ช่องทางในการจำหน่ายผลสตรอเบอรี่

การจำหน่ายผลสตรอเบอรี่


ชาวสวนสตรอเบอรี่ที่แม่สาย(บ้านน้ำจำ) สามารถจำหน่ายผลสตรอเบอรี่สดได้หลายทางดังนี้

1.  จำหน่ายผลสดปลีกกับนักทัศนาจรที่เที่ยวแม่สาย  โดยจะมีการสร้างร้านชั่วคราวขึ้นบริเวณริมถนนพหลโยธิน  เป็นจำนวนหลายสิบร้าน  ชาวสวนจะนิยมวิธีขายวิธีนี้  เพราะขายได้ราคาดีได้เงินสดและเสียหายน้อย

2. จำหน่ายโดยส่งผลสดเข้าจำหน่ายใน กทม. โดยทางรถทัวร์ ซึ่งเราจะเห็นสตรอเบอรี่จากแม่สายนี้นั่นเองที่วางขายอยู่โดยทั่วไปใน กทม. ตั้งแต่ห้างสรรพสินค้า ซุปเปอร์มาร์เก็ต  จนถึงหาบเร่แผงลอย  โดยเฉพาะในช่วงที่มีผลสตรอเบอรี่ออกมาก ๆ ในแต่ละวันจะมีสตรอเบอรี่จากแม่สายเข้าสู่ กทม.ประมาณวันละ 2,000 กก.  การขายโดยวิธีนี้ชาวสวนจะได้ราคาพอสมควร แต่มักจะมีผลผลิตเสียหาย  เนื่องจากการขนส่ง และอาจมีปัญหาด้านการเงิน

3. จำหน่ายเข้าโรงงานแปรรูปผลสตรอเบอรี่ที่จำหน่ายโดยวิธีนี้มักเป็นผลสตรอเบอรี่ที่ด้อยคุณภาพ  มีตำหนิ หรือในช่วงที่ผลสตรอเบอรี่ออกมากจนล้นตลาด ชาวสวนจำเป็นต้องขายให้กับผู้ที่รับซื้อ  เพื่อส่งให้โรงงานแปรรูปอาหารอีกทีหนึ่ง การขายโดยวิธีนี้มักจะได้ราคาต่ำ  และต้องเสียเวลามาแต่งและปาดขั้วผลออก  แต่ชาวสวนก็ยังจำเป็นต้องขายโดยวิธีนี้

ในปีที่ผ่านมา  ราคาผลสตรอเบอรี่สดที่ชาวสวนได้รับ ประมาณได้ดังนี้

ในช่วงต้นฤดู (เดือน ม.ค.)ราคาเฉลี่ยประมาณ 50/กก.

ในช่วงกลางฤดู (เดือน ก.พ.)ราคาเฉลี่ยประมาณ 30 บาท/กก.

ในช่วงปลายฤดู (เดือน มี.ค.)ราคาเฉลี่ยประมาณ 15-20 บาท/กก.

ราคาดังกล่าว  หมายถึงผลสตรอเบอรี่คุณภาพดีที่จำหน่ายเพื่อรับประทานสด  ส่วนสตรอเบอรี่ที่มีคุณภาพต่ำ  หรือในช่วงที่สตรอเบอรี่ล้นตลาด  ชาวสวนจะปาดขั้วผลออกและจำหน่ายให้โรงงานแปรรูป ได้ กก.ละไม่เกิน 10 บาท เท่านั้น

สรุป

สตรอเบอรี่เป็นไม้ผลที่มีส่วนช่วยเพิ่มรายได้ ให้เกษตรกรชาวแม่สายได้เป็นอย่างดี  โดยเฉพาะในช่วงที่เกษตรกรว่างจากการเพาะปลูกพืชหลักในฤดูฝน และยังช่วยผันเงินจากเมืองหลวงสู่ชนบทเป็นเงินปีละหลายล้านบาท  สมตามเจตนารมณ์ของรัฐบาล  ในการที่จะช่วยลดช่องว่างทางเศรษฐกิจระหว่างเมืองหลวงกับชนบทได้ส่วนหนึ่ง