จำปีผลทางเภสัชวิทยา


ชื่ออื่น แปะหลั่งฮวย (แต้จิ๋ว) ป๋ายหลานฮัว (จีนกลาง) White Champaka
ชื่อวิทยาศาสตร์ Michelia alba DC.
( M. longifolia BI. )
วงศ์ Magnoliaceae


ลักษณะต้น เป็นไม้ยืนต้นโตเต็มที่อาจสูงถึง 20 เมตร แตกกิ่งก้านเป็น พุ่ม กิ่งก้านเปราะหักง่าย ใบเดี่ยวออกสลับกัน ก้านใบยาว 1.5-2 ซม. ตัวใบรูปมนรี ยาว 10-25 ซม. กว้าง 4-9 ซม. ไม่มีขนปกคลุม ดอก เดี่ยวยาว 3-5 ซม. ออกตรงซอกใบ สีขาวนวล มีกลิ่นหอม กลีบดอก ค่อนข้างแข็ง รูปยาวเรียวซ้อนกันประมาณ 8-10 กลีบ เกสรตัวผู้ยาว คล้ายเมล็ดข้าวสารมีจำนวนมากล้อมเป็นวงแน่น เกสรตัวเมียเป็นแท่ง กลมเล็ก ยอดแหลมคล้ายฝักข้าวโพดเล็กๆ อยู่กลางเกสรตัวผู้ มีหลายรังไข่ ปลูกเป็นไม้ประดับ ออกดอกตลอดปี เจริญดีในดินร่วนซุย ขยายพันธุ์โดยการตอนกิ่ง
ส่วนที่ใช้ ใบ
สรรพคุณ
ระงับไอ แก้หลอดลมอักเสบเรื้อรัง ต่อมลูกหมากอักเสบ และขับระดูขาว
ตำรับยาและวิธีใช้
ใช้ใบแห้ง 10-15 กรัม ต้มนํ้ากิน สำหรับระงับไอ และแก้หลอดลม
อักเสบ
รายงานทางคลีนิค
หลอดลมอักเสบเรื้อรัง ใช้ใบสด 600 กรัม เติมน้ำ 1.2 กก. (1.2 ลิตร) กลั่น 2 ครั้งจนได้นํ้ายา 150 กรัม(ความเข้มข้น 4:1) ให้ผู้ป่วยกินน้ำยาขนาด 20 มล. วันละ 3 ครั้งหลังอาหารเป็นระยะเวลา 10 วัน โดยจำแนกการรักษาเป็น 3 แบบ พบว่า
1. ผู้ป่วยจำนวน 83 ราย กินแต่น้ำยาอย่างเดียว มีอาการดีขึ้น และไม่แสดงอาการชั่วคราว 24 ราย, สังเกตได้ว่าอาการดีขึ้น 21 ราย, ดีขึ้นชั่วคราว 23 ราย, ไม่ได้ผล 15 ราย
2. ผู้ป่วย 25 ราย กินนํ้ายาร่วมกับการฉีดน้ำมันถั่วลิสง 0.5 มล. 1 ครั้งบนจุดปอด (จุดที่ใช้ปักเข็ม) ได้ผล 22 ราย ไม่ได้ผล 3 ราย
3. ผู้ป่วย 120 รายกินนํ้ายาร่วมกับการให้กินยาเม็ดที่เตรียมจาก เหลี่ยวกออ้วง ( Wikstroemia indica (L.) C.A. May) ได้ผล 93 ราย ไม่ได้ผล 27 ราย
นํ้าสกัดจากใบจำปี มีฤทธิ์ในการระงับไอและหอบแต่เพียงชั่วคราวเท่านั้น ส่วนฤทธิ์ในการขับเสมหะและแก้อักเสบมีน้อยมาก ในผู้ป่วยที่รักษาได้ผล พบว่าอาการค่อยๆ ดีขึ้นภายในเวลา 1-5 วัน และเริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ ภายใน 6-10 วัน
หลังจากหยุดยาแล้ว 3-6 เดือน ผู้ป่วยบางส่วนกลับมีอาการอีก (ในระดับความรุนแรงต่างๆ กัน) สำหรับผู้ป่วยที่รักษาแบบที่สองและ สาม พบอาการที่กลับเป็นอีกมีจำนวนน้อยกว่าผู้ป่วยที่รักษาโดยการดื่ม นํ้ายาเพียงอย่างเดียว
ผลทางเภสัชวิทยา
นำของเหลวที่ได้จากการกลั่นใบและดอก ความเข้มข้น 4 : 1 ทดลองกับสัตว์ มีฤทธิ์ระงับอาการไอ (ทำให้ไอโดยการรมแอมโมเนีย) และขับเสมหะ (ทำให้เกิดเสมหะด้วย phenol red) สำหรับฤทธิ์ในการระงับอาการหอบมีน้อย
สารเคมีที่พบ
ใบสด  มีนํ้ามันหอมระเหย 0.7% ประกอบด้วย linalool, methyl- eugenol, phenylethyl alcohol อัลคาลอยด์และสารพวก phenol.
ที่มา:สำลี  ใจดี, สุนทรี  วิทยานารถไพศาล, รพีพล  ภโววาท, จิราพร  ลิ้มปานานนท์, นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี, วิทิต  วัณนาวิบูล