ชัยพฤกษ์

ชัยพฤกษ์ มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า แคสเชีย สปีซี่ (cassia sp. Linn.) อยู่ในตระกูล ซีซัลปิเนียซี่ (Caesalpiniaceae) บางท้องถิ่นอาจเรียกราชพฤกษ์หรือชัยพฤกษ์ เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ลำต้นมีสีน้ำตาลแกมเทาเกลี้ยงๆ ใบเป็นพุ่มแบนกว้างเป็นมันสีเขียว ใบเกลี้ยงและค่อนข้างบาง เส้นแขนงใบถี่เเละโค้งไปตามรูปใบ ใบบดผสมทาฝีและเม็ดผื่นตามร่างกาย และเป็นยาระบาย ดอกเป็นช่อสีแดงยาวประมาณ ๒๐- ๕๐ ซ.ม. ผลิดอกออกช่อเป็นที่สะดุดตาในฤดูร้อนของทุกๆ ปี กลีบดอกหลุดร่วงง่าย ดอกแก้ไข้เป็นยาระบาย ผล เป็นฝักทรงกระบอกเกลี้ยงๆ ฝักอ่อนสีเขียว เมื่อแก่จัดจะมีสีดำ เนื้อในฝักปรุงเป็นยาระบายอ่อนๆ เนื่องจากมีสารแอนทราควิโนนไกลโคไซด์ ขนาดรับประทานครั้งละ ๘ กรัม เป็นยาระบายที่ไม่ปวดมวนและไซร้ท้อง เนื้อในฝักชัยพฤกษ์แห้งกว่าฝักคูน เปลือกและเมล็ดรับประทานทำให้อาเจียนเป็นยาถ่ายพิษไข้ได้ดี รากฝนทารักษาขี้กลากและเป็นยาระบาย

ชัยพฤกษ์เป็นไม้ที่มีคุณค่าสูงเป็นมงคลนาม ดั้งเดิมมาชาวไทยใช้ในพิธีสำคัญต่างๆ เช่น พิธีลงหลักเมือง ทำยอดธงชัยเฉลิมพลของกองทหาร คฑาจอมพล และสัญญลักษณ์ อินทนูของข้าราชการพลเรือนก็ใช้ช่อชัยพฤกษ์ เนื่องจากช่อสีเหลืองอร่ามของช่อชัยพฤกษ์มีความหมายสำคัญทางพุทธศาสนา และเป็นต้นไม้ประจำชาติไทย

สรุปสรรพคุณ

ใบ บดผสมทาฝีและเม็ดผื่นตามร่างกายและเป็นยาระบาย ดอก แก้ไข้เป็นยาระบาย

เนื้อในฝัก ปรุงเป็นยาระบาย

เปลือกและเมล็ด รับประทานทำให้อาเจียน เป็นยาถ่ายพิษไข้ได้ดี

ราก ฝนทารักษาขี้กลากและเป็นยาระบาย