จิปซอฟฟิลา(Gypsophila)


ลักษณะทั่วไป
เป็นไม้ดอกที่ต้องการความดูแลเอาใจใส่สูง และความอดทนค่อนข้างมากในการปลูก อายุพืชยืนยาวและสามารถทำการตัดดอกได้ถึง 2 รุน ถ้าการจัดการพืชดี ในฤดูฝนต้องปลูกในโรงเรือนพลาสติค เพื่อลดโอกาสการเกิดโรค ควรส่งเสริมให้เฉพาะเกษตรกรที่สนใจและมีฝีมือปลูกเท่านั้น ต้องปลูกบนที่สูงมากกว่า 1000 เมตรขึ้นไป
ข้อมูลการผลิต
พันธุ์ Bristol Fairy และ Red Sea
ฤดูปลูก ตลอดปี
ความสูง 1000 เมตรขึ้นไป
ความเป็นกรดด่างของดิน 5-6
ชนิดของดิน ร่วนปนทราย ระบายน้ำดี
ระยะปลูก(ต้นxแถว)    50×50 ซม.
จำนวนต้น 4 ต้น/ตร.ม.
ความกว้างของร่อง 1 เมตร
ความห่างระหว่างร่อง 50 ซม.
อายุพืช ช่วงปักชำ 30 วัน
ช่วงปลูก 30-60 วัน
ช่วงดูแลรักษา 90-120 วัน
ช่วงเก็บเกี่ยว 20-30 วัน
และหลังจากนั้นอีก 3 เดือน (เก็บได้ 2 รุน)
ข้อมูลเกี่ยวกับต้นทุนและผลตอบแทน ยังไม่มีรายงาน
ข้อจำจัดในการส่งเสริม
เป็นพืชใหม่สำหรับเกษตรกร ต้องหมั่นให้คำแนะนำและติดตามผลเพื่อให้เกษตรกรเกิดความสนใจ เพราะเทคนิคการเพาะปลูกค่อนข้างยาก อาจมีปัญหาต้องการสินเชื่อเพราะต้องใช้ทุนสูง (ค่าโรงเรือนพลาสติค ยาและปุ๋ย) งานส่งเสริมยังขยายตัวช้า เลือกเกษตรกรที่จะส่งเสริมให้ปลูกเพียงไม่กี่ราย เพราะเกษตรกรอาจเบื่อ หันไปสนใจดูแลพืชอื่นแทน เนื่องจากการปลูก จิบซอฟฟิลา ต้องใช้เวลานาน
การตลาด
ตลาดอาจสนใจ ถ้ามีการผลิตดอกซึ่งมีคุณภาพ เพราะขายพร้อมกับคาร์เนชั่นได้ดี อัตราการสูญหายยังไม่ทราบชัด เนื่องจากปริมาณออกจำหน่ายยังน้อยอยู่ ไม่ควรให้ดอกถูกอากาศร้อนระหว่างการขนส่ง จะทำให้เหี่ยว ราคาสูงในฤดูฝน (50-80 บาท/100 กรัม) ถ้ามีการปลูกมากขึ้น คาดว่าราคาจะลดลงเหลือ 40-50 บาท ต่อกำขนาด 100 กรัม การรักษาคุณภาพดอกทำได้ โดยใช้สำลีชุบน้ำหุ้มปลายก้านเมื่อขนส่งไปจำหน่าย
ข้อแนะนำเกี่ยวกับเทคนิคการเพาะปลูก
ศัตรูพืชและโรค
ศัตรูพืช
เพลี้ยอ่อน พบช่วง ก.พ.-พ.ค. ดูดกินน้ำเลี้ยงปลายใบ ป้องกันแก้ไขโดยใช้ แลนเนท หรือ อโซดริน สัปดาห์ละครั้ง ตลอดระยะเวลานี้
หนอนใย (Diamond Back Moth-Plutella sp.) พบช่วง มี.ค.-พ.ค. สังเกตจากใบถูกกัดกิน ใช้แลนเนท เมื่อพบตัวหนอน หรือใช้สัปดาห์ละครั้ง เป็นการป้องกัน
โรค
โรคเน่า เกิดจากเชื้อRhizoctonia และ Fusarium เมื่ออากาศชื้นพบได้ทุกระยะการเจริญเติบโตของพืช สังเกตจากต้นเหี่ยว กิ่งชำจะเน่าป้องกันแก้ไขโดยใช้ เทอร์ราคลอร์ หรือ บราสซิคอล ทุก 2 สัปดาห์หลังปลูก ต้นที่เป็นโรคให้ถอนทิ้งทำลายเสีย
โรคใบจุด เกิดจากเชื้อในอากาศทำให้เป็นแผลจุดสีน้ำตาลบนใบ ป้องกันแก้ไขโดยใช้ ไดเทนเอ็ม 45 สลับกับ เบนเลท สัปดาห์ละครั้งตลอดปี
ปัจจัยที่ต้องการ(ต่อพื้นที่ปลูก 1 ตร.ม.)


ข้อควรปฏิบัติ
ช่วงการเพาะกล้า
การขยายพันธุ์ ทำได้ 4 วิธี ใช้เมล็ด เสียงกิ่ง เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อและกิ่งชำ (ซึ่งนิยมมากที่สุด) การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อมักใช้เพื่อผลิตต้นแม่พันธุ์
การเพาะกิ่งชำ ทำโดยใช้มีดหรือกรรไกรที่คม ตัดหน่อซึ่งงอกจากโคนยาว 6-7 ซม. แช่ในน้ำยากันเชื้อรา เบนเลท ผสมสารจับใบเป็นเวลา 3 นาที ผึ่งกิ่งให้แห้ง จุ่มโคนกิ่งด้วยฮอร์โมนน้ำเร่งราก ผึ่งให้โคนกิ่งแห้งแล้วปักชำในขี้เถ้าแกลบในกะบะเพาะ ให้น้ำโดยวิธีพ่นฝอยตลอดเป็นเวลา 15 วัน เมื่อรากเริ่มงอก ย้ายปลูกลงถุงขนาด 4”x6” บรรจุส่วนผสมของดิน ปุ๋ยขี้วัวและขี้เถ้าแกลบ ทิ้งไว้ 30-60 วันจนต้นแข็งแรง จึงย้ายลงแปลงปลูก ใช้ปุ๋ย 27-0-0 ผสมน้ำรด สัปดาห์ละครั้ง นับตั้งแต่ปลูกลงถุง ฉีดด่นปุ๋ย ไบโฟลาน ผสมยาเคมีป้องกันโรคและแมลงสัปดาห์ละครั้ง ถ้าการเตรียมแปลงปลูกยังไม่พร้อม ให้เลี้ยงต่อในถุง ทำการเด็ดยอดทิ้งให้แตกหน่อข้างก่อนเวลาที่จะย้ายปลูก
ข้อควรระวัง
1. ในช่วงกล้านี้ ถ้ากิ่งชำมีโรคเน่าที่เกิดจากเชื้อรา จะติดต่อระบาด ทำให้กิ่งชำเสียหายหมดทั้งรุ่น
2. ทำการย้ายกิ่งชำลงถุง ก่อนที่รากงอกยาวเกินไปจนหักเสียหายได้
3. ทากและหอยทากมักกัดกินใบ และยอดต้นอ่อน พบมากบริเวณที่ชื้น ถ้ามีปัญหา ใช้วางเหยื่อพิษในบริเวณแปลงเพาะชำ
ช่วงการปลูก
ขุดพลิกดินตากแดดไว้ 7 วัน ใช้จอบขุดหลุมปลูกระยะห่าง 50×50 ซม. รองพื้นหลุมด้วยส่วนผสมปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก ปุ๋ย 15-15-15 และฟูราดาน นำกล้ามาปลูกให้โคนต้นเสมอกับระดับดิน ราดโคนต้นด้วย คูปราวิท ป้องกันโรคเน่า
ข้อควรระวัง
แปลงปลูกไม่ควรมีปัญหาโรคเน่าจากเชื้อ Rhizotonia และ Fusarium มาก่อน เพราะพืชนี้อ่อนแอ ควรปลูกในโรงเรือนพลาสติค หรือที่มีหลังคา ป้องกันน้ำมีมากเกินไป
ช่วงการดูแลรักษา
หลังย้ายปลูก 1 สัปดาห์ ใช้ปุ๋ย 27-0-0 ผสมน้ำรดสัปดาห์ละครั้ง (เป็นจำนวน 8 ครั้งตลอดช่วงนี้ป หลังย้ายปลูก 30-40 วัน โรยปุ๋ย 15-15-15 อัตรา 1 ช้อนแกง/ต้น รอบต้นพืชในรัศมี 20 ซม. กลบปุ๋ยแล้วรดน้ำ ทำซ้ำอีกใน 30 วัน และ 60 วันต่อมา (รวม 3 ครั้ง) เมื่อพืชอายุ 90-120 วัน เมื่อต้นเริ่มแตกหน่อข้าง ให้เปลี่ยนไปใส่ปุ๋ย 12-24-12 แทนเพียงครั้งเดียว
พืชตั้งตัวดีแล้ว 10-14 วัน ทำการเด็ดยอดให้หน่อแตกออกข้างแต่งหน่อให้เหลือเพียงต้นละ 3-4 กิ่งต่อต้น เมื่อตัดดอกรุ่นแรกหมดแล้ว ตัดแต่งกิ่งเก่าออกจากโคนให้หมด เหลือแต่ต้นเดิมซึ่งจะแตกหน่อใหม่ให้ดอกรุ่นต่อไป คอยตัดแต่งให้เหลือเพียง 4-5 หน่อต่อต้น (จำนวนมากกว่าเดิม เพราะต้นสมบูรณ์ขึ้น) หน่อที่ตัดออกไป ใช้นำไปปักชำเป็นต้นใหม่ได้
หลังจากตัดดอกรุ่นแรก และตัดแต่งลำต้นแล้ว ใส่ปุ๋ย 27-0-0 เพื่อเร่งการเจริญเติบโต ให้ปุ๋ย 15-15-15 อีก 2 ครั้งแล้วเปลี่ยนเป็นปุ๋ย 12-24-12 อีกหนึ่งครั้ง จนกระทั่งตัดดอก ราดยาคูปราวิท ป้องกันโรคเน่า
หลังการตัดแต่งลำต้นรุ่นแรก และให้ปุ๋ยแล้ว เฉพาะในสัปดาห์แรกควรให้น้ำพืชเพียงเล็กน้อย (3 ครั้ง/สัปดาห์) จนกว่าหน่อใหม่จะเกิด เพราะเป็นช่วงที่พืชไวต่อการเป็นโรคเน่ามาก ถ้าชื้นเกินไป หลังจากนั้นให้น้ำวันละครั้ง
ช่วงการเก็บเกี่ยว
ตัดดอกเมื่อดอกคลี่บานได้ 50% โดยเริ่มตัดช่อย่อยตรงกลางก่อนและค่อยตัดช่อข้าง เมื่อดอกเริ่มคลี่โดยตัดให้ก้านยาว 50-60 ซม. ริดใบทิ้งให้หมดแล้ว เข้ากำทีละ 100 กรัมหรือประมาณ 10 ช่อ หุ้มปลายก้านด้วยสำลีชุบน้ำ ห่อช่อดอกด้วยกระดาษและบรรจุลงกล่องให้แยกออกเป็นพวกสีชมพูแลสีขาว การตัดดอกจะทำได้ 2-3 รุ่นในต้นเดียวกัน
ข้อควรระวัง
1. ถ้าตัดดอกตูมเกินไป จะเหี่ยวง่าย แต่ถ้าตัดดอกบานมากเกินไป ดอกบางส่วนอาจจะแก่เกินไปเมื่อไปถึงตลาด
2. เก็บรักษาดอกที่ตัดแล้วอยู่ในสภาพอากาสเย็น ถ้าอากาศร้อนเกินไปหรือดอกถูกแสงแดด จะทำให้ดอกเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลรวดเร็ว
ข้อมูลอื่น
1. พันธุ์ที่นิยมปลูกกันได้แก่ พันธุ์ ELEGANS sp. ใช้ปลูกประดับแปลงพันธุ์ PANICULATA sp. สำหรับตัดดอก ใช้ได้ทั้งดอกสดและดอกแห้ง (มีทั้งดอกซ้อนและดอกชั้นเดียว)
2. การดูแลรักษาที่ดี ต้นจะมีอายุได้ถึง 1 ปี ตัดดอกได้หลายรุ่น
3. ควรทยอยปลูกเป็นรุ่น ๆ แทนที่จะปลูกพร้อมกันเต็มพื้นที่ เพื่อที่จะกระจายเวลาการดูแลรักษาและตัดดอกทยอยออกจำหน่ายได้
4. ถ้าต้องการปลูกเพื่อตัดดอกได้ทั้งปี ควรสร้างโรงเรือนกันฝน แต่ถ้าปลูกเพื่อตัดดอกในฤดูหนาวหรือฤดูร้อนเท่านั้นก็ไม่จำเป็น
ที่มา:ภาควิชาส่งเสริมและเผยแพร่การเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่