ชะมวง

(Cowa)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Garcinia cowa Roxb. ex DC.
ชื่อวงศ์ GUTTIFERAE
ชื่ออื่น มวง ส้มมวง ส้มโมง
ถิ่นกำเนิด อินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้


ลักษณะทั่วไป ไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง 10-20 ม. ขนาดทรงพุ่ม 3-8 ม. ไม่ผลัดใบ ทรงพุ่มเป็นรูปกรวยควํ่าทรงสูง เปลือกต้นสีน้ำตาลอมเทา แตกเป็นร่องลึก ไม่เป็นระเบียบ
ใบ ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก ใบรูปไข่แกมรูปขอบขนาน กว้าง 3-5 ซม. ยาว 10-15 ซม. ปลายใบแหลม โคนใบเรียวแหลม ขอบใบเรียบห่อขึ้น แผ่นใบหนาและแข็งเปาะ สีเขียวเข้มเกลี้ยงเป็นมัน ก้านใบอวบสีแดง ยาว 0.5-1 ซม. ใบอ่อนสีเขียวอมน้ำตาล


ดอก ดอกแยกเพศร่วมต้น ดอกเพศผู้สีชมพูถึงแดง ออกเป็นช่อแบบช่อกระจุกที่ด้านข้างกิ่งและปลายกิ่งไม่มีใบ ดอกย่อย 3-8 ดอก กลีบเลี้ยง 4 กลีบ รูปรีแกมรูปขอบขนาน ปลายกลีบกลม กลีบดอก 4 กลีบ รูปรี แข็งหนา เกสรเพศผู้จำนวนมากรูปสี่เหลี่ยม เส้นผ่านศูนย์กลางดอก 2-2.5 ซม. ดอกเพศเมีย ออกดอกเดี่ยวที่ด้านข้างกิ่ง ดอกมีขนาดใหญ่กว่าเล็กน้อย ปลายเกสรรูปสี่เหลี่ยมถึงแปดเหลี่ยม ออกดอกเดือน ก.พ.-มี.ค.
ผล ผลสดแบบมีเนื้อหลายเมล็ด ทรงกลม ผิวเรียบมีร่องตื้นๆ 5-8 ร่อง ขั้วผลมีกลีบเลี้ยง 4 กลีบติดอยู่ เส้นผ่านศูนย์กลาง 2.5-6 ซม. สีเขียวอมเหลือง เมื่อสุกสีเหลืองอมส้ม เมล็ดมีเนื้อนุ่มเป็นปุยขาวห่อหุ้ม เมล็ดหนารูปรี สีน้ำตาลอ่อน 3-8 เมล็ดต่อผล ติดผลเดือน ก.พ.-ก.ค. ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ดและหน่ออ่อนที่เกิดจากราก
นิเวศวิทยา พบตามป่าดงดิบถึงที่ความสูง 600 ม. จากระดับน้ำทะเล
การใช้ประโยชน์ด้านสมุนไพร ใบและดอก เป็นยาระบายท้อง รักษาโรคไข้กัดฟอกเสมหะ รักษาธาตุพิการ
ที่มา:วัลลิ์รุกขบุปผชาติ ตามรอยพระบาทบรมราชกุมารี โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย