จำปาดะ

(Champadak)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Artocarpus integer (Thunb.) Merr.
ชื่อวงศ์ MORACEAE
ชื่ออื่น จำดะ จำปา
ถิ่นกำเนิด มาเลเซียและภาคใต้ของประเทศไทย
ลักษณะทั่วไป ไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง 8-15 ม. ขนาดทรงพุ่ม 8-12 ม. ไม่ผลัดใบ ทรงพุ่มกลมแน่นทึบ คล้ายขนุน เปลือกต้นสีนํ้าตาลอมดำ เรียบ หรือแตกเป็นร่องตื้นๆ ตามแนวยาว


ใบ ใบเดี่ยว เรียงเวียนสลับ รูปขอบขนาน กว้าง 6-8 ซม. ยาว 15-18 ซม. โคนใบมน ปลายใบติ่งแหลม ขอบใบเรียบเป็นคลื่นเล็กน้อย แผ่นใบเรียบ ค่อนข้างหนาและเหนียว สีเขียวเข้มเป็นมัน มีขนปกคลุม ประปราย ผิวใบด้านล่างมีขนปกคลุมแน่น ก้านใบยาว 1-1.5 ซม.


ดอก สีเหลืองนวล ออกเป็นช่อกระจุกแน่น ทรงกลมรี ที่ลำต้น หลักมากกว่ากิ่งแก่หรือปลายกิ่ง กว้าง 1.5-2 ซม. ยาว 7-12 ซม. ก้านช่อดอกพองกลม ยาว 10-20 ซม. ไม่มีกลีบเลี้ยงและกลีบดอก เกสรเพศผู้จำนวนมาก ออกดอกเดือน มี.ค.-เม.ย.
ผล ผลสดแบบมีเนื้อ เป็นผลรวม รูปรีหรือทรงกลมยาว กว้าง 15-20 ซม. ยาว 30-45 ซม. มีหนามเป็นตุ่มๆ ไม่แหลม สีเขียวอมเหลือง เมื่อสุกสีนํ้าตาลอมเหลืองและมีกลิ่นหอม น้ำหนักต่อผล 3-5 กก. เมล็ด มีเนื้อสีเหลืองห่อหุ้ม เนื้อบางอ่อนนุ่มและรสหวานกว่าขนุน เมล็ดหนา รูปไข่ สีน้ำตาลอ่อนขนาดใหญ่ 1 เมล็ดต่อผลย่อย ติดผลเดือน พ.ค.-ก.ค. ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด ทาบกิ่งหรือติดตา
นิเวศวิทยา พบการปลูกเลี้ยงทั่วไปในภาคใต้
การใช้ประโยชน์ ผลสุกมีรสหวาน บริโภคผลสด หรือนำมาทอดกับแป้งเป็นขนมจำปาดะ เมล็ด นำมาเผาหรือเสริมเครื่องแกงมัสมั่น แกงไตปลา และแกงกะทิ
ที่มา:วัลลิ์รุกขบุปผชาติ ตามรอยพระบาทบรมราชกุมารี โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย