ดองดึง:ไม้ดอกหัวเมืองร้อนที่น่าสนใจ

ปัจจุบันมีผู้สั่งดอกดึงจากต่างประเทศเพื่อใช้จัดกระเช้าร่วมกับไม้ดอกชนิดอื่น ๆ มากขึ้น  แสดงให้เห็นว่าดองดึงมีแนวโน้มเป็นไม้ตัดดอกที่มีอนาคตไกลไม่แพ้ดอกไม้อื่น ๆ

การพัฒนาการผลิตดองดึง เพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ การเกษตร หรือใช้ทดแทนสารเคมีกำจัดแมลง ขณะนี้มีหน่วยงานหลายแห่งที่ให้ความสนใจ เช่น ทางด้านคณะเภสัชศาสตร์  มหาวิทยาลัยมหิดลได้ทำการวิจัยสารโคลชิซินเพื่อใช้ทางการแพทย์ทดแทนสารเคมี ซึ่งมีราคาแพง  ส่วนทางการเกษตรทั้งภาครัฐและเอกชนสนใจที่จะปลูกเป็นไม้ตัดดอก เพราะบานทนและสีสันสวยงาม ปัจจุบันมีผู้สั่งดองดึงจากต่างประเทศเพื่อใช้จัดกระเช้าร่วมกับไม้ดอกชนิดอื่น ๆ มากขึ้น แสดงให้เห็นว่าดองดึงมีแนวโน้มเป็นไม้ตัดดอกที่มีอนาคตไกลไม่แพ้ดอกไม้อื่น ๆ ถ้ามีการเร่งปรับปรุงพันธุ์ให้มีก้านดอกที่แข็งแรง ดอกใหญ่ ตรงตามมาตรฐานที่ตลาดต่างประเทศกำหนด ก่อนอื่นควรทราบข้อมูลเบื้องต้นของดองดึงกันก่อน

ดองดึง

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Gloriosa superb Linn.

ชื่อสามัญ (ภาษาอังกฤษ) : Glory lily, Climbing lily, Superd lily, Turk’s Cap, Flame lily หรือ Gloriosa lily

ชื่อสามัญ(ไทย) : ดองดึง, ดาวดึง, พันมหา,หัวขวาน,คมขวาน,บ้องขวาน,มะขาโก้ง,และว่านก้ามปู

วงศ์: Liliaceae

พืชที่อยู่วงศ์เดียวกับดองดึง : ว่านเศรษฐี ว่านหางจระเข้ ดอกไม้จีน ปริก โปร่งฟ้า สามสิบ หน่อไม้ฝรั่ง

ถิ่นกำเนิด : แอฟริกา

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ดองดึงเป็นพืชเถาเลื้อย ก้านใบที่โผล่ขึ้นเหนือดินเป็นเถากลมขนาดเล็กแต่เหนียว ยาวตั้งแต่ 1.5-2.5 เมตร

ใบ – ใบเดี่ยวออกสลับทิศทางกันตามข้อต้น รูปยาวรีคล้ายใบหอก ยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร มีเส้นใบ 6-8 เส้นเรียงขนานตามความยาวของใบเห็นได้ชัด ปลายใบแหลมเรียวยาวยื่นออกมาและขดงอเป็นตะขอเกาะ  ทำหน้าที่ยึดเหนี่ยวพยุงลำต้นกับสิ่งข้างเคียงได้

ดอก – เป็นดอกเดี่ยว ออกตามง่ามใบ แต่ละดอกมี 6 กลีบ เมื่อดอกบานกลีบดอกมีลักษณะเรียวระหงและโค้งงอกลับขึ้นด้านบน ริมกลีบดอกเป็นลอนบิดไปมา  เมื่อเริ่มบานปลายกลีบมีสีแดงเข้ม โคนกลีบมีสีเหลืองอมเขียว  เมื่อดอกบานเต็มที่กลีบดอกยาวประมาณ 10 ซม. ปลายกลีบเปลี่ยนเป็นสีแดงสด เส้นกลางใบด้านล่างของกลีบมีสีแดงอมเหลือง เมื่อดอกแก่จัดใกล้โรย กลีบดอกจะเปลี่ยนเป็นสีม่วงแดง เกสรตัวผู้มี 3 คู่ โค้งกลับขึ้นด้านบนใต้กลีบดอก เกสรตัวเมียมีสีเขียวอยู่ด้านล่างสุด และตรงปลายเกสรโค้งกลับขึ้นด้านบนเช่นเดียวกัน  ดอกดองดึงจะบานติดต้นอยู่ราว 8-10 วัน จึงจะทิ้งกลีบ

ผล – เป็นรูปกระสวยสามเส้าแฝดติดกัน  มีลักษณะและขนาดคล้ายกับผลของตะลิงปลิง  ผลสีเขียวเมื่อแก่จัดเป็นสีน้ำตาล

เมล็ด – เรียงกันอยู่เส้าละ 2 แถว ๆ ละ 5-8 เมล็ด เมล็ดอ่อนของดองดึงมีขนาดและสีคล้ายเมล็ดข้าวโพด เมื่อแก่เมล็ดแข็งแบบเดียวกับเมล็ดข้าวโพด

การขยายพันธุ์

แยกเหง้าและเพาะเมล็ด แต่การเพาะเมล็ดต้องใช้เวลานานในการให้ดอกและผล จึงไม่นิยมมากนัก

สภาพดินฟ้าอากาศที่เหมาะสมกับดองดึง

ดองดึงเจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนปนทรายซึ่งมีการระบายน้ำดีสามารถขึ้นได้ทั้งในร่มแดดรำไร ในที่แล้ง และที่ระดับน้ำทะเลปานกลางไปจนถึงระดับสูงกว่าน้ำทะเล 1,500-3,000 เมตร

การปลูก

ควรปลูกเมื่อหัวเริ่มงอก  โดยสังเกตจากตุ่มขาว ๆ ที่เห็นจากปลายหัวทั้ง 2 ด้าน ตุ่มนี้มีความสำคัญมาก เพราะเป็นจุดกำเนิดต้น เมื่อตุ่มนี้หักไปแล้วจะไม่เกิดขึ้นใหม่อีก  การปลูกให้วางหัวขนานกับพื้นดินและกลบดินหนาประมาณ 2.5-5 ซม. ภายใน 2-4 สัปดาห์  ต้นจะเริ่มงอกโผล่พ้นดิน เมื่อต้นงอกแล้วระยะหนึ่ง  หัวที่ปลูกนั้นจะยุบหายไปเป็นอาหารของต้นหัวใหม่จะงอกออกมาแทนที่ 1-2 หัว สำหรับพันธุ์พื้นเมืองการปลูกด้วยหัวจะได้ดอกภายใน 3-4 เดือนและดอกบานต่อเนื่องกันประมาณ 3 เดือน

งานวิจัยเกี่ยวกับดองดึง

ทางกองพฤกษศาสตร์และวัชพืชได้เริ่มทำงานทดลองวิจัยเกี่ยวกับดองดึง  ตั้งแต่เรื่องการขยายพันธุ์ การเจริญเติบโต อายุการเก็บเกี่ยว คุณภาพของฝักและเมล็ดดองดึง ตลอดจนสารสำคัญคือ โคลชิซิน รวมทั้งการศึกษาการเจริญเติบโตของต้นและดอกดองดึง 2 พันธุ์ (Gloriosa superb Linn. และ G.rothschildiana)

ต่อไปในอนาคตจะมีการพัฒนาการผลิตดองดึงเพื่อใช้เป็นไม้ตัดดอก โดยการนำดอกดองดึงพันธุ์ Gloriosa rothschildiana มาผสมข้ามพันธุ์กับดองดึงพันธุ์พื้นเมืองของไทย (Gloriosa superba) เพื่อพัฒนาพันธุ์เป็นพันธุ์ลูกผสมที่เหมาะสมกับการใช้งาน เพื่อเป็นไม้ตัดดอกที่ดีต่อไป  อย่างไรก็ตามในการปลูกดองดึงเพื่อให้ได้ดอกที่คุณภาพดีนั้น จำเป็นต้องมีที่กั้นลม (wind break)เพื่อมิให้ต้นและดอกถูกลมพัดหักเสียหายได้ ดองดึงสามารถออกดอกตลอดปี ถ้ามีการให้น้ำ ปุ๋ยอย่างเพียงพอ

อยากจะปลูกดองดึงทำอย่างไร

สำหรับผู้ที่ต้องการปลูกดองดึงเพื่อใช้ดอกประดับสวน การที่จะให้ดองดึงออกดอกมาก ๆ จำเป็นต้องใช้วิธีการปลูกโดยใช้เมล็ดโรยหรือใช้เหง้าหลาย ๆ เหง้าฝังไว้ในดินที่ผสมปุ๋ยอินทรีย์ไว้แล้ว หาต้นไม้แห้ง ๆ หรือกิ่งไม้ที่มีแขนงมาก ๆ ปักไว้เหนือพื้นดินตรงที่จะปลูกดองดึง  เพื่อให้ดองดึงใช้เป็นที่เลื้อยพัน  เมื่อดองดึงออกดอกมายาวได้ประมาณ 1 ฟุต ใช้ปุ๋ยกล้วยไม้พ่นทุกวันในตอนเช้าและหยุดให้ปุ๋ยเมื่อเห็นดอกดองดึงเริ่มมีดอกตูม  การให้น้ำควรให้น้ำทุกวันในเวลาสาย ๆ เท่านั้นที่สวนหน้าบ้านก็จะมีพุ่มดองดึงสวย ๆ ไว้เชยชมแล้ว

การใช้ประโยชน์จากดองดึงสำหรับวงการแพทย์และอื่น ๆ

ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ได้แก่เหง้า ในเหง้าและเปลือกหุ้มเมล็ดมีสารโคลชิซิน (colchicines) ในปริมาณสูง  ซึ่งใช้บำบัดโรคไขข้ออักเสบหรือโรคปวดข้อ (gout) ได้ แต่การใช้ต้องระวัง  เพราะถ้าใช้ในปริมาณมากเกินขนาดจะทำให้เกิดโทษ  ปัจจุบันมีการทดลองพบว่า สารโคลชิซินเป็นสารที่เป็นพิษต่อการเจริญเติบโตของเซลล์(cytotoxic) ซึ่งเชื่อกันว่าสามารถนำมาใช้บำบัดโรคมะเร็งได้  นอกจากนี้ในด้านการเกษตร การปรับปรุงพันธุ์พืชโดยใช้สารโคลชิซินกระตุ้นเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครโมโซม (chromosome) ของพืชทำให้ได้พืชพันธุ์ใหม่ที่มีลักษณะแตกต่างจากพันธุ์เดิม ซึ่งอาจจะให้ผลผลิตสูง คุณภาพผลผลิตดีกว่าเดิมก็ได้ และยังใช้ในการปราบแมลงศัตรูพืชอีกด้วย

บางตำราได้กล่าวถึงสรรพคุณของดองดึงไว้มากาย เช่น รากและหัวใช้แก้โรคเรื้อน คุดทะราด บาดแผลและขับผายลม รับประทานแก้ลมพรรดึก แก้เสมหะ แก้ลมจับโป่ง ลมเข้าข้อ (รูมาติสซั่ม) หัวเข่าปวดบวม หัวใช้ต้มรับประทานแก้ท้องอืดท้องเฟ้อและแก้ลมจุกเสียด ฝนทาแก้พิษงู ตะขาบ แมลงป่อง ทาแก้โรคผิวหนัง ทางปศุสัตว์ ใช้ขับพยาธิสำหรับสัตว์พวกวัว ควาย แป้งจากหัวและรากใช้แก้โรคหนองในและใช้สารสกัดสำหรับเปลี่ยนแปลงพันธุ์พืช

อย่างไรก็ตาม ควรตระหนักถึงอันตรายของสารโคลชิซินไว้ให้มาก ๆ เพราะสารชนิดนี้ถ้าร่างกายได้รับในปริมาณมากเกินกำหนดอาจเป็นอันตรายถึงตายได้  การใช้ประโยชน์จากดองดึงจึงควรเป็นการนำมาใช้ประโยชน์ในแง่ของการสกัดสารโคลชิซิน  เพื่อนำมาทดลองใช้ในทางการแพทย์และการเกษตร  การปลูกเพื่อจำหน่ายเหง้าและเมล็ดดองดึง เพื่อนำมาใช้ทดลองในลักษณะงานดังกล่าวหรือนำมาปลูกเป็นไม้ประดับไว้เชยชมดอกสวย ๆ งาม ๆ จะดีกว่าการนำมาใช้ประโยชน์ทางสมุนไพร โดยการนำมาใช้แบบรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้  ดังที่กล่าวมาแล้ว

นันทกา เรียบเรียง

เอกสารอ้างอิง

สมสุข ศรีจักรวาฬ และปราโมทย์  เกิดศิริ  กลุ่มพฤกษชีพการวิทยา กองพฤกษศาสตร์และวัชพืช กรมวิชาการเกษตร เอกสารเรื่อง การพัฒนาเพื่อการผลิตดองดึง

วิชัย  อภัยสุวรรณ  2532

ดอกไม้และประวัติไม้ดอกเมืองไทย หจก.ดีแอลเอส, กรุงเทพฯ 348 หน้า ศูนย์สนเทศการเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานเกษตรภาคกลาง จ.ชัยนาท 2528 พืชสมุนไพรเล่ม 1 127 หน้า

สุนทรี  สิงหบุตรา  2535  สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด บริษัทคุณ 39 จำกัด 160 หน้า