จามจุรี

(Monkey ‘Pod, Rain Tree)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Samanea saman (Jacq.) Merr.
ชื่อวงศ์ LEGUMIMOSAE – MIMOSOIDEAE
ชื่ออื่น ก้ามปู จามจุรีสีชมพู ฉำฉา ซึก ตุ๊ดตู่
ถิ่นกำเนิด อเมริกาเขตร้อนไปจนถึงบราซิล
ลักษณะทั่วไป ไม้ต้นขนาดใหญ่ สูง 15-30 ม. ขนาดทรงพุ่ม 20-40 ม. ไม่ผลัดใบ ทรงพุ่มรูปร่มแผ่กว้าง เปลือกต้นสีน้ำตาลดำ แตกเป็นร่องลึกตามแนวยาวแล้วเปลือกที่กั้นสลับร่องลึกแตกเป็นกาบหนา มีรูปร่างไม่แน่นอน หลุดล่อนได้ง่าย


ใบ ใบประกอบแบบขนนกสองชั้นปลายคู่เรียงเวียนสลับแกนกลาง ใบประกอบยาว 10-18 ซม. แยกแขนงตรงข้าม 3-5 คู่ ยาว 10-20 ซม. ใบย่อย 4-8 คู่ เรียงตรงข้าม รูปรีแกมรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนเบี้ยว กว้าง 1-4 ซม. ยาว 1.5-6 ซม. ปลายใบมนหรือมีติ่งแหลมเล็กๆ โคนใบมนและเบี้ยว ขอบใบเรียบ แผ่นใบบางแต่ค่อนข้างเหนียว สีเขียวเข้มเป็นมัน ผิวใบด้านล่างมีขนละเอียด


ดอก สีชมพู ออกเป็นช่อแบบช่อกระจุกแน่นรูปซี่ร่มที่ปลายกิ่ง ช่อดอก ตั้งยาว 10-15 ซม. กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น 7-8 แฉก กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น 5 แฉก เกสรเพศผู้สีชมพูจำนวนมาก เส้นผ่านศูนย์กลางช่อดอก 5-6 ซม. ออกดอกเดือน ส.ค.-ก.พ.
ผล ผลแห้ง เป็นฝักหนา รูปขอบขนานโค้งเล็กน้อย กว้าง 1.5-2.5ซม. ยาว 15-20 ซม. ขอบหนาเป็นสันทั้งสองข้าง สีเขียวสด เมื่อสุกสีดำ เป็นมันมีเนื้อนิ่ม เมล็ดรูปรีสีน้ำตาล 10-18 เมล็ดต่อฝัก ติดผลเดือน พ.ย.-ก.ค. ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด
นิเวศวิทยา พบมากบริเวณป่าโปร่งหรือที่นาดอนรกร้าง
การใช้ประโยชน์ เป็นไม้ประดับที่ปลูกง่ายโตเร็ว เนื้อไม้มีลายสวย ปัจจุบันใช้ทำงานแกะสลักแทนไม้สัก
การใช้ประโยชน์ด้านสมุนไพร ใบ รสเย็นเมา ทำให้เย็น ดับพิษ แก้ปวดแสบปวดร้อน เมล็ด รสฝาดเมา แก้โรคผิวหนัง กลากเกลื้อน เรื้อน แก้เยื่อตาอักเสบ เปลือกต้น รสฝาด สมานแผลในปากคอ แก้โรค เหงือกบวม แก้ปวดฟัน แก้ริดสีดวงทวารหนัก แก้ท้องร่วง แก้โลหิตตกใน
หมายเหตุ ต้นไม้ประจำจังหวัดลำพูน
ที่มา:วัลลิ์รุกขบุปผชาติ ตามรอยพระบาทบรมราชกุมารี โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย