จำปาดะ:ต้นแห้งตายโรคใหม่ของจำปาดะขนุน(Artocarpus sp.(Merr.) Thumb)

จำปาดะขนุน (Artocarpus sp.) ไม้ผลลูกผสมระหว่างจำปาดะและขนุน เป็นไม้ผลที่มีชื่อเสียงมากของ ต.เกาะยอ จ.สงขลา ในปี 2532 พบว่า ต้นจำปาดะขนุนอายุระหว่าง 6-100 ปี แห้งตายโดยหาสาเหตุไม่ได้  สำนักงานเกษตรจังหวัดสงขลารายงานว่า พืชในตระกูลขนุนตายด้วยโรคอาการเดียวกันนี้จำนวน 340 ต้น เป็นจำปาดะขนุน 321 ต้น อีก 19 ต้นเป็นจำปาดะพื้นบ้านและขนุน (รายงานความเสียหายโรคต้นแห้งตายของสำนักงานเกษตรจังหวัดสงขลา,ยังไม่ตีพิมพ์) อาการที่สังเกตพบคือมียางสีขาวไหลจากเปลือกของลำต้นหรือกิ่งของต้นที่มีอายุน้อยและสีน้ำตาลจากต้นที่มีอายุมาก เมื่อถากดูจะพบว่าด้านในของเปลือกมีแถบสีน้ำตาลเข้มยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร ลึก 1 มิลลิเมตร เนื้อไม้ใต้เปลือกพบริ้วสีน้ำตาลเช่นกันผลร่วง ใบเปลี่ยนเป็นสีส้มและร่วง กิ่งและลำต้นแห้งตาย ต้นที่ถูกเชื้อเข้าทำลายอาจตายหรือไม่ตาย ต้นที่ไม่ตายทรุดโทรมมาก หากการบำรุงรักษาดีพบว่าต้นจำปาดะขนุนที่เป็นโรคมีการสร้างเปลือกใหม่ และอาจให้ผลผลิตภายใน 3 ปี

โรคต้นแห้งตายของจำปาดะขนุนนี้ในประเทศไทยยังไม่เคยมีรายงานมาก่อน  สำหรับในต่างประเทศ Lim(1983) รายงานพบโรค branch die-back บนขนุน (A.heterophyllus) และจำปาดะ (A. integer) โรคดังกล่าวทำความเสียหายให้กับพื้นที่ปลูกขนุนในประเทศมาเลเซียถึง 20 เฮกแตร์ จากพื้นที่ปลูก 50 เฮกแตร์ จากการศึกษาลักษระทางสัณฐานวิทยา สรีรวิทยา และชีวเคมี Lim พบว่าเชื้อ Erwinia carotavora var. carotovora เป็นสาเหตุของโรค  นอกจากนี้ในประเทศสหรัฐอเมริการก็มีรายงานโรคที่มีอาการคล้ายคลึงกันใน walnut ได้แก่ โรค bark canker และ phloem canker ซึ่งเกิดจากเชื้อ E. nigrifluens (Wilson และคณะ 1957) และ E. rubrifaciens (Wilson, et al., 1967) ตามลำดับ ในการศึกษาครั้งนี้มุ่งเน้นในการหาสาเหตุที่แท้จริงของโรคนี้ในประเทศไทย

สรุปผลการศึกษา

จากเชื้อบริสุทธิ์ชนิดเดียวกันจำนวนมากที่แยกได้จากจำปาดะขนุนที่แสดงอาการโรคทุกตัวอย่างโรค รวมทั้งการศึกษาเนื้อเยื่อและตรวจพบแบคทีเรียหรือกลุ่มของแบคทีเรียจำนวนมากในส่วนของ phloem fiber และ ray parenchyma ทำให้สันนิษฐานได้ว่าโรคนี้เกิดจากแบคทีเรีย เมื่อนำมาทดสอบความสามารถในการทำให้เกิดโรคบนต้นจำปาดะขนุนทั้งบนต้นกล้าอายุ 3 เดือน และต้นที่มีอายุประมาณ 12 ปี พบว่าพืชแสดงอาการโรคไม่เด่นชัดนัก ทั้งนี้อาจเนื่องจากวิธีการปลูกเชื้อไม่เหมาะสม  สภาพแวดล้อมไม่เหมาะสมหรืออื่น ๆ รวมทั้งในขณะที่ทำแผลเพื่อปลูกเชื้อพบว่ามียาง (latex) ไหลออกมาจากแผลนั้น ๆ ยางนี้อาจมีผลทำให้ปิดกั้นการเข้าทำลายของเชื้อหรือทำให้เชื้อทำลายไม่สะดวก อันเป็นกลไกหนึ่งเพื่อการอยู่รอดของพืช (Agrios,1978) อย่างไรก็ตามจากลักษณะของแผลที่ปรากฎมีแนวโน้มว่าเชื้อสามารถทำให้เกิดโรคกับจำปาดะขนุนได้  แต่จำเป็นต้องอาศัยเวลาในการพัฒนาการเกิดโรค และปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมยิ่งขึ้น ซึ่งจะต้องมีการศึกษาต่อไป

