ความแตกต่างในการจัดสวน

ความแตกต่าง (contrast)

ความแตกต่างหรือความขัดแย้งในการจัดสวน แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ

1. ความแตกต่างในลักษณะทางพฤกษศาสตร์ (botany)

ในการจัดสวนบางครั้งเราก็ต้องการสิ่งที่ผิดเพี้ยนไปจากที่เคยพบเคยเห็นตามธรรมชาติ เพื่อแก้เลี่ยนหรือแก้เซ็งทำให้ตื่นตาตื่นใจเก๋ไก๋ไปอีกแบบหนึ่ง ดังตัวอย่างต่อไปนี้

เราเคยปลูก ต้นโหระพา ต้นพริก และต้นสะระแหน่ไว้ในกลุ่มเดียวกัน ต้นไม้ทั้ง 3 ชนิด มีลักษณะใบคล้ายกัน เมื่ออยู่ในกลุ่มเดียวกันก็ย่อมจะกลมกลืนกัน แต่ถ้าเราเอาต้น สะระแหน่ออกไปแล้วเอาต้นตะไคร้มาปลูกแทน ก็จะทำให้ต้นไม้ในกลุ่มนี้เกิดความแตกต่างในลักษณะของใบทันที เพราะต้นตะไคร้ใบมีลักษณะเรียวยาวผิดจาก 2 ชนิดเดิม (โหระพาและพริก) ทำให้ดูแปลกตาดีเหมือนกัน

2. ความแตกต่างในลักษณะของสี (colour)

การจัดสวนในบางโอกาสเราอาจต้องการเรียกร้อง หรือดึงดูดความสนใจจากผู้คน เราก็อาจหาต้นไม้ที่มีสีของใบหรือสีของดอกที่แตกต่างกันและนำมาปลูกให้รวมอยู่ในกลุ่มเดียวกัน เช่น

เมื่อเรานำต้นพริก และ ต้นโหระพามาปลูกข้าง ๆ ตอไม้หรือก้อนหิน ต้นไม้ทั้ง 2 ชนิด มีใบสีเขียวเหมือนกัน ก็ย่อมจะกลมกลืนกันในลักษณะของสี ถ้าเรานำต้นกะเพราแดงมาปลูกไว้อีกมุมหนึ่ง จะทำให้เกิดความแตกต่าง ในเรื่องของสีทันที เพราะใบของต้นกะเพราแดงมีสีนํ้าตาลอมแดงซึ่งแตกต่างกับสีเขียวของต้นไม้ 2 ชนิดแรก (ต้นไม้ที่มีใบสีแดงมีมากมายหลายชนิด อาทิ โพแดง ฤๅษีผสม เงาะถอดรูป หูปลาช่อน)

อีกตัวอย่างหนึ่ง เมื่อเราปลูก้อนหิน แล้วเราก็ปลูกต้น พลับพลึงไว้ทาง ซ้ายมือด้านหน้าของกลุ่มก้อนหิน ต้นไม้ทั้ง 2 ชนิด มีใบสีเขียวเหมือนกัน ก็ย่อมจะกลมกลืนกันในลักษณะของสี ถ้าเรานำต้นสับปะรดสีมาปลูกไว้อีกมุมหนึ่งดังในภาพ จะทำให้เกิดความแตกต่างในเรื่องของสีทันที เพราะใบของ สับปะรดสีมีสีแดงฉูดฉาดซึ่งแตกต่างกับสีเขียวของต้นไม้ 2 ชนิดแรก

การจัดให้เกิดความแตกต่างในลักษณะของสีนี้เหมาะสำหรับงานนิทรรศการหรืองานโชว์ซึ่งมีชั่วครั่งชั่วคราว ในระยะเวลาเพียงสั้น ๆ สีแดง ในทางจิตวิทยาให้ความรู้สึกที่ตื่นเต้น กระตุ้นและท้าทาย ดึงดูดความสนใจได้ดี แต่ก็ขาดความนุ่มนวล