ดีปลี

ดีปลี

ชื่อพื้นเมืองอื่นๆ ดีปลีเชือก ประดงข้อ ปานนุ พิษพญาไฟ

ชื่ออังกฤษ Long Pepper

ชื่อวิทยาศาสตร์ Piper retrofrdctum vahl

วงศ์ Piperaceae

ดีปลีเป็นพืชที่ใช้เป็นเครื่องเทศแต่งกลิ่นอาหารมานานแล้ว เป็นพืชเมืองร้อน มีปลูกมากในอินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย ดีปลีเป็นไม้เลื้อยที่ชอบขึ้นในที่มีความชื้นสูง และมีฝนตกชุก เถาเป็นไม้เนื้อแข็ง ที่ข้อต่อของลำต้นจะมีรากงอกออกมาเพื่อช่วยยึดลำต้นไว้ ใบเป็นใบเดี่ยว หนาและมีลักษณะมันคล้ายหนัง ปลายใบเรียวแหลม โคนใบเบี้ยว ดอกออกเป็นช่อ ดอกตัวผู้และตัวเมียอยู่คนละต้น ผลอัดกันแน่นเป็นช่อยาวสีเขียวเข้ม เมื่อผลแก่จัด จะเปลี่ยนเป็นสีนํ้าตาลและแดง

ดีปลีที่มาจากประเทศอินเดียได้จากต้นดีปลี 2 ชนิด คือ Piper longum Linn. และ Piper peepuloides Roxb. ส่วนดีปลีที่มาจากอินโดนีเซีย หรือมาเลเซีย และที่ปลูกในประเทศไทย ได้จาก Piper retrofrdctum Vahl ทั้งหมดเป็นพืชในวงศ์ Piperaceae ซึ่งเป็นวงศ์เดียวกับพริกไทย และพลู ส่วนที่ใซ้ คือ ผลแก่

สารสำคัญ

ในผลดีปลีมีสารสำคัญเป็นนํ้ามันหอมระเหยประมาณ ร้อยละ 0.7 นํ้ามันดีปลีจะมีกลิ่นคล้ายนํ้ามันจากพริกไทยและขิงรวมกัน ในนํ้ามันดีปลีประกอบด้วยสารแอลฟ่า-ทูจีน (a-thujene), เทอร์ปิโนลีน (terpinolene), ซิงจิเบอรีน (zingiberene), พารา-ไซมีน (p-cymene) เป็นต้น นอกจากนี้ในผลดีปลีที่ได้จาก P. longum ยังมีแอลคาลอยด์พิพเพอรีน (piperine) อยู่เล็กน้อยด้วย นอกจากใช้ผลแล้วบางแห่งปลูกดีปลีไว้เพื่อใช้ราก เช่น ในอินเดีย รากดีปลีมีรสเผ็ดร้อนและขม ทำให้ ลิ้นชา เนื่องจากมีแอลคาลอยด์ พิพเพอรีน และพิพลาทีน (piplatine) รากใช้เป็นส่วนผสมในตำรับยาทางอายุรเวท

ประโยชน์ทางยา

ดีปลีใช้เป็นเครื่องเทศ นิยมใช้แต่งกลิ่นผักดอง และช่วยถนอมอาหารไม่ให้บูดง่าย บางครั้งนำมาปนเป็นผงใช้ปนปลอมในพริกไทยดำ ในทางยา ดีปลีใช้เป็นยาขับลม ใช้ในโรคที่เกี่ยวกับทางเดินหายใจ เช่น ขับเสมหะ แก้หืด แก้หลอดลมอักเสบ เป็นต้น ใช้แก้โรคลมบ้าหมู ใช้เป็นยาขับนํ้าดี ขับระดู ช่วยลดอาการอักเสบ และยังใช้ภายนอกเพื่อระงับอาการปวดที่กล้ามเนื้อ ทำให้ร้อนและมีเลือดมาเลี้ยงบริเวณนั้นมากยิ่งขึ้น

วิธีใช้ เป็นยาขับลม ใช้ผลแก่จัด 3-4 ผล ชงนํ้าดื่ม ส่วนการใช้เพื่อขับเสมหะ ใช้ดีปลีครึ่งผลตำละเอียด เติมนํ้ามะนาวและเกลือเล็กน้อย ใช้กวาดคอ หรือใซ้จิบบ่อยๆ

ดีปลีมีกลิ่นฉุนและรสเผ็ด จะช่วยกระตุ้นให้นํ้าลายไหลออกมามากขึ้น และทำให้เยื่อเมือกในปากชาได้ ทั้งนี้เป็นผลมาจากแอลคาลอยด์พิพเพอรีน และแอลคาลอยด์อื่นๆ