คุณค่าทางโภชนาการของนมถั่วเหลือง


ในทางด้านโภชนาการและการแพทย์แล้ว นํ้านมถั่วเหลืองมีคุณภาพด้อยกว่าน้ำนมโค แต่ข้อได้เปรียบของนมถั่วเหลืองมีอยู่มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องราคาของวัตถุดิบ ซึ่งถั่วเหลืองได้ชื่อว่าเป็นแหล่งโปรตีนราคาถูก นอกจากนี้ นมถั่วเหลืองสามารถปรับให้มีคุณค่าทางโภชนาการเพิ่มขึ้นได้ กล่าวคือ
1. ชนิดของโปรตีนมีอัตราส่วนของกรดอะมิโนไม่ครบถ้วนตามความต้องการทางร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง SULFUR CONTAINING AMINO ACIDS อันได้แก่ เมไธโอนิน และซิสตีน (CYSTINE) ซึ่งในนมถั่วเหลืองมีอยู่ในปริมาณที่ตํ่ามาก อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาวิจัยเพื่อเพิ่มคุณภาพของโปรตีนจากถั่วเหลือง โดยการเติมเมไธโอนินทำให้การบริโภคนมถั่วเหลืองได้ผลดีขึ้น
2. เนื่องจากปริมาณไขมันในนํ้านมถั่วเหลืองจะตํ่ากว่านมโค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกรณีของการสกัดด้วยกรรมวิธีการใช้น้ำ แต่ไขมันที่ได้เป็นไขมันที่มีคุณภาพที่ดีมาก คือ มีกรดไขมันที่จำเป็นต่อร่างกาย (LINOLEIC ACID) ดังนั้น ถ้าเพียงแต่ผู้ผลิตเติมไขมันที่มีคุณภาพสูงเข้าไปก็จะทำให้นมถั่วเหลืองมีคุณภาพใกล้เคียงกับนมโคมาก
จากการวิเคราะห์คุณค่าทางโภชนาการของนมถั่วเหลือง สำหรับนมถั่วเหลืองที่มีจำหน่ายในท้องตลาดซึ่งแบ่งแยกออกเป็นนมถั่วเหลืองชนิดไม่หวาน นมถั่วเหลืองเข้มข้น บรรจุกระป๋อง และนมถั่วเหลืองบรรจุกระป๋อง ซึ่งจะมีคุณค่าทางอาหารแตกต่างกันไป อย่างไรก็ตามสิ่งที่ควรคำนึงถึงก็คือ คุณค่าทางอาหารของนมถั่วเหลืองจะผันแปรไปตามพันธุ์ของถั่วเหลืองที่ใช้ ตลอดจนกรรมวิธีในการผลิต
คุณสมบัติของนมถั่วเหลืองจะมีความคล้ายคลึงกับนํ้านมที่ได้จากสัตว์ สามารถตกตะกอนโปรตีนได้โดยใช้กรดและเกลืออนินทรีย์ ดังนั้นจึงสามารถทำผลิตภัณฑ์อาหารหมักจากนมถั่วเหลืองได้เช่นเดียวกับนมโค นั่นคือ นมถั่วเหลืองสามารถผลิตนมเปรี้ยวได้เช่นกัน กล่าวกันว่าถ้าดื่มนมถั่วเหลือง 1 แก้ว (240 กรัม) จะได้โปรตีนประมาณ 6 กรัม ซึ่งใกล้เคียงกับโปรตีนที่มีในไข่ 1 ฟอง การบริโภคนมถั่วเหลืองจะให้สารอาหารทั้งโปรตีน คาร์โบไฮเดรต และวิตามิน เหมาะสำหรับซนทุกวัยตั้งแต่เด็กเล็กไปจนถึง คนสูงอายุ เนื่องจากสามารถป้องกันโรคปากนกกระจอกในเด็ก และโรคเหน็บชาในคนสูงอายุจึงควรจะดื่มนมถั่วเหลืองทุกวันๆ ละ 1-2 แก้วโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มีอาการแพ้นมโคสามารถบริโภคนมถั่วเหลืองแทนได้

ปริมาณโปรตีน วิตามินบี 1 และวิตามินบี 2 ในน้ำนมถั่วเหลืองในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท


สิ่งที่น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่งคือ กองวิเคราะห์อาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เคยทำการศึกษาวิเคราะห์ปริมาณโปรตีน ไขมัน วิตามินบี 1 และวิตามินบี 2 ในน้ำนมถั่วเหลืองที่ผลิตประจำวัน หรือตามรถเร่ขายนมถั่วเหลือง เปรียบเทียบคุณค่าทางอาหารกับนํ้านมถั่วเหลืองในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท ซึ่งผลจากการวิเคราะห์ตัวอย่างพบว่า น้ำนมถั่วเหลืองทั้งสองชนิดมีค่าเฉลี่ยปริมาณโปรตีนและไขมันอยู่ในมาตรฐานประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 70 (พ.ศ. 2525) คือ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 2 และร้อยละ 1 โดยน้ำหนัก ตามลำดับ นํ้านมถั่วเหลืองในภาชนะบรรจุปิดสนิทมีปริมาณไขมัน และวิตามินบี 2 มากกว่านํ้านมถั่วเหลืองผลิตประจำวันประมาณ 2.5 เท่า และ 3.0 เท่าตามลำดับ แต่ปริมาณวิตามินบี 1 ในนํ้านมถั่วเหลืองผลิตประจำวันจะมีมากกว่านํ้านมถั่วเหลืองในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิทประมาณ 1 เท่าตัว ส่วนปริมาณโปรตีนในน้ำนมถั่วเหลืองผลิตประจำวันและนํ้านมถั่วเหลืองในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิทมีค่าใกล้เคียงกัน

ปริมาณโปรตีน ไขมัน วิตามินบี 1 และวิตามินบี 2 ในน้ำมันถั่วเหลืองผลิตประจำวัน(น้ำเต้าหู้)


ที่มา:ยุพา  ฉันทปัญญารัตน์  สุวรรณี  ธีรภาพธรรมกุล และบุญสรรพ์  บุญธินันท์ “คุณค่าทางอาหารของน้ำนมถั่วเหลืองผลิตประจำวัน” วารสารกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, มกราคม-มีนาคม 2531, หน้า 43.

สภาพการตลาดและการแข่งขัน

อุตสาหกรรมการทำนมถั่วเหลืองเริ่มจากอุตสาหกรรมในครัวเรือน จนกระทั่งมีการพัฒนาเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ แต่การทำนมถั่วเหลืองแบบดั้งเดิมที่จะต้องมีการผลิตออกขายทุกวันก็ยังมีให้เห็นได้ทั่วๆ ไป ซึ่งถ้าจะแบ่งกลุ่มผู้ผลิตนมถั่วเหลืองแล้วพอจะแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม คือ
1. ผู้ผลิตนมถั่วเหลืองประจำวันหรือนมถั่วเหลืองที่ใส่รถเข็นขายทั่วไป ซึ่งการผลิตนมถั่วเหลืองในลักษณะนี้มีเป็นจำนวนมาก สถานที่ขายจะเป็นแหล่งชุมชน การผลิตจะทำวันต่อวัน
2. ผู้ผลิตลักษณะเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือน ผู้ผลิตกลุ่มนี้จะผลิตในปริมาณที่มากกว่ากลุ่มแรก แล้วกรอกใส่ขวดหรือถุงพลาสติก ทั้งนี้เพื่อจำหน่ายในย่านที่ตั้งของแหล่งผลิตหรือส่งให้ผู้บริโภคเป็นประจำวัน โดยนมถั่วเหลืองประเภทนี้สามารถจะเก็บในตู้เย็นได้ประมาณ 2-3 วัน
