ดอกดาวดิน

ดอนย่า

วงศ์รูบิเอซีอี (RUBIACEAE)

เป็นวงศ์ที่มีขนาดใหญ่มาก มีประมาณ 500 สกุล 6,000 ชนิด พบได้ตั้งแต่เขตหนาวแถบขั้วโลกจนถึงเขตร้อน โดยทั่วไปพืชวงศ์นี้มีลักษณะเป็นไม้ต้น ไม้พุ่มหรือไม้ล้มลุก ใบเดี่ยวออกเป็นคู่ตรงข้ามหรือมีใบมากกว่าสองใบออกรอบข้อ มีหูใบอยู่ระหว่างก้านใบ อาจแยกเป็นอิสระหรือเชื่อมติดกัน ดอกออกเป็นช่อ กลีบเลี้ยง 5 อันมักเชื่อมติดไปกับรังไข่ กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด ส่วนปลายแยกเป็น 4-10 กลีบ เกสรตัวผู้ 4 ถึง 10 อัน เรียงสับหว่างกับกลีบดอก เกสรตัวเมีย 1 อัน รังไข่อยู่ตํ่ากว่าชั้นต่าง ๆ ของดอก ผลมีหลายแบบ ทั้งที่แก่แล้วแตกและไม่แตก พืชที่รู้จักกันดีคือ เข็มแดง (Ixora lobbii Loud.) ดอนย่า (Mussaenda spp.) กาแฟ (-Coffea spp.)

ดาวดิน

Argostemma ebracteata Craib ดาวดิน

ดาวดินเป็นไม้ล้มลุก สูงประมาณ 10 ซม. ใบสีเขียวเข้ม ดอกสีขาว กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาวส่วนปลายแยกเป็น 5 กลีบคล้ายรูปดาว มักพบตามริมลำธารในบริเวณที่ค่อนข้างร่ม ออกดอกราวเดือนมิถุนายน

โพอาศัย

Hymenopogon parasiticus Wall. โพอาศัย

โพอาศัยเป็นไม้ล้มลุกสูงประมาณ 1 เมตร ดอกออกเป็นช่อยาวประมาณ 5-10 ซม. ช่อดอกย่อย แต่ละช่อมีใบประดับสีขาวรูปร่างเหมีอนใบแต่ขนาดเล็กกว่า กลีบเลี้ยงสีเขียวอ่อน กลีบดอกสีขาว มีขน เชื่อมติดกันเป็นหลอดยาว ส่วนปลายแยกเป็น 5 กลีบ มักพบเป็นพืชเบียน (parasite) บนต้นไม้อื่น