ควินิน

ควินิน มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า ซิงโคนา ซักซิรูบรา (Cinchona succirubra, P & K) เป็นซิงโคนาสีแดง (Red Cinchona) และอีกชนิดหนึ่ง ซิงโคนา เลดเจอเรียน่า หรือ ซิงโคนา คาลิซาย่า (Cinchona ledgeriana M & T or Cinchona calisnya  VVed) เป็นซิงโคนาสีเหลือง (Yellow Cinchona) ซิงโคนาใช้เปลือกต้นและเปลือกรากทำประโยชน์ทางยาบำบัดโรคมาเลเรีย เนื่องจากภายในเปลือกซิงโคนาประกอบด้วยอัลคลอลอยด์ประมาณ ๒๕ ชนิด แต่มีอัลคลอลอยด์ที่สำคัญคือ ควินิน (quinine), ควินิดีน (quinidine), ซิงโคนีน (cinchonine) และซิงโคนิดีน (cinchonidine ) ควินินเป็นอัลคลอลอยด์ที่สำคัญมีมากในซิงโคนาสีเหลือง แต่ในซิงโคนาสีแดงจะมีปริมาณซิงโคนิดีนสูง สารต่างๆ ในเปลือกซิงโคนาที่กล่าวมาข้างต้นมีรสขม ใช้เป็นยาขมเจริญอาหาร (bitter tonic) เปลือกซิงโคนานำมาทำเป็นยาชงหรือยาต้มอมกลั้วคอ

สารอัลคลอลอยด์ควินินใช้บำบัดรักษาโรคมาเลเรียที่ปลอดภัยกว่าการใช้ยาสังเคราะห์ไม่เป็นพิษร้ายแรง แต่ถ้าใช้ควินินมากเกินขนาดจะทำให้หูอื้อขั้นร้ายแรงถึงขนาดได้ยินเสียง กระดิ่งแบบประสาทหลอน เรียกอาการนี้ว่า ซิงโคนิซึ่ม (cinchonism) ส่วนสารอัลคลอลอยด์ ควินิดีน (quinidine) มีฤทธิ์ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจคลาย

เนื่องจากต้นซิงโคนาให้อัลคลอลอยด์ที่คนรู้จักมากคือ ควินิน (quinine) อ่านได้หลายอย่าง คือ ควินนีน, ควินไนน์ หรือไควไนน์ แต่ไม่อ่านว่า ไควนีน เยอรมันเขียน Chinin อ่านว่า คีนิน

ในประเทศไทยได้ทำสวนป่าต้นซิงโคนาที่จังหวัดเชียงใหม่บนดอยสุเทพ ตรวจพบปริมาณของอัลคลอลอยด์ในเปลือกอยู่ในเกณฑ์ที่ใช้ได้ ต้นซิงโคนาชอบที่สูงจากระดับน้ำทะเล และมีฝนตกชุก เป็นพืชที่ชอบแดดรำไรไม่ถูกแสงแดดมากเกินไป ถ้าถูกแดดมากเกินไปจะทำให้ปริมาณของสารควินินลดลง ต้นซิงโคนาอายุ ๓- ๙ ปี ให้ปริมาณของสารอัลคลอลอยด์ในเปลือกสูง ฉะนั้นต้นซิงโคนาที่มีอายุระยะนี้เขาจะโค่นต้นและขุดรากลอกเปลือกขณะยังสด เปลือกซิงโคนานอกจากจะนำมาทำเป็นยาแล้ว สามารถนำมาทำเหล้า หรือไวน์ที่มีรสขมได้อีกด้วย เช่น เหล้าเวอร์มุธ ฉะนั้นในประเทศไทยยังมีสถานที่อีกมากที่จะทดลองปลูกต้นซิง โคนาอย่างได้ผลดี ชาวไทยก็คงจะได้ใช้ยาที่ได้จากธรรมชาติที่ปลอดภัยกว่าและไม่ต้องเสียดุลย์ การค้าในการสั่งยามาจากต่างประเทศ

ประวัติความเป็นมาของต้นซิงโคนา ชาวอินเดียแดง ประเทศเปรู ดื่มน้ำในบ่อที่มีกิ่งก้านต้นซิงโคนาแช่อยู่เพื่อบรรเทาอาการไข้ ความรู้นี้ก็ได้เผยแพร่ไปยังนักบวช และบุคคลทั่วไปรวมทั้งนำไปรักษาท่านผู้หญิง ชิงชอง ( Countess of Chinchon ) ผู้สำเร็จราชการรัฐเปรู และถูกเผยแพร่เข้าไปในยุโรป ดังนั้น ชื่อซิงโคนาจึงตั้งชื่อให้เป็นเกียรติแก่ท่านผู้หญิงชิงชอง ส่วนคำว่า ซักซิรูบร้า เป็นภาษาลาติน แปลว่า น้ำแดง (red juice) ส่วนคำว่า เลตเจอเรียนา ให้ชื่อเป็นเกียรติแก่ ชลาร์ส เลดเจอร์ (chlarles ledger) ซึ่งเป็นผู้นำต้นซิงโคนามาปลูกในประเทศอินโดนีเซีย ส่วนคำว่า กาลีซายา (calisaya ) เป็นคำที่ชาวสเปญและชาวอินเดียแดง ในรัฐเปรูเรียกต้นซิงโคนาสีเหลือง ก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ ประเทศอินโดนีเซียส่งเปลือกซิงโคนาเป็นสินค้าออก ๙๐% ของเปลือกซิงโคนาที่ซื้อขายกัน เป็นพืชที่นำรายได้เข้าประเทศอินโดนีเซียมาก พอสงครามโลกอุบัติขึ้น ญี่ปุ่นยึดครองอินโดนีเซีย และถูกตัดขาดจากประเทศทางตะวันตก ดังนั้นประเทศเหล่านี้จึงหันไปใช้ยาสังเคราะห์ เช่น คลอโรควิน (chloroquine), ควินาครีน (Quinacrine) ปลาสโมควิน ( Plasmoquine ), และไพมาคริน (Pimacrine) บำบัดรักษาโรคมาเลเรียแทนควินินที่ได้จากเปลือกซิงโคนา และประเทศต่างๆ เหล่านี้ เช่น อเมริกากลาง และอเมริกาได้ ก็ได้พยายามปลูกต้นซิงโคนา แต่ต้นซิงโคนาที่ปลูกนั้นมีปริมาณของอัลคลอลอยด์น้อยกว่าที่ได้จากประเทศอินโดนีเซีย

ต้นซิงโคนามีถิ่นกำเนิดแถวเทือกเขาแอนเดส (Andes) ของรัฐเอควาดอร์ (Ecuador) และรัฐเปรู เป็นพืชที่เจริญงอกงามดีในพื้นที่ที่มีความสูงกว่าระดับน้ำทะเล ๓,๐๐๐-๙,๐๐๐ ฟุต ต่อมาชาววิลันดาได้นำต้นซิงโคนาไปปลูกในประเทศอินโดนีเซีย อังกฤษ อินเดีย และศรีลังกา ปัจจุบันชาววิลันดาได้ทำ การฟื้นฟูการปลูกต้นซิงโคนาในอินโดนีเซีย เพื่อให้มีปริมาณของอัล คลอลอยด์สูง โดยการผสมพันธุ์

ต้นซิงโคนาเจริญเติบโตช้า เพาะเมล็ดให้งอกในแปลงเพาะประมาณ ๒ ปี แล้วจึงย้ายไปปลูกในที่ๆ เตรียมไว้ เมื่อต้นซิงโคนาเจริญเติบโตขึ้นจะทิ้งกิ่งตอนโคนต้นและงอกกิ่งใหม่มาแทนอย่างกระชั้นชิดกว่าเดิม ต้นซิงโคนาไม่ต้องการแสงแดดมากเกินไป เพราะจะทำให้อัลคลอลอยด์ควินินลดลง

สรุปสรรพคุณ

เปลือกต้นและเปลือกรากซิงโคนาประกอบด้วยสารอัลคลอลอยด์ที่สำคัญ ควินินใช้บำบัดโรคมาเลเรีย และอัลคลอลอยด์ควินิดีนมีฤทธิ์ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจคลาย

อัลคลอลอยด์ในเปลือกควินินมีรสขม ช่วยเจริญอาหาร ทำเป็นยาชงหรือต้มอมกลั้วคอ

หมายเหตุ สารอัลคลอลอยด์ควินินถ้ากินเกินขนาดจะทำให้หูอื้อ