3. ผู้ผลิตในลักษณะเป็นโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นผู้ผลิตที่มีใบอนุญาตผลิตตามกฎเกณฑ์ของกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงสาธารณสุข โดยมีการควบคุมคุณภาพ ความสะอาดและความปลอดภัยให้เป็นไปตามข้อกำหนด ซึ่งในปัจจุบันมีโรงงานอุตสาหกรรมผลิตนมถั่วเหลืองอยู่ 4 โรงงาน โดยแยกเป็นหน่วยงานราชการ 1 ราย คือ สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร โรงงานที่เหลือเป็นของเอกชน ได้แก่ บริษัท เนสท์เล่ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตนมถั่วเหลืองยี่ห้อโบนัสและทวิน บริษัทกรีนสปอต (ประเทคไทย) จำกัด ผู้ผลิตนมถั่วเหลืองยี่ห้อไวตามิลค์ และบริษัทคิกคาปู้ จำกัด ผู้ผลิตนมถั่วเหลืองยี่ห้อแลคตาซอย
สำหรับหน่วยงานของราชการจะมีผลิตภัณฑ์ประเภทนมถั่วเหลืองจำหน่ายอยู่หลายประเภท เช่น นมถั่วเหลืองเข้มข้นบรรจุกระป๋อง นมถั่วเหลืองบรรจุกระป๋อง เป็นต้น วางจำหน่ายภายใต้ชื่อยี่ห้อ “ดอยคำ” เช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์ของโครงการหลวง เป้าหมายการผลิตของสถาบันค้นคว้านี้ ไม่ได้เน้นการแข่งข้น แต่จะเน้นว่าเป็นแหล่งโปรตีนราคาถูกสำหรับประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะในแหล่งที่ขาดแคลนอาหารประเภท โปรตีน
ในด้านเอกชนซึ่งมีอยู่ 3 ราย ก็ไม่ได้มีการแข่งขันที่รุนแรงโดยตรงเหมือนกับอาหารเสริมสุขภาพประเภทอื่นๆ แม้ว่ามูลค่าการตลาดจะสูงถึง 3,000 ล้านบาทก็ตาม ทั้งนี้เนื่องจากนมถั่วเหลืองเป็นอาหารที่หารับประทานได้ง่ายในราคาที่ไม่แพงมากนัก นอกจากนี้ ลักษณะของตลาดนมถั่วเหลืองจะมีคู่แข่งทางอ้อมอยู่หลายราย ทั้งนี้เนื่องจากลักษณะการวางสินค้า กล่าวคือ นมถั่วเหลืองประเภทบรรจุขวดจะถูกจัดอยู่ในตลาด กึ่งน้ำอัดลมกึ่งตลาดผลิตภัณฑ์นม ส่วนนมถั่วเหลืองยูเอชทีหรือนมถั่วเหลืองบรรจุกล่อง คู่แข่งจากตลาดนมยูเอชที นอกจากนี้ นมถั่วเหลืองผงหรือนมผงทวินนั้นก็ถูกจัดให้อยู่ในตลาดนมผง การดำเนินกลยุทธ์ทางการตลาดค่อนข้างจะแตกต่างกัน จึงไม่ค่อยจะปรากฏข่าวคราวการแข่งขันในตลาดนมถั่วเหลืองเท่าใดนัก
ปัจจุบันตลาดนมถั่วเหลืองชนิดขวดค่ายไวตามิลค์ ครอบครองอยู่เกือบร้อยละ 95 หรือมูลค่าการขายประมาณ 400-500 ล้านบาท ที่เหลือเป็นค่ายแลคตาซอย ส่วนตลาดนมถั่วเหลืองชนิดกล่องหรือยูเอชทีนั้นจะมีวางจำหน่าย 3 ยี่ห้อ คือ แลคตาซอย ไวตามิลค์ และโบนัส แต่คู่แข่งที่เผชิญหน้ากันอย่างจริงจังในตลาดนมถั่วเหลืองกล่องก็คือ แลคตาซอย และไวตามิลค์ ซึ่งแลคตาซอยครอบครองตลาดได้เป็นส่วนใหญ่ แม้จะเข้าตลาดทีหลังไวตามิลค์ก็ตาม กอปรกับไวตามิลค์มีความชำนาญทางด้านตลาดนมขวดมากกว่านมกล่อง