จุลินทรีย์:การใช้จุลินทรีย์ควบคุมโรคพืชอย่างมีประสิทธิภาพ

เกียรติ  ลีละเศรษฐกุล

เหตุการณ์ที่ผ่านมาในพื้นที่การผลิตทุเรียนภาคตะวันออกที่มีฝนตกชุกและเกิดการระบาดของโรครากเน่าและโคนเน่าอย่างรุนแรง แน่นอนเกษตรกรจำเป็นที่จะต้องใช้สารเคมีในการป้องกันกำจัดโรคพืชอย่างมากมาย เพื่อปกป้องและรักษาทุเรียนให้รอดพ้นหรือหายจากโรคที่คุกคาม

จากกระแสของการที่จะอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่กำลังถูกทำลายไปทุกๆ วัน ทำให้สังคมบางส่วนเริ่มตระหนักถึงพิษภัยต่างๆ ที่เกิดขึ้น และผลกระทบที่มีต่อมนุษยชาติมากขึ้น การผลิตในภาคเกษตรกรรมก็ถูกมองว่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงและก่อให้เกิดความเสียหายได้ จึงมีการรณรงค์เพื่อให้มีการลดการใช้สารเคมีที่ใช้ในการเกษตร ซึ่งในปีหนึ่งๆเราสั่งซื้อเข้ามาใช้เป็นปริมาณหลายพันต้นเพื่อใช้ในการเพิ่มผลผลิต และใช้ป้องกันกำจัดศัตรูพืช เพื่อป้องกันมิให้ผลผลิตจะต้องเสียหาย สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่นำมาใช้จะเป็นสารที่มีพิษทั้งนั้นมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับชนิดของวัตถุมีพิษ หากใช้ไม่ถูกต้องและขาดความรู้ความเข้าใจแล้ว จะเกิดอันตรายแก่ผู้ใช้ ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม ถึงแม้ว่าเปรียบเทียบกับปริมาณของสารที่นำมาใช้ กับผลผลิตโดยรวมของประเทศ จะเห็นว่ามีการใช้สารป้องกันกำจัดโรคพืชในอัตราที่ต่ำมาก แต่ในความเป็นจริงในแหล่งผลิตบางแห่งมีการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มากเกินความจำเป็นทั้งนี้อาจเป็นเพราะมีศัตรูพืชเกิดระบาด ซึ่งอาจจะเป็นเพราะมีปริมาณเชื้อโรคสาเหตุสะสมในแปลงปลูกมาก หรือสภาพแวดล้อมมีความเหมาะสมกับการแพร่ระบาดของโรคดังเช่น เหตุการณ์ที่ผ่านมาในพื้นที่การผลิตทุเรียนภาคตะวันออกที่มีฝนตกชุก และเกิดการระบาดของโรครากเน่าและโคนเน่าอย่างรุนแรง แน่นอนเกษตรกรจำเป็นที่จะต้องใช้สารเคมีในการป้องกันกำจัดโรคพืชอย่างมากมาย เพื่อปกป้องและรักษาทุเรียนให้รอดพ้นหรือหายจากโรคที่คุกคาม

ในต่างประเทศมีการให้ความสนใจที่จะอนุรักษ์ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมมากกว่า 20 ปีแล้ว โดยการศึกษาที่จะใช้เชื้อจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ เพื่อนำมาใช้ในการป้องกันกำจัดโรคพืช โดยทำการค้นคว้าวิจัยหาชนิดของจุลินทรีย์ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อเชื้อโรคสาเหตุมาทำการศึกษาชีวิตและความเป็นอยู่ ข้อดี ข้อด้อยและปฏิกิริยาที่มีต่อเชื้อโรคสาเหตุโดยจะแยกจากสิ่งแวดล้อมรอบๆ ในแหล่งปลูกพืชนั่นเอง ซึ่งปัจจุบันมีที่ผลิตเป็นการค้าและจำหน่ายอยู่หลายชนิด (รายละเอียดดูได้จากเคหการเกษตร ฉบับเดือนธันวาคม 2537 หน้า 177-178) ซึ่งจุลินทรีย์แต่ละชนิดจะมีคุณสมบัติเฉพาะตัวคือ การควบคุมได้เฉพาะโรคเท่านั้น หมายความว่า เชื้อจุลินทรีย์ที่ผลิตมาไม่สามารถจะควบคุมเชื้อโรคสาเหตุได้หลายชนิด และกว้างขวางเหมือนกันการใช้สารเคมี ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์หลายท่านในประเทศไทยได้ให้ความสนใจในการใช้จุลินทรีย์ควบคุมโรคพืช ในประเทศไทยได้มีการศึกษาค้นคว้าวิจัยและผลิตออกมาเป็นสินค้าโดยอาศัยพื้นฐานและข้อมูลจากงานวิจัยในต่างประเทศ จากการที่เกษตรกรได้นำเอาจุลินทรีย์ควบคุมโรคพืชเหล่านี้ไปใช้ และผลที่ตอบสนองกลับมามีทั้งทางด้านบวกและทางด้านลบ จากการติดตามและศึกษาของผู้เขียนพอจะสรุปถึงสาเหตุและผลของการเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว โดยจะสรุปในด้านของการใช้ไม่ได้ดังนี้

1.  เกษตรกรมีความชำนาญและใช้สารเคมีซึ่งมีปฏิกิริยาค่อนข้างรวดเร็ว และมีการตอบสนองได้อย่างชัดเจน การใช้เชื้อจุลินทรีย์ปฏิกิริยาจะค่อนข้างช้า จึงสรุปว่าไม่ได้ผล

2.  การเข้าใจถึงระบบการทำงานของจุลินทรีย์นั้น เกษตรกรยังมีความรู้และความเข้าใจไม่เพียงพอจึงทำให้ผลลัพธ์ที่ได้มาเป็นเชิงลบ

3.  พืชเป็นโรครุนแรงมากแล้ว การใช้เชื้อจุลินทรีย์จะให้ผลลัพธ์ที่ต่ำไม่เหมือนกับการใช้สารเคมี

ดังนั้นจึงอยากที่จะให้เกษตรกรทั้งหลายได้มีความรู้ความเข้าใจในการใช้จุลินทรีย์ควบคุมโรคพืชอย่างไรจึงจะมีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อที่จะได้เป็นแนวทางนำไปปฏิบัติในการป้องกันพืชของท่านมิให้ถูกทำลายจากโรคได้ ก่อนอื่นท่านจะต้องมีความมั่นใจว่าวิธีการใช้เชื้อจุลินทรีย์ควบคุมโรคพืชนั้นมีคุณประโยชน์แก่เกษตรกรอย่างแน่นอน และจะช่วยลดการใช้สารเคมีในการผลิตของท่านได้แต่มิใช่เวลาอันสั้น ส่วนจะสำเร็จหรือไม่นั้นอยู่ที่กลยุทธ์ในการใช้ของท่านที่จะนำมาใช้ในการจัดการ

1.  จะต้องเลือกชนิดของจุลินทรีย์ควบคุมโรคพืชที่จะนำมาใช้นั้นว่ามีคุณสมบัติต่อเชื้อโรคสาเหตุที่เราจะทำการป้องกันกำจัดหรือไม่ อย่างไร โดยศึกษาจากคำแนะนำและปรึกษานักวิชาการผู้รู้

2.  ควรใช้ในลักษณะของการป้องกันมากกว่าการบำบัดรักษา ถ้าหากว่าพืชเป็นโรคแล้วการบำบัดรักษาเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลามาก

3.  การใช้ในลักษณะของการป้องกันมิให้เชื้อโรคสาเหตุเพิ่มปริมาณจนถึงขีดอันตรายได้จะเป็นวิธีการที่เหมาะสมที่สุด โดยเริ่มตั้งแต่โรคยังไม่เข้าทำลายจะดีที่สุด และจะเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายด้านสารเคมีลงได้มาก

4.  ในกรณีที่โรคเริ่มเข้าทำลายในระยะแรกหรือไม่แน่ใจว่าโรคเข้าทำลายหรือยัง ควรใช้จุลินทรีย์ควบคุมโรคพืชร่วมกับสารเคมีในกรณีที่สาเหตุเกิดจากเชื้อรา Phytophthora ควรใช้สารเคมีก่อนเพื่อกำจัดเชื้อราสาเหตุของโรคพืชที่เข้าทำลายเนื้อเยื่อพืชแล้วอาจจะเป็นการหว่าน Metalaxyl รอบๆโคนต้น หรือพ่นด้วย Fosethyl หรือกรดฟอสฟอรัส หลังจากนั้น 2-3 อาทิตย์จึงตามด้วยจุลินทรีย์ควบคุมโรคพืชลงไปในดิน เพื่อควบคุมเชื้อมิให้เกิดการระบาดในภายหลัง มีหลายท่านมีความเชื่อว่าการใช้จุลินทรีย์ไม่ควรใช้ร่วมกับสารป้องกันกำจัดโรคพืช แต่จากผลงานวิจัยในต่างประเทศพบว่า การใช้ทั้งสองอย่างร่วมกันสามารถใช้ได้ และให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าใช้อย่างใดอย่างหนึ่ง และในปีต่อๆไปก็จะสามารถลดค่าใช้จ่ายในเรื่องของสารเคมีไปได้มาก จนกระทั่งเชื้อจุลินทรีย์สามารถตั้งถิ่นฐานในดินปลูกได้ก็จะไม่เป็นปัญหาอีกต่อไป

5.  จุลินทรีย์ควบคุมโรคพืชที่นำมาใช้เป็นสิ่งที่มีชีวิต แต่ในการผลิตนั้นจะทำให้อยู่ในรูปของการพักตัว ดังนั้นการใช้เริ่มต้น หากจะต้องผสมน้ำก็ควรที่จะทำปัจจัยแวดล้อมให้เหมาะสมกับการฟื้นคืนชีพและตื่นตัวโดยรวดเร็ว ควรจะใช้น้ำสะอาดไม่เย็นและร้อนจนเกินไป ไม่เป็นกรดหรือสารที่เป็นอันตรายแก่จุลินทรีย์ปนเปื้อนอยู่

จุลินทรีย์ที่ใช้ควบคุมโรคพืชปัจจุบันได้มีนักวิทยาศาสตร์ของไทยได้คิดค้นและผลิตออกมาใช้ เช่น จุลินทรีย์บาซิลลัส ซับทิลัส (Bacillus subtilis) เป็นแบคทีเรีย จุลินทรีย์คีโตเมี่ยมเป็นเชื้อรา และจุลินทรีย์ไตโคเดอร์มา ซึ่งเป็นเชื้อราอีกเช่นกัน การใช้เพื่อจะให้เกิดประโยชน์ในการควบคุมโรคพืชนั้น เกษตรกรคงจะต้องใช้เวลาและศึกษาทำความเข้าใจถึงกระบวนการที่เชื้อจุลินทรีย์มีบทบาทในการควบคุมเชื้อโรคพืช จึงจะใช้ให้เป็นประโยชน์สูงสุดได้ คือต้องใช้อย่างรู้จริง อย่าใช้เหมือนกับการใช้สารเคมีต่างๆ และการใช้ร่วมกับสารเคมีนั้นควรจะต้องให้นักวิชาการช่วยชี้แนะให้ว่า จะเลือกใช้สารเคมีชนิดใดจึงจะใช้ร่วมกันได้ เพราะสารป้องกันกำจัดเชื้อราบางชนิด จะทำให้ประสิทธิภาพของจุลินทรีย์ลดลงได้เช่นกัน