วิธีตรวจสอบว่าดินเป็นชนิดใด

เนื้อดิน (Soil Texture)
ในดินแต่ละแห่ง มีส่วนประกอบของ ทราย ตะกอน และเม็ดดิน เหนียว ไม่เท่ากัน การที่อนุภาคของดินทั้งสามขนาดนี้ประกอบกันเป็นดินในอัตราที่แตกต่างกัน เราใช้เป็นหลักในการแบ่งพวกของเนื้อดิน (textural class) ได้เป็น 12 ชนิด ตามตารางที่ 1 ดังต่อไปนี้

ตารางที่แสดงเนื้อดินชนิดต่างๆ ในกลุ่มพวกเนื้อดิน

เนื้อดิน

กลุ่มพวกเนื้อดิน

1.ดินเหนียว (clay)

2.ดินเหนียวปนตะกอน (silty clay)

3.ดินเหนียวปนทราย (sandy clay)

พวกดินเหนียว (pine-textured)

4.ดินร่วนเหนียวปนตะกอน (silty clay loam)

5.ดินร่วนปนดินเหนียว (clay loam)

6.ดินร่วนเหนียวปนทราย (sandy clay loam)

พวกดินค่อนข้างเหนียว(Moderately Fine- textured)

7.ดินร่วน (loam)

8.ดินร่วนปนตะกอน (silt loam)

9.ดินตะกอน (silt)

พวกดินร่วน(Medium-textured)

10.ดินร่วนปนทราย (sandy loam)

11.ดินทรายปนดินร่วน (loamy sand)

12.ดินทราย (sand)

พวกดินทราย(coarse-textured)

 

วิธีพิจารณาว่าดินนั้นมีเนื้อดินชนิดใด

การจะพิจารณาว่าดินนั้นมีเนื้อดินชนิดใด สามารถกระทำได้ 2 วิธี วิธีหนึ่งนั้นกระทำในห้องปฏิบัติการ โดยวิเคราะห์หาปริมาณของทราย ตะกอน และเม็ดดินเหนียวที่มีอยู่ในดินนั้น แล้วนำไปเปรียบเทียบดูกับตารางสามเหลี่ยม ว่าจะตกอยู่ในเนื้อดินชนิดใด

ส่วนอีกวิธีหนี่ง เป็นวิธีที่สะดวกและรวดเร็ว คือการใช้สัมผัสด้วยนิ้วมือแต่วิธีนี้ต้องการความชำนาญ และต้องทำอยู่เสมอๆ วิธีทำก็คือ ทำดินให้ชื้นพอที่จะปั้นได้ ปั้นดินเป็นก้อนกลมๆ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางครึ่งนิ้ว จับก้อนดินนี้ระหว่างนิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้ แล้วบี้ดินโดยกดหัวแม่มือไปข้างหน้า จะทำให้ดินนั้นเป็นแผ่นบางๆ

ถ้าแผ่นของดินนั้นทำได้ง่าย ยาว และไม่หักง่าย ดินนั้นจัดเป็นพวกดินเหนียว (fine-textured) ได้แก่ ดินเหนียว (clay) ดินเหนียวปนตะกอน (silty clay) ดินพวกนี้มีลักษณะเหนียว และยืดหยุ่นมาก

ถ้าแผ่นของดินนั้นทำได้ แต่จะหักเป็นท่อนขนาด 3/4 ถึง 1 นิ้ว จัดอยู่ในพวกดินค่อนข้างเหนียว (moderately fine-textured) ซึ่งได้แก่ ดินร่วนปนดินเหนียว (clay loam) หรือดินร่วนเหนียวปนตะกอน (silty clay loam) ดินพวกนี้เหนียว และยืดหยุ่นปานกลาง

ถ้าแผ่นของดินทำไม่ได้ และดินจะแตกออกเป็นชิ้นขนาดสั้นกว่า 3/4 นิ้ว ดินนั้นจะจัดอยู่ในพวกดินร่วน หรือดินร่วนทราย (medium-textured or moderately coariie-textured) ซึ่งได้แก่ ดินร่วนปนตะกอน (silt loam) ดินร่วน (loam) หรือดินร่วนปนทราย (sandy loam)

ถ้าดินนั้นไม่จับกันเป็นแผ่น รู้สึกเป็นเม็ดหยาบ ดินนั้นจัดอยู่ในพวกดินทราย (coarse-textured) ได้แก่ ดินทรายปนดินร่วน (loamy sand), ดินทราย (sand)

อย่างไรก็ตามการใช้สัมผัสด้วยนิ้วมือนี้ เป็นการบอกได้เพียงหยาบๆ ว่า จัดอยู่ในพวกใดเท่านั้น ไม่สามารถบอกว่าเป็นเนื้อดินชนิดใดที่แน่นอนได้

ภาพสามเหลี่ยมแสดงเนื้อดิน (Texture Triangle)

>

ภาพสามเหลี่ยมแสดงเนื้อดิน

มุมรูปสามเหลี่ยมแสดงถึง 100% ของทราย (sand) ตะกอน (silt) และเม็ดดินเหนียว (clay) ตามลูกศรชี้ แต่ละด้านแบงเป็นช่องละ 10% ตารางนี้ใช้ได้เฉพาะเมื่อทราบปริมาณเป็นเปอร์เซ็นต์ที่แน่นอนของ sand, silt และ clay จากการวิเคราะห์ในห้องปฎิบัติการ
ตัวอย่าง เช่น ทราบว่ามีเม็ดดินเหนียว (clay) 20%, ตะกอน (silt) 40% และทราย (sand) 40% เริ่มอ่านทางด้าน clay ที่ 20% ลากเส้นตรงไปตามลูกศร แล้วอ่านที่ด้าน silt 40% ลากเส้นไปตามลูกศร และอ่านที่ด้าน sand 40% ลากเส้นตรงไปตามลูกศร เส้นทั้งสามจะจรดกันที่จุดๆหนึ่ง ซึ่งตกอยู่ใน loam ดินนั้น เป็นดินร่วน (loam) เป็นต้น

พวกดินเหนียว ดินร่วน หรือดินทรายนี้ นับว่ามีความสำคัญในด้านความอุดมสมบูรณ์ของดินอยู่มาก เพราะลักษณะของดินทรายและดินเหนียวมีคุณสมบัติแตกต่างกันหลายด้าน เช่นดินทรายจัดมีความสามารถอุ้มน้ำได้ไม่ดี ดินแห้งได้ง่าย และมีความสามารถในการตรึงอาหารธาตุไว้ได้น้อย มีการชะล้างมาก ดินเหนียวสามารถอุ้มน้ำได้ดี มีคุณสมบัติในการตรึงอาหารธาตุได้มาก การชะล้างน้อย แต่ก็มีข้อเสียที่มีการระบายน้ำไม่ดี อากาศในดินไม่พอเพียงแก่ความต้องการของรากพืช

ดินที่นับว่าพอเหมาะกับการเจริญเติบโตของพืชได้แก่พวกดินร่วนซึ่งมีความสามารถอุ้มน้ำได้ดี การระบายน้ำ และการถ่ายเทอากาศพอเหมาะ สามารถตรึงอาหารธาตุไว้ได้มากพอสมควร และการไถพรวนทำได้สะดวก

ที่มา:กรมวิชาการเกษตร