และภาพพจน์ของนมไวตามิลค์ในสายตาของผู้บริโภคจะเป็นอาหารเสริมสุขภาพเฉพาะสำหรับนักกีฬาและคนสูงอายุ อย่างไรก็ตาม ตลาดนมถั่วเหลืองบรรจุกล่องเริ่มจะมีการแข่งขันเข้มข้นขึ้นในปี 2533 นี้ ซึ่งทางรัฐบาลจัดเป็นปีรณรงค์ในเรื่องการบริโภคถั่วเหลือง ซึ่งค่ายไวตามิลค์พลิกกลยุทธ์รับการขยายตลาดอย่างทันท่วงทีโดยการปรับปรุงโฉมบรรจุภัณฑ์เพื่อให้ดูทันสมัยขึ้น รวมทั้งการเปลี่ยนภาพพจน์เกี่ยวกับสินค้าที่เหมาะสำหรับคนบางกลุ่ม แต่พยายามจะเน้นว่าเป็นเครื่องดื่มสำหรับผู้บริโภคทุกเพศทุกวัย โดยจะหันไปจับตลาดกลุ่มเด็กและกลุ่มวัยรุ่นซึ่งมีฐานการตลาดที่กว้างกว่า สำหรับตลาดนมถั่วเหลือง ชนิดผงมียี่ห้อเดียวที่วางจำหน่ายคือ ค่ายทวิน เข้าตลาดในลักษณะเป็นนมผงผสมระหว่างนมโคและนมถั่วเหลือง โดยจับจุดอ่อนของตลาดนมผงที่ขาดแคลนวัตถุดิบที่สำคัญคือนํ้านมดิบ ซึ่งส่วนใหญ่จะนำไปป้อนตลาดนมพร้อมดื่ม เน้นให้ผู้บริโภคมีทางเลือกที่จะบริโภคนมผงถั่วเหลืองผสมกับนมโค ซึ่งมีราคาถูกกว่านมผงอื่นๆ ที่วางจำหน่ายอยู่ในท้องตลาดซึ่งค่ายทวินค่อนข้างจะได้เปรียบในเรื่องนี้ เนื่องจากชื่อเสียงของบริษัทเนสท์เล่มีสินค้าวางตลาดมานาน ทำให้ชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของผู้บริโภคเป็นอย่างดี รวมทั้งมีงบประมาณพอที่จะทำการส่งเสริมและสร้างภาพพจน์ของสินค้าซึ่งฉีกตลาดนมถั่วเหลืองที่มีอยู่ในตลาด นอกจากนี้ ค่ายเนสท์เล่ครอบครองสัดส่วนตลาดนมผงอยู่ถึงร้อยละ 60 โดยเป็นผู้แทนจำหน่าย นมผงตราหมี เนสเปร คาร์เนชั่น และล่าสุดคือทวิน แผนการตลาดของเนสท์เล่ก็คือ ส่งนมทวินเข้าไปแข่งขันในตลาดนมผง คาดว่าอีก 3 ปีข้างหน้าทวินเข้าไปมีส่วนแบ่งตลาดนมผงถึงร้อยละ 15.2
ข้อมูลจำเพาะรายบริษัท
– บริษัทเนสท์เล่ (ประเทศไทย) จำกัด เจ้าของผลิตภัณฑ์นมถั่วเหลืองยูเอชที ตราโบนัสและนมถั่วเหลืองผงทวิน
แม้ว่าค่ายเนสท์เล่จะเริ่มเข้ามาในตลาดนมถั่วเหลืองด้วยการผลิตนมถั่วเหลืองยูเอชทีตราโบนัส ซึ่งการขายไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควรเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์ประเภทเดียวกันในตลาด แต่ค่ายเนสท์เล่ก็ปรับกลยุทธ์โดยหันมาเจาะตลาดนมถั่วเหลือง ประเภทนมผง โดยอาศัยความเป็นผู้นำในตลาดนมผง รวมทั้งเป็นการมองการณ์ไกลว่าตลาดนมผงในประเทศจะได้รับผลกระทบอย่างมากจากการปรับตัวของราคานํ้านมดิบ ภายในประเทศ ราคานมผงนำเข้าเริ่มมีแนวโน้มแพงขึ้น รวมทั้งผลกระทบจากความไม่เพียงพอของปริมาณนํ้านมดิบภายในประเทศ
เนสท์เล่พยายามเน้นให้ผู้บริโภคเห็นว่า ทวินเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทผลิตจากโปรตีนจากสองแหล่งจึงนับเป็นอาหารที่มีคุณค่า โดยเฉพาะถั่วเหลืองซึ่งถือเป็นแหล่งโปรตีนราคาถูก แม้จะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ค่อนข้างใหม่สำหรับผู้บริโภค ซึ่งเนสท์เล่จะต้องพยายามสร้างตลาดขึ้นมาให้ได้ โดยตลาดเป้าหมายของนมผงทวินก็คือ เด็กตั้งแต่อายุ 4 ขวบ เป็นต้นไป โดยเฉพาะแม่บ้านที่มีบุตรอายุตั้งแต่ 2-12 ขวบและสำหรับผู้ที่มีอายุ 12ขาบขึ้นไปจะเป็นเป้าหมายรอง
เน้นกลยุทธ์การกระจายสินค้าวางจำหน่ายได้ถึง 5,500 จุดทั่วประเทศ รวมทั้งโฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านทุกสื่อ เพื่อให้ผู้บริโภครับรู้และเลือกนมผงทวิน ซึ่งจากการสำรวจพบว่าผู้บริโภคพอใจในรสชาติและคุณค่าทางอาหารของสินค้านี้สูงมาก ซึ่งพิจารณาได้จากยอดซื้อซ้ำซึ่งอยู่ในเกณฑ์สูง ดังนั้น ค่ายเนสท์เล่จึงจัดโปรแกรมส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่อง จัดตั้งหน่วยชงชิมตามห้างสรรพสินค้าทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการทดลองชิมและเพื่อเผยแพร่ความรู้แก่ลูกค้า รวมถึงการจัดโปรแกรมคูปองส่วนลดพิเศษให้แก่ลูกค้า และแจกผลิตภัณฑ์ตัวอย่างชนิดซองอีกด้วย กลยุทธ์การตลาดที่น่าสนใจของค่ายเนสท์เล่ก็คือ กลยุทธ์ในการดึงผู้บริโภค (PULL STRATEGY) ให้เข้ามาซื้อสินค้าควบคู่ไปกับการดำเนินกลยุทธ์การให้พนักงานขายและตัวแทนจำหน่ายทั่วประเทศช่วยผลักดันสินค้าออกจากบริษัทสู่ตลาด (PUSH STRATEGY) ซึ่งนอกจากการจัดตั้งหน่วยชงชิมและแจกตัวอย่างผลิตภัณฑ์แล้ว ยังจะมีพนักงานขายแนะนำผลิตภัณฑ์ คอยให้ความรู้แก่ลูกค้าโดยตรง รวมทั้งยังมีระบบการควบคุมการดำเนินงานให้เป็นไปตามแผนการตลาด โดยพนักงานขายทำการรายงานตรวจสอบยอดขายดำเนินการวิจัยประสิทธิภาพในการโฆษณา วิจัยผู้บริโภค และเช็คยอดขายจากร้านค้าเพื่อหาข้อบกพร่องมาแก้ไขต่อไป
– บริษัทกรีนสปอต (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตนมถั่วเหลืองบรรจุขวด และนมถั่วเหลืองยูเอชทีตราไวตามิลค์ โดยบริษัทดีทแฮล์ม จำกัด เป็นผู้จัดจำหน่าย ค่ายไวตามิลค์ครอบครองตลาดส่วนใหญ่ของนมถั่วเหลืองบรรจุขวด และปี 2533 เริ่มรุกคืบ ขยายตลาดนมถั่วเหลืองยูเอชที ปรับปรุงผลิตภัณฑ์ใหม่ และเริ่มออกวางจำหน่ายตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2533 เป็นต้นมา ยอดขายนมถั่วเหลืองของค่ายไวตามิลค์เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าตัว กลยุทธ์ทางการตลาดต่อไปพยายามดึงร้านค้าให้สต็อกสินค้าของบริษัทให้มากขึ้น รวมทั้งเตรียมขยายโรงงานเพื่อเตรียมรองรับการเจริญเติบโตของตลาดนมถั่วเหลืองด้วย สำหรับนมถั่วเหลืองบรรจุขวดขณะนี้การส่งเสริมการขายจะพยายามให้ผู้บริโภคจดจำสินค้าได้
ที่มา:ส่วนวิจัยเกษตรกรรม ฝ่ายวิชาการ ธนาคารกสิกรไทย