให้พืชเจริญเติบโตผิดไปจากปกติ ทำให้อ่อนแอ เป็นช่องทางหรือง่ายต่อการที่จะทำให้เชื้อโรคต่างๆ เข้าทำลายได้ดี หรือติดโรคได้ง่ายขึ้นเท่านั้น

3. แสงอาทิตย์

ปกติแล้วแสงอาทิตย์ ไม่มีผลต่อการเจริญเติบโตของเชื้อโรคโดยตรงทั้งนี้เพราะเชื้อสาเหตุโรคส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็น รา แบคทีเรีย ไวรัส หรือมายโคพลาสมา ต่างเป็นพวกที่ไม่มีคลอโรฟิลล์ที่ใช้ในการสังเคราะห์แสงเพื่อปรุงอาหารขึ้นใช้เองดังเช่นพืชทั่วๆ ไป ทั้งนี้ยกเว้นพวกกาฝาก ฝอยทอง ซึ่งจัดเป็นพืชที่อาศัยเกาะกินอยู่บนพืชด้วยกันเองดังได้กล่าวแล้วข้างต้น แสงแดดหรือแสงอาทิตย์อาจเกี่ยวข้องกับเชื้อโรคในด้านที่เป็นต้นกำเนิดหรือที่มาแห่งความร้อนซึ่งมีผลช่วยเร่งหรือยับยั้งการเกิดทวีจำนวนของเชื้อให้เพิ่มมากขึ้นหรือลดน้อยลงเท่านั้นส่วนที่จะเกี่ยวข้องกับพวกเชื้อต่างๆ โดยตรงก็ได้แก่แสงที่มีขนาดช่วงคลื่น (wave length) สั้นระหว่าง 2000-2800 angstrom ที่เรียกว่าแสงอุลตร้าไวโอเลท (ultraviolet) จะมีพลังทำลาย (quantum energy) สามารถก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นกับเซลล์ที่เรียกว่า photo chemical change อาจมีผลทำให้เซลล์ตาย หรือเกิดการเปลี่ยนแปลง (mutation) หมดความสามารถในอันที่จะก่อให้เกิดโรคกับพืชได้ ส่วนทางด้านต้นพืช แสงอาทิตย์มีผลต่อการเจริญเติบโตของพืชโดยตรงโดยใช้ในกระบวนการสังเคราะห์อาหาร (photosynthesis) หากได้รับไม่พอก็จะเจริญเติบโตไม่เต็มที่อ่อนแอ เป็นช่องทางให้เชื้อต่างๆ เข้าทำลายอย่างง่ายเกิดโรคได้เร็ว และรุนแรง