ชีวผลิตภัณฑ์:แนวคิดในการผลิตชีวผลิตภัณฑ์ในเชิงธุรกิจ

ดร.จิระเดช  แจ่มสว่าง

ภาควิชาโรคพืช คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน นครปฐม

จุลินทรีย์ปฏิปักษ์ต้องได้รับการทดสอบและคัดเลือกเป็นอย่างดีด้วยวิธีการที่ถูกต้องหรือเหมาะสม ทั้งในระดับห้องปฏิบัติการ(บนอาหารเลี้ยงเชื้อ) ระดับเรือนปลูกพืชทดลอง(บนกล้าพืช,กิ่งตอนฯ) และในสภาพธรรมชาติ(ไร่ สวนของเกษตรกร) โดยพยายามให้สอดคล้องกับวิธีการปฏิบัติต่างๆ ที่เกษตรกรดำเนินการอยู่

2.  ควรมีการพัฒนาสูตร หรือรูปแบบ (formulation) ของผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสมทั้งในด้านราคาและเพื่อความสะดวกในการใช้การขนส่ง การเก็บรักษาระหว่างรอจำหน่าย โดยรูปแบบหรือสูตรดังกล่าวสามารถป้องกันการเสื่อมคุณภาพ และคงประสิทธิภาพของจุลินทรีย์ปฏิปักษ์ได้ดี

3.  ต้องมีการควบคุมคุณภาพ (Quality control) ของผลิตภัณฑ์ทุกชุด (batch) ก่อนที่จะนำไปจำหน่ายหรือเพื่อการทดลอง (เช่นในกรณีของชีวผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อว่าไมโคสตอป (Mycostop biofungicide) ที่มีเชื้อแอคติโนมัยซีทชื่อ Streptomyces sp. กำหนดว่าจะต้องมีปริมาณเชื้อสูงกว่า 10⁸ หน่วย โคโลนี (cfu) ในผงเชื้อ 1 กรัม)

4.  ในระหว่างเก็บรักษาผลิตภัณฑ์หรือรอจำหน่าย ต้องมีการสุ่มตรวจสอบปริมาณเชื้อในผลิตภัณฑ์เป็นระยะ เพราะจุลินทรีย์ในผลิตภัณฑ์จะมีปริมาณลดลงอยู่ตลอดเวลา (เช่นในกรณีของชีวผลิตภัณฑ์ไมโคสตอป (mycostop)ของบริษัทหนึ่งในต่างประเทศ กำหนดว่าถ้าตรวจสอบพบผลิตภัณฑ์ ซึ่งเก็บไว้ในห้องเย็นมีปริมาณจุลินทรีย์ต่ำกว่า 10⁸ หน่วยโคโลนีต่อกรัม (ผงเชื้อ) จะต้องหยุดการใช้หรืองดจำหน่าย

5.  ต้องมีการตรวจสอบประสิทธิภาพในการควบคุมโรคของผลิตภัณฑ์ในระดับเรือนปลูกพืชทดลองอย่างสม่ำเสมอด้วยวิธีการที่สะดวก รวดเร็วและเชื่อถือได้ (เช่น ในกรณีของไมโคสตอป (Mycostop) ใช้วิธีตรวจประสิทธิภาพโดยการคลุกเมล็ดกะหล่ำดอก (cauliflower) ที่มีเชื้อราอัลเทอร์นาเรีย (Alternaria brassicicola) เข้าทำลายอยู่ ถ้าพบว่าการคลุกเมล็ดด้วยผลิตภัณฑ์ชุดใดมีต้นรอดตายที่ปกติสมบูรณ์(34℅)สูงกว่าการปลูกด้วยเมล็ดที่ไม่ได้คลุกเชื้อ (25℅) เพียงเล็กน้อย ก็จะไม่มีการยอมรับเพื่อนำไปจำหน่าย

6.  ควรมีข้อมูลการศึกษาด้านนิเวศวิทยาของจุลินทรีย์ปฏิปักษ์ เมื่อใช้ควบคุมโรค เช่นการงอกสปอร์ และการสร้างเส้นใยจากผลิตภัณฑ์ (ผงเชื้อ เม็ดเชื้อ) หรือการเจริญ และการเพิ่มปริมาณเซลล์ หรือสปอร์ในดินหรือบนส่วนของพืชที่ได้รับเชื้อ เช่น บนใบ ลำต้น ดอก และราก รวมทั้งการติดตามความอยู่รอดของเชื้อในสภาพธรรมชาติ ตลอดจนการสร้างสารบางชนิดที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรค(ถ้ามี)

7.  ในกระบวนการของการผลิตชีวผลิตภัณฑ์ ควรคำนึงถึงความปลอดภัยและสุขภาพของพนักงาน หรือผู้เกี่ยวข้องที่มีโอกาสสัมผัสกับจุลินทรีย์เป็นเวลานานอย่างต่อเนื่องตลอดจนมีมาตรการป้องกันผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม

8.  ควรมีราคาจำหน่ายชีวผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสม และเป็นธรรมต่อเกษตรกร เช่น มีราคาต่ำกว่าสารเคมี หรือไม่แตกต่างจากราคาของสารเคมี