คูน:ทำลายระบบประสาทของแมลง

ต้นไม้ที่มักพบเห็นตามริมถนน ซึ่งจะปลูกเอาไว้เป็นไม้ประดับจะออกดอกกันในช่วงฤดูร้อน มีสีเหลือง เวลาออกดอกกันแต่ละทีว่ากันได้ว่าจะเหลืองอร่ามตากันทั้งต้นเลย ทำให้เวลาที่มองดูแล้วจะเป็นภาพที่สวยงามมาก ต้นไม้ที่กล่าวถึงนี้ก็คื ต้นคูนนั่นเอง ซึ่งในภาคอีสานจะปลูกต้นคูนกันค่อนข้างมาก นอกจากจะปลูกเอาไว้เป็นไม้ประดับกันแล้ว ฝักคูนนี้ยังใช้รักษาอาการท้องผูก และยังใช้เป็นยาระบายสำหรับสตรีมีครรภ์ได้เป็นอย่างดีทีเดียว รวมถึงยังใช้เป็นสมุนไพรในการฆ่าแมลงในแปลงผักได้อีกตัวหนึ่งด้วย

คูน

คูนเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีความสูงประมาณ 15 เมตร มีใบเป็นช่อ ช่อหนึ่งจะมีใบย่อย 8-16 ใบ มีลักษณะเป็นรูปไข่ยาวประมาณ 6-15 ซม. ปลายใบจะแหลม ดอกเป็นช่อระย้าสีเหลือง มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ ซึ่งจะพบว่า จะออกดอกสีเหลืองเต็มต้นซึ่งสวยงามมาก ผลเป็นฝักเรียบไม่มีขนรูปทรงกระบอกยาว ตรงปลายจะแหลมและสั้น เมื่อฝักยังอ่อนจะมีสีเขียว เมื่อแก่จัดเต็มที่จะเปลี่ยนสีจากสีเขียวเป็นดำ มีความยาวประมาณ 16-30 นิ้ว ภายในฝักแบ่งเป็นช่อง ๆ เช่นเดียวกับมะขาม ซึ่งในแต่ละช่องจะมี 1 เมล็ด คูนปลูกโดยการเพาะเมล็ดและการตอนกิ่งเป็นไม้ที่ปลูกง่ายปลูกได้ในดินแทบทุกชนิด แต่ชอบดินร่วนปนทราย

ชื่อวงศ์ LEGUMINOSAE

ชื่อวิทยาศาสตร์ Cassia fistula Linn.

ชื่ออื่น ๆ ลมแล้ว (ภาคเหนือ) ลักเกลือ ลักเคย (ปัตตานี) ชัยพฤกษ์ ราชพฤกษ์ (ภาคกลาง) กึเพยะ (กะเหรี่ยง)

ประสิทธิภาพ

เนื้อฝักคูนจะมีสารประเภท Antraquinones หลายตัว เช่น Aloin Rhein Sennoside A,B และยังมี Organic acid สาร Antraquinone ทำให้เนื้อฝักคูนมีฤทธิ์เป็นยาถ่าย โดยจะไปกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้เหมาะสำหรับคนท้องผูก เป็นประจำ นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ต่อระบบประสาทของแมลงอีกด้วย

การใช้ประโยชน์

นำฝักคูนมาบดให้ละเอียด แล้วผสมกับน้ำในอัตราส่วน ฝักคูน 1 กก.ต่อน้ำ 20 ลิตร ทิ้งเอาไว้ประมาณ 3-4 วัน จากนั้นให้กรองด้วยผ้าขาวบางเอาแต่น้ำ แล้วนำไปฉีดฆ่าแมลงในแปลงผักหรือแปลงถั่วลิสง ซึ่งจะสามารถฆ่าพวกหนอนกระทู้หอมและหนอนกระทู้ผักได้

เอกสารอ้างอิง : ดร.วิทย์  เที่ยงบูรณธรรม พจนานุกรมไทย พิมพ์ครั้งที่ 4 กรุงเทพฯ ประชุมทองการพิมพ์ ยาสมุนไพร สำหรับงานสาธารณสุขมูลฐาน สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข วารสารเทคโนโลยีที่เหมาะสม ปีที่ 8 ฉบับที่ 3