ดังที่ได้กล่าวแล้วว่า  อาการของโรคนี้คล้ายคลึงกับที่พบกับขนุนและจำปาดะในมาเลเซีย (Lim,1983) และพบกับ walnut (Wilson, et al., 1957) จึงได้ทำการศึกษาลักษณะทางสัณฐานวิทยา สรีรวิทยา และชีวเคมี  ซึ่งลักษณะของเชื้อจากการศึกษาด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนทั้งแบบส่องกราดและลำแสงผ่านพบว่าแบคทีเรียมีรูปร่างเป็นท่อนขนาด 0.72-0.78×2.9-4.7 ไมครอน มักอยู่เดี่ยว ๆ เคลื่อนไหวได้ด้วย flagella 4-5 เส้นแบบรอบตัว ลักษณะโคโลนีกลมผิวหน้านูนเป็นมัน ขอบเรียบ สีขาวโปร่งแสง ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 มิลลิเมตร gram negative เจริญได้ทั้งในสภาพที่มี O2 และ ไม่มี O2 ไม่สร้างสปอร์ และอื่น ๆ ซึ่งจำแนกได้ว่าเชื้อตัวนี้จัดอยู่ใน genus Erwinia

Lim (1983) รายงานว่า branch die-back disease ของขนุนและจำปาดะเกิดจากเชื้อ E. carotovora var. carotovora ซึ่งเป็นเชื้อที่จัดอยู่ใน carotovora group เชื้อในกลุ่มนี้มีลักษณะเด่นคือ สามารถทำให้มันฝรั่งเน่าและสามารถย่อย gelatin ได้ภายใน 1 สัปดาห์ แต่จากการศึกษาโดยใช้เชื้อจากจำปาดะขนุนพบว่า ไม่สามารถทำให้มันฝรั่งเน่าและไม่ย่อย gelatin ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าเชื้อที่แยกได้จากจำปาดะขนุนทั้ง 8 isolates นี้แตกต่างจากเชื้อสาเหตุที่รายงานโดย Lim และเมื่อศึกษาเปรียบเทียบกับเชื้อ E. rubrifaciens, E.quercina, E.salicis และ E.nigrifluens ใน amylovora group ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคกับไม้ยืนต้นได้ พบว่านอกเหนือจากลักษณะหลายประการที่คล้ายคลึงกันในทั้ง 4 species แล้ว เชื้อที่แยกจากจำปาดะขนุนยังมีคุณสมบัติเหมือนกับ E.nigrifluens คือ สามารรถสร้างเอนไซม์ urease เพื่อย่อยสารยูเรียซึ่งประกอบอยู่ในอาหารทดสอบได้  ไม่สามารถสร้างเม็ดสีสีชมพูบนอาหารเลี้ยงเชื้อ YDC สามารถเจริญได้ในอาหารเลี้ยงเชื้อแม้ไม่มีอินทรียสารเป็นองค์ประกอบ เจริญเติบโตและให้โคโลนีสีเหลืองส้มบนอาหารเลี้ยงเชื้อ MS ในขณะที่ E.rubrifaciens สร้างเม็ดสีสีชมพูบนอาหารเลี้ยงเชื้อ YDC เชื้อ E.quercina ต้องการอินทรียสารในการเจริญเติบโต E.salicis ไม่ให้โคโลนีสีเหลืองส้มบนอาหาร MS และทั้งสาม species หลังนี้ไม่สามารถสร้างเอนไซม์ urease เพื่อย่อยสาร YDC เชื้อ  E.quercina ประกอบยูเรียได้ จึงเห็นได้ว่าเชื้อที่แยกจากจำปาดะขนุนนี้มีคุณสมบัติสอดคล้องกับ E.nigrifluens ดังกล่าวข้างต้น

นอกจากนี้เชื้อทั้ง 8 isolates สามารถใช้น้ำตาลเป็นแหล่งคาร์บอน พร้อมทั้งสร้างกรดจาก aesculin, cellobiose, glycerol, inositol, lactose, mannitol, raffinose, rhamnose, ribose, salicin, trehalose และ xylose ไม่สร้างกรดจาก adonitol, dulcitol, melibiose, – methylglucoside, sorbitol และ starch สามารถใช้ sodium tartrate และไม่ใช้ sodium citrate, sodium galacturonate เป็นสารประกอบอินทรียในการเจริญ ซึ่งลักษณะทั้งหมดนี้เหมือนกับ E.nigrifluens ซึ่งบรรยายไว้โดย Fahy และ Persley(1983) และ Schaad (1983) จึงสรุปว่าเชื้อที่แยกได้นี้คือ Erwinia nigrifluens

ที่มา:เสมอใจ  ชื่นจิตต์ และบรรหาร  วิสมิตตะนันท์

วารสารโรคพืช มกราคม-มิถุนายน 2533