ด้วงหนวดยาวเจาะลำต้นนุ่น

เกศรา  จีระจรรยา ลักขณา  บำรุงศรี  สว่าง  วังบุญคง

กองกีฏและสัตววิทยา กรมวิชาการเกษตร

นุ่น เป็นพืชที่ปลูกกันทั่วๆไป ในทุกภาคของประเทศ มักปลูกตามริมรั้วหรือรอบๆบ้าน ที่ปลูกพื้นที่เป็นไร่มีมากในจังหวัดกาญจนบุรีและประจวบคีรีขันธ์ นุ่นมีประโยชน์แทบทุกส่วนของต้น เส้นใยใช้ทำเบาะ ที่นอน ผ้านวม และเสื้อชูชีพ เมล็ดให้สกัดน้ำมัน กากเมล็ดใช้ทำอาหารสัตว์ ไส้นุ่นใช้ผสมเป็นวัสดุในการเพาะเห็ด ลำต้นใช้ทำส้นรองเท้าและเยื่อกระดาษ จัดเป็นพืชที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศไทยโดยส่งเป็นสินค้าออกทำรายได้ปีละประมาณ ๒๐๐ ล้านบาท

ประเทสไทยนับเป็นประเทศส่งออกนุ่นที่สำคัญของโลก โดยมีลูกค้ารายใญ่คือ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และจีน แต่เกษตรกรไม่สนใจนุ่นเท่าที่ควร มักปลูกในลักษณะทิ้งขวางตามหัวไร่ปลายนา ผลผลิตนุ่นไม่แน่นอนและมีแนวโน้มว่าจะตกต่ำลงเรื่อยๆ การศึกษาเพื่อเพิ่มผลผลิตนุ่นจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อช่วยเพิ่มรายได้ได้กับเกษตรกร

ด้วงหนวดยาวเจาะลำต้นนุ่น-ศัตรูตัวร้าย

นอกจากปัญหาเรื่องพันธุ์นุ่นซึ่งมีผลโดยตรงต่อผลผลิตและคุณภาพของนุ่นแล้ว ปัญหาที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือแมลงศัตรู นุ่นมีแมลงศัตรูรบกวนหลายชนิด

เกศราและคณะ(๒๕๒๓) รายงานว่า ได้สำรวจพบแมลงศัตรูนุ่น ๓๓ ชนิด แมลงศัตรูที่สำคัญที่สุดคือ ด้วยหนวดยาวเจาะลำต้น ด้วยหนวดยาวนี้พบระบาดทั่วไปทุกแห่งที่มีการปลูกนุ่น ถ้าระบาดรุนแรงและเกษตรกรไม่กำจัด นุ่นอาจตายได้ ซึ่งปัญหานี้เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกษตรกรต้องเลิกปลูกนุ่นและเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นแทน ถ้าเกษตรกรหันมาสนใจและกำจัดศัตรูนุ่นชนิดนี้จะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามาก เพราะนุ่นเป็นพืชยืนต้นที่ให้ผลผลิตนาน  ฉะนั้นจึงควรมาทำความรู้จักกับด้วงชนิดนี้ดูบ้าง

๑.  อุปนิสัยการทำลายของหนอน

หนอนของด้วงหนวดยาวเจาะลำต้นเมื่อออกจากไข่จะกัดกินเข้าไปในลำต้นทันที และเข้าไปทำลายส่วนที่เป็นเยื่อเจริญของลำต้นตลอดระยะเวลาที่เป็นหนอน ลักษณะการทำลายจะชอบไชไปทั่ว ทำให้สังเกตยากว่าหนอนกินอยู่ที่ใด จึงยากแก่การกำจัด

เมื่อหนอนโตใกล้เข้าดักแด้จะย้ายตำแหน่งการกินไปยังบริเวณส่วนล่างของลำต้นเพื่อเข้าดักแด้ที่โคนต้นหรือในดินใกล้ๆราก หนอนส่วนใหญ่จะทำลายต้นนุ่นที่มีขนาดใหญ่อายุประมาณ ๕-๖ ปีขึ้นไป เพราะขนาดของลำต้นส่วนที่จะใช้เป็นอาหารของหนอนต้องมีความหนาพอที่จะให้มันกัดกินจนเข้าดักแด้ได้ โดยทั่วๆไป จะพบหนอนทำลายในระดับตั้งแต่โคนต้นจนถึงระดับต้นสูงประมาณ ๒ เมตร แต่อาจพบการทำลายสูงขึ้นไปจนถึงช่วงกิ่งแรกของต้น

๒.  รูปