ดอกแห้งสมุนไพรรักษาโรค


ชื่อ
จีนเรียก    จักจักฮวย  ซัวเล้งต๋าเข่า โควตี่ต้า Oldenlandia auricularia (L.) F.Mueller.

ลักษณะ
พืชประเภทหญ้า ชอบขึ้นตามริมทางในชนบท ที่โล่ง เป็นพืชล้มลุก สูง 1 ฟุตกว่า บ้างก็ขึ้นตรงบ้างก็ขึ้นเอนลาดไปตามหน้าดิน ลำต้นหยาบขรุขระ ใบเหนียวขึ้นสลับกันรูปคล้ายใบไผ่ หัวท้ายแหลม ยาวประมาณ 1-2 นิ้ว ขอบใบเรียบ หลังใบมีขน เอ็นใบขึ้นเห็นชัด ใบขึ้นกับต้นไม่มีก้านใบ ออกดอกหน้าร้อนเข้าหน้าฝน ดอกออกตามที่ฐานใบเป็นกระจุกเกือบทุกข้อ ดอกสีขาวมีขนขึ้นเต็ม ออกลูกเป็นเม็ดกลมเล็ก

รส
รสขม ธาตุเย็นมาก ไม่มีพิษ

สรรพคุณ
รับประทานสามารถแก้ร้อนใน ประสะเลือดให้เย็น แก้พิษ ไล่ลม ใช้ภายนอก ถอนพิษ แก้บวม ฤทธิ์เข้าถึงตับและปอด

รักษา
เป็นหวัดร้อน เป็นบิด เจ็บคอ กระเพาะร้อนใน ใช้ภายนอกแก้พิษงูกัด
หมากัด ผิวหนังเป็นผื่น แผลบวมเจ็บ งูสวัด ฝีตะมอย

ตำราชาวบ้าน
1.เป็นหวัดร้อน – ดอกแห้ง ครึ่งตำลึง ชาน้ำเต้า 1 ตำลึง ต้มรับประทาน
2. เป็นบิด – ดอกแห้ง ครึ่งตำลึง ต้มน้ำใส่น้ำตาลทรายขาว รับประทาน
3. เจ็บกระเพาะร้อนใน – ดอกแห้งครึ่งตำลึง ต้มน้ำใส่เกลือ รับประทาน

4. งูพิษกัด – ดอกแห้ง 1 ถึง 2 ตำลึง ตำกับเหล้าคั้นน้ำต้มรับประทานขณะนํ้ายังอุ่น ส่วนกากใช้พอกปากแผล หรือดอกแห้ง 1 ถึง 2 ตำลึง ตำกับเถาสิงห์โตทอง และหญ้าดอกตูบ อย่างละ 1 ตำลึง ตำกับเหล้าเอาน้ำต้มรับประทานขณะน้ำยังอุ่นอยู่
5. หมากัด – ดอกแห้ง 1 ตำลึง ตำเหล้าคั้นเอาน้ำรับประทาน ส่วนกากใช้พอกที่แผล
6. งูสวัด – ดอกแห้ง ตำกับเหล้า ใช้ทา
7. ฝีตะมอย – ดอกแห้ง ตำกับเหล้า ใช้พอก

ปริมาณใช้
สดใช้ไม่เกิน 1 ตำลึง แห้งไม่เกินครึ่งตำลึง ใช้ภายนอกกะพอประมาณ

ข้อควรรู้
ผู้ที่ไฟธาตุอ่อนผอมแห้งแรงน้อย ไม่ควรรับประทาน

ที่มา:บุญชัย  ฉัตตะวานิช