ดอกดุสิตา

ดอกดุสิตา

วงศ์เลนติบูลาริเอซีอี (LENTIBULARIACEAE)

เป็นพืชในเขตร้อน พบในนํ้า ที่ชื้น และบางชนิดเกาะอยู่บนต้นไม้อื่น มีประมาณ 9 สกุล 180 ชนิด ต้นขนาดเล็ก ระบบรากน้อย ใบมีการเปลี่ยนแปลงเป็นโครงสร้างพิเศษเพื่อทำหน้าที่ดักแมลง ใบมักเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับกัน ดอกออกเป็นช่อ ก้านช่อดอกยาว ดอกย่อย 2-5 ดอก กลีบเลี้ยงเชื่อมกัน ส่วนปลายแยกเป็น 2-5 แฉก กลีบดอกเชื่อมกัน ส่วนปลายแยกเป็น 5 แฉก แบ่งเป็น 2 ส่วนไม่เท่ากัน ส่วนล่างมีจงอยยื่นคล้ายดอกเทียน เกสรตัวผู้ 2 อันเชื่อมติดกับกลีบดอก เกสรตัวเมีย 1 อัน รังไข่อยู่เหนือชั้นต่างๆ ของดอก เมล็ดเดี่ยวหรือมีจำนวนมาก ผลแห้ง ไม่แตก กลีบเลี้ยงขยายโตขึ้นติดอยู่ที่ผล ตัวอย่างของพืชวงศ์นี้ที่รู้จักดี คือ สาหร่ายข้าวเหนียว (Utricularia aurea Lour.)

Utricularia delphinioides Thor, ex Pell.

ดุสิตา

ดุสิตา เป็นพันธุ์ไม้ที่มักพบขึ้นเป็นบริเวณกว้างในฤดูฝน ตามภูเขาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้เห็นเป็นท้องทุ่งสีม่วงอ่อน สวยงามมาก ดอกออกเป็นช่อดอกย่อย 3-5 ดอก กลีบเลี้ยงสี เขียวอมน้ำเงิน ปากด้านบนของกลีบดอกสีม่วงอมน้ำเงิน ปากด้านล่างมีลักษณะเป็นถุงคล้ายเรือ ส่วนท้องเรือสีฟ้า จงอยกลีบสีขาว ออกดอกเดือนตุลาคม-ธันวาคม

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้พระราชทานนาม ดุสิตา เป็นชื่อไทยของพันธุ์ไม้ชนิดนี้ เมื่อครั้งที่พระองค์ท่านเสด็จ ณ ทุ่งดอกไม้ป่าแห่งหนึ่ง ที่จังหวัดสกลนคร