ชุมเห็ดเทศ

ชุมเห็ดเทศหรือชุมเห็ดใหญ่ มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า แคชเชีย อะลาต้า ( Cassia Alata. Linn.) อยู่ในตระกูล เลกกูมมิโนซี่ (Leguminosae ) แยกเป็นตระกูลย่อยซีซัลปิเนียซี่ (Caesalpiniaceae ) ภาษาอังกฤษว่า Candle bushor Seven Golden Candle Stick (เทียนเจ็ดแท่ง) ภาคเหนือเรียกว่า เล็บมื่นหลวง ภาคอีสานเรียก จุมเห็ด เชียงรายเรียก ส้มเห็ด

ในเภสัชตำรับของอินเดีย ใช้ใบชุมเห็ดเทศทาภายนอกแก้ กลาก หิด และโรคผิวหนัง โดยบดกับกระเทียม เนื่องจากภายในชุมเห็ดเทศมีสารพวกแอนธราคิวโนน ไกลโคซายด์ (Antraquinone glycosides ) และสารรสฝาดแทนนิน ( Tannin ) อยู่ ช่วยในการรักษาแผลสมานแผล ส่วนกระเทียมก็มีสารช่วยฆ่าหรือยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อกลากได้ด้วย บางทีอาจใช้น้ำคั้นจากใบชุมเห็ดเทศผสมน้ำปูนใสแล้วทาแก้กลากได้ เพราะว่าน้ำปูนใสมีสรรพคุณคล้ายกับกระเทียม ช่วยรักษาแผลให้หายเร็ว

สรรพคุณภายในน้ำใบชุมเห็ดเทศมาทำเป็นยาดองเหล้าหนึ่งในห้าส่วน รับประทาน ครั้งละ ๑ ช้อนชา ดื่มเป็นยาระบาย เนื่องจากในใบชุมเห็ดเทศมีสารแอนธราคิวโนนไกลโคซายด์ (antraquinone glycosids) มีคุณสมบัติเป็นยาระบาย เหล้า (อัลกอฮอล) เป็นตัวทำละลายไปสกัดเอาสารที่ต้องการออกมาจากใบ ทำให้ออกฤทธิ์ได้เร็ว บางทีเขาก็ใช้ใบชุมเห็ดเทศปิ้งแล้วนำมาชงน้ำดื่มแทนน้ำชาช่วยระบายท้องได้ ใบชุมเห็ดเทศเป็นยาระบายที่ดี เนื่องจากในใบชุมเห็ดเทศมีสารแอนธราคิวโนนไกโคซายด์ (antraquinone glycosides) มีคุณสมบัติเป็นยาระบาย และมีสารฝาดสมานแทนนินช่วยสมานแผลในกระเพาะลำไส้ และช่วยป้องกันท้องเสียท้องร่วง จึงเป็นยาระบายที่ดีเพราะเป็นยาระบายที่รู้จักปิดเช่นเดียวกับโกฐน้ำเต้า

ต้นชุมเห็ดเทศมีขึ้นอยู่ทั่วๆ ไปในไทย เป็นไม้พื้นเมืองของอเมริกาเขตร้อน ต้นชุมเห็ดเทศเป็นไม้พุ่มปลูกเป็นไม้ประดับได้สวยงามดี เนื่องจากมีดอกสีเหลืองสดเป็นฉัตรสวยจะออกดอกประมาณพฤศจิกายน, ธันวาคม ฝักจะมีขนาดใหญ่มีครีบ เมื่อแก่ฝักจะมีสีน้ำตาลเข้มเกือบดำ ฝักจะแตกออกเมื่อแก่เต็มที่ และงอกต้นใหม่ได้ง่าย

สรุปสรรพคุณ

ใบชุมเห็ดเทศมีสารแอนธราคิวโนน ไกลโคซายด์ และสารรสฝาดแทนนินเป็นยาระบายรู้จักปิด