ดาวเรือง:ไม้ดอกยอดนิยมปลูกได้โดยไม่ต้องใช้สารเคมี

ลักษณะ

ดาวเรืองที่นิยมปลูกเป็นไม้ตัดดอก มี 3 พันธุ์ ได้แก่

1.  พันธุ์ทอรีดอร์ (Toreader) ลักษณะเป็นพุ่ม สูงประมาณ 75 ซม. ให้ดอกขนาดใหญ่สีส้ม มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3.5-4 นิ้ว

2.  พันธุ์ดับเบิ้ล อีเกิ้ล (Double eagle) ลักษณะเป็นพุ่ม สูงประมาณ 90 ซม. ให้ดอกขนาดใหญ่สีเหลืองก้านดอกแข็งแรง มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3.5 นิ้ว ก้านดอกแข็งแรง

3.  พันธุ์ซอฟเวอเรน (Sovereign) ลักษณะเป็นพุ่ม สูงประมาณ 75-90 ซม. ให้ดอกขนาดใหญ่สีเหลืองทอง มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 4 นิ้ว มีกลีบดอกที่จัดเรียงซ้อนกันสวยงาม แต่ไม่นิยมขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด เพาะเป็นพันธุ์ลูกผสมรุ่นที่ 1 เมล็ดส่วนใหญ่จะเป็นหมันหรือเกิดการกลายพันธุ์

การขยายพันธุ์

ดาวเรืองขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด และปักชำ แต่นิยมวิธีการเพาะเมล็ดมากกว่า เพราะการปักชำกิ่งแม้ลักษณะส่วนใหญ่จะเหมือนเดิมแต่จะทำให้ดอกมีขนาดเล็กลง ทำให้จำหน่ายได้ราคาต่ำ ดาวเรืองเป็นไม้ดอกที่ปลูกง่าย ไม่ค่อยมีโรคแมลงมากนัก เนื่องจากมีกลิ่นฉุนแมลงไม่ชอบ นอกจากนี้ส่วนรากยังช่วยลดปริมาณของไส้เดือนฝอยในดินได้อีกด้วย

วิธีการเพาะเมล็ด

การเพาะเมล็ดในกระบะ ให้ใช้ขุยมะพร้าว ทราย ขี้เถ้าแกลบ ปุ๋ยคอก อย่างละ 1 ส่วน หากเพาะในแปลงให้ปรับปรุงดินให้ร่วนซุยและค่อนข้างละเอียด เกลี่ยผิวดินให้สม่ำเสมอที่สุด ก่อนเพาะเมล็ดให้นำเมล็ดไปแช่ในน้ำสกัดชีวภาพก่อนนำไปปลูก จะช่วยให้เมล็ดงอกเร็วและมีความแข็งแรงขึ้น

การเพาะให้ทำร่องขวางกระบะหรือแปลงเพาะลึก 0.5 ซม. กลบด้วยวัสดุเพาะหรือดินละเอียดบาง ๆ ใช้บัวรดน้ำที่ฝอยที่สุดจนชุ่ม คลุมกระบะหรือแปลงเพาะด้วยฟางหรือหญ้าแห้ง หรือกระดาษหนังสือพิมพ์ เพื่อช่วยรักษาความชื้น รดน้ำเช้า-เย็น เมล็ดจะงอกภายใน 3-5 วัน เมื่อเมล็ดอายุได้ 7-10 วัน จึงย้ายกล้าไปปลูก ซึ่งควรปลูกในตอนเย็น และทำร่มเงาบังต้นกล้าจนกว่าต้นจะตั้งตัวได้

การเตรียมดินและแปลงปลูก

ก่อนปลูกควรมีการเตรียมดินหรือปรับปรุงดินให้มีคุณภาพ มีธาตุอาหารเพียงพอต่อการเจริญเติบโต โดยขุดดินให้ลึกประมาณ 1 ฟุต แล้วตากดินเพื่อฆ่าเชื้อโรคและแมลงประมาณ 1 สัปดาห์ หลังจากนั้นให้ย่อยดินให้ละเอียดใส่อินทรีย์วัตถุที่สลายตัวแล้วอย่างเช่น เศษฟาง เปลือกถั่วลิสง ขี้เถ้าแกลบ ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก ปุ๋ยชีวภาพ หรือปุ๋ยพืชสด เพื่อให้ดินมีความร่วนซุย สามารถเก็บความชื้นและมีการระบายน้ำดี และควรปรับระดับค่า pH ของดินให้อยู่ระหว่าง 6.5-7

แปลงที่ใช้ปลูกดาวเรืองอาจใช้วิธียกร่อง หรือปรับระดับดินให้สูงกว่าระดับดินธรรมดาไม่ต่ำกว่า 1 ฟุต ควรรดน้ำดินให้ชุ่มทิ้งไว้ 1 วัน ก่อนปลูก หลุมสำหรับปลูกควรขุดหลุมขนาดกว้างประมาณ 6 นิ้ว ลึกไม่เกิน 6 นิ้ว ระยะปลูกประมาณ 30×30 ซม. ก่อนปลูกควรรองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอกปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยชีวภาพ ขุยมะพร้าว เปลือกถั่ว ฟางผุ อย่างละ 1 บุ้งกี๋ คลุกเคล้าให้เข้ากันแล้วจึงนำกิ่งพันธุ์หรือต้นกล้าลงไปปลูก หลังจากกลบดินเรียบร้อยแล้วควรคลุมแปลงปลูกและรดน้ำให้ชุ่ม การคลุมแปลงจะช่วยรักษาความชื้นรักษาอุณหภูมิและช่วยป้องกันวัชพืช วัสดุที่ใช้คลุมแปลง เช่น ฟางข้าว เศษหญ้าแห้ง เปลือกถั่ว หรือวัสดุอื่นที่มี

การให้น้ำ

ในช่วงที่ต้นกล้าหรือกิ่งชำยังตั้งตัวไม่ได้ หรือในช่วงสัปดาห์แรกของการปลูกควรให้น้ำอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เช้าเย็น หลังจากนั้นให้รดน้ำวันละครั้งในช่วงเข้า ซึ่งจะทำให้ดาวเรืองนำน้ำไปใช้ประโยชน์ได้มากกว่าในช่วงเย็น เมื่อดาวเรืองอายุประมาณ 30 วันหลังปลูกหรือในช่วงที่ดอกเริ่มบาน การรดน้ำให้ระวังอย่าให้โดนดอก เพราะจะทำให้คุณภาพดอกไม่ดีและเกิดโรคระบาดได้ง่าย

การให้ปุ๋ย

หลังจากปลูกดาวเรืองประมาณ 15 วัน ให้ใส่ปุ๋ยที่มีไนโตรเจนสูง เพื่อเร่งการเจริญเติบโตของลำต้น กิ่ง และใบ ในระยะนี้หากดาวเรืองขาดไนโตรเจนจะโตช้า ใบมีสีเหลือง กิ่งก้านยาว เล็ก และอ่อนแอ การให้ปุ๋ยครั้งต่อไปให้ใส่ทุก 15-20 วัน กระทั่งดาวเรืองเริ่มให้ดอกจึงใส่ปุ๋ยที่มีฟอสฟอรัสสูงเพื่อเร่งดอก หลังใส่ปุ๋ยทุกครั้งควรรดน้ำตามทันที จากนั้นให้พรวนดินรอบ ๆ ต้นแล้วนำไปกลบที่โคนต้น เนื่องจากดาวเรืองจะมีรากแตกออกมาจากโคนต้นอีก หรือฉีดพ่นด้วยน้ำหวานหมักจากผลไม้ (Fermented Fruit Juice) ใช้ฉีดพ่นแบบฮอร์โมนพืช ให้ผลในการบำรุงดีมากโดยเฉพาะในช่วงที่พืชกำลังออกดอก

การเด็ดยอด

การเด็ดยอดหรือที่เรียกว่า “การเด็ดตุ้ม” จะช่วยให้ดาวเรืองแตกพุ่มผลิตดอกที่มีคุณภาพ(ในหนึ่งต้นควรมีดอกประมาณ 8 ดอก) ดอกใหญ่จำหน่ายได้ราคาดี การเด็ดยอดทำเมื่อดาวเรืองอายุได้ 21-23 วัน หรือเมื่อดาวเรืองมีใบจริงขนาดใหญ่ 4 คู่ และส่วนยอดมีใบเล็ก ๆ 1-2 คู่

วิธีเด็ดยอด ให้ใช้มือซ้ายจับใบคู่บนสุดที่ต้องการเหลือไว้ แล้วใช้มือขวาดึงส่วนยอดลงทางด้านข้าง ช้า ๆ เพื่อให้ยอดหลุดออกมา มูลเหตุที่ไม่ใช้วิธีเด็ดยอดตรง ๆ เพราะจะทำให้ยอดหลุดออกมาไม่หมด โดยเฉพาะยอดสั้น ๆ ทำให้ยังมีส่วนของตายอดเหลือติดอยู่แล้วเจริญเป็นดอกที่มีขนาดเล็กไม่มีคุณภาพในภายหลัง

การปลิดตาข้าง

หลังจากเด็ดยอดประมาณ 7 วัน ตาข้างจะเริ่มแตกเป็นกิ่งใหม่ ให้สังเกตดูว่ามีดอกที่ยอดและมีตาข้างออกงอกมาหรือยัง แล้วรอจนกระทั่งดอกที่ยอดมีขนาดเท่าเมล็ดข้าวโพดหรือถั่วเขียว ให้ทำการปลิดตาข้างของแต่ละกิ่งออกให้หมด คงไว้เฉพาะดอกยอดเพียงดอกเดียวต่อหนึ่งกิ่ง ซึ่งจะทำให้ดอกมีขนาดใหญ่ มีก้านดอกยาวและมีขนาดสม่ำเสมอ

การตัดดอก

อายุของดาวเรืองที่สามารถตัดดอกไปจำหน่ายได้คือประมาณ 55-65 วัน หรือให้สังเกตจากดอกที่ยังมีกลีบดอกตรงกลางเป็นสีเขียวอยู่ จะทำให้ดอกทนกว่าดอกที่บานเต็มที่ การตัดควรตัดให้ชิดโคนกิ่งมากที่สุด ก่อนการตัดดอกประมาณ 2-3 วัน ให้ผสมน้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 15 ลิตร ฉีดพ่นเฉพาะใบของดาวเรืองทั้งด้านบนและด้านล่าง เพื่อให้ก้านดอกแข็งแรงขึ้น

โรค-แมลงและการป้องกันกำจัด

โรคดาวเรือง โรคของดาวเรืองที่สำคัญและพบมากได้แก่ โรคเหี่ยว โรคราแป้ง โรคดอกไหม้

1.  โรคเหี่ยว เกิดจากเชื้อราไฟทอปทอรา(Phytoptota) อาการของโรคในระยะแรกคล้าย อาการขาดน้ำ โดยจะเหี่ยวในช่วงกลางวันส่วนกลางคืนจะปกติจากนั้น 3-4 วัน จะมีอาการเหี่ยวทั้งต้นและตายในที่สุด โรคนี้มักระบาดมากช่วงดอกกำลังบาน

2.  โรคราแป้ง เกิดจากเชื้อราระบาดในช่วงอากาศหนาวหรือมีน้ำค้างลงจัด มักเกิดกับใบย่อยหรือยอดอ่อน อาการของโรคจะเป็นขุยคล้ายผงแป้งสีขาวอยู่บริเวณผิวใบทั้งด้านบนและล่าง ใบมักหงิกงอ ส่วนที่เป็นโรคอาจเปลี่ยนเป็นสีม่วงถึงดำ หากเกิดกับใบจะทำให้ใบร่วง หากเกิดกับดอกตูมจะทำให้ดอกไม่บาน

3.  โรคดอกไหม้ เกิดจากเชื้อรา มักทำลายดอก ทำให้ดอกเป็นสีน้ำตาล

แมลงศัตรูดาวเรือง

แมลงศัตรูของดาวเรืองมีไม่มากนัก เนื่องจากดาวเรืองมีกลิ่นฉุนไม่เป็นที่ชื่นชอบของแมลง อย่างไรก็ตามยังมีแมลงศัตรูที่สำคัญ คือ เพลี้ย และหนอนกระทู้หอม

การป้องกันกำจัด

วิธีที่ดีที่สุดคือดูแลรักษาต้นดาวเรื่องให้เจริญเติบโตสมบูรณ์ แข็งแรง หมั่นกำจัดวัชพืช ทำความสะอาดต้น บำรุงปุ๋ย กำจัดต้นที่เป็นโรคไปเผาทำลาย หรือฉีดพ่นน้ำหมักสะเดาหรือสมุนไพรอื่น ๆ ที่มีฤทธิ์ในการป้องกันและกำจัดแมลงศัตรูพืช เช่น ตะไคร้หอม ข่า ฟ้าทะลายโจร พริกขี้หนู หรือน้ำหมักชีวภาพเพื่อขับไล่แมลงศัตรูพืชทุก ๆสัปดาห์ ก่อนที่จะมีโรคแมลงรบกวนโดยควรทำในช่วงเช้าหลังฝนตกหนัก และควรมีการปลูกพืชหมุนเวียนบำรุงดินชนิดอื่น เพื่อตัดวงจรของโรคแมลง และให้มีการใช้ประโยชน์จากดินอย่างเต็มที่ เพราะพืชแต่ละชนิดมีรากลึกและต้องการธาตุอาหารแตกต่างกัน