ด้วง:ด้วงขาโตแมลงศัตรูฝักมะขาม

บุษบา  พรหมสถิต

กลุ่มงานวิจัยแมลงศัตรูผลิตผลเกษตร

กองกีฏและสัตววิทยา

มะขาม เป็นพืชที่ปลูกได้ง่ายในประเทศไทย โดยเฉพาะมะขามเปรี้ยวสามารถขึ้นได้ดีในดินแทบทุกชนิด จึงพบมะขามแทบทุกภาคของประเทศ นอกจากมะขามเปรี้ยวจะทำรายได้ให้กับประเทศไทยในรูปของมะขามเปียกปีละหลายร้อยล้านบาทแล้ว มะขามหวานก็เป็นพืชทำรายได้สูงให้กับเกษตรกรเช่นกัน โดยมะขามหวานเป็นพืชที่เกษตรกรสามารถกำหนดราคาได้เอง มะขามแก่จะเก็บเกี่ยวในเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ หากเป็นพันธุ์เบาจะเก็บเกี่ยวได้ตั้งแต่เดือนธันวาคม ฝักมะขามแมลงจะเข้าทำลายทำให้เกิดความเสียหายได้ตั้งแต่ก่อนเก็บเกี่ยวและแมลงก็จะติดตามไปทำความเสียหายเพิ่มขึ้นในระยะที่รอจำหน่ายหรือเก็บรักษาไว้ แมลงศัตรูที่สำคัญของฝักมะขามได้แก่ ด้วงขาโต ด้วงงวงมะขาม มอดมะขามและผีเสื้อฝักมะขาม

ในประเทศไทยมีรายงานพบด้วงขาโต (Carvedon serratus (Olivier)) ในเมล็ดมะขามมาตั้งแต่พ.ศ. 2508 และเนื่องจากปริมาณที่พบและมีความเสียหายเพียงเล็กน้อย จึงไม่มีรายงานการศึกษาถึงแมลงชนิดนี้มาก่อน ปัจจุบันเกษตรกรมีการปลูกมะขามมากทั้งมะขามเปรี้ยว และมะขามหวาน ทำให้แมลงศัตรูชนิดนี้ระบาดทำความเสียหายมากขึ้น จึงได้ทำการศึกษาแมลงศัตรูชนิดนี้ โดยสามารถสรุปได้ดังนี้

1.  ด้วงขาโต มักวางไข่เป็นฟองเดี่ยว สีขาวนวล ขนผิวเมล็ด 2-3 ฟองต่อเมล็ด โดยหนอนที่ฟักออกจากไข่จะมีสีขาวขุ่น รูปร่างงอเป็นรูปตัวซี© และตัวหนอนมักจะเจาะรูออกมาเข้าดักแด้ภายในเมล็ด ดักแด้มีสีขาวครีม ด้วงขาโตมีวงจรชีวิตประมาณ 47-68 วัน

2.  ด้วงขาโตจะทำลายในระยะหนอน  โดยกัดกินเมล็ดมะขาม ทำให้เป็นรอยหรือเป็นรู แม้วาด้วงขาโตไม่ชอบกินเนื้อมะขามแก่ ในมะขามหวานนั้นถ้าฝักใดถูกทำลายโดยด้วงขาโตที่จะทำให้ฝักนั้นเสียคุณภาพไปทั้งฝัก เนื่องจากจะมีมูลของหนอนออกมาปนเปื้อน

3.  ใบมะขามหวาน ด้วงชนิดนี้สามารถเข้าทำลายได้ตั้งแต่ระยะเป็นฝักอ่อนอยู่บนต้น  ซึ่งเกษตรกรสามารถใช้สารกำจัดแมลงพ่นในระยะนี้ได้ เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวเต็มวัยมาวางไข่และเมื่อเก็บฝักมะขามหวานมาแล้ว ควรนำมาตัดแต่งฝักมะขามไม่ให้เหลือส่วนที่ไว้ยาว เพื่อจะไปทำให้ฝักอื่น ๆ แตกเป็นรอยร้าว ในขณะที่ขนย้าย บรรจุ หรือเก็บรักษา ทำให้แมลงเข้าทำลายได้ง่ายขึ้น  การนึ่งฝักมะขามด้วยไอน้ำตามแบบของเกษตรกร หากใช้ความร้อนและเวลาไม่พอจะเพียงชะงักการเจริญเติบโตของด้วงชนิดนี้เท่านั้น จึงควรทำด้วยความระมัดระวัง นอกจากนี้ด้วงขาโตยังมีพืชอาศัย ซึ่งเป็นพืชอาหารหลายชนิด ในพืชตระกูลถั่ว เช่น ราชพฤกษ์ กัลปพฤกษ์ ซึ่งผักของพืชเหล่านี้เป็นแหล่งอาหารของด้วงขาโต หากปลูกไว้ใกล้สวนมะขามไม่ควรปล่อยฝักทิ้งไว้ใต้ต้น เนื่องจากจะเป็นแหล่งสะสมแมลงอย่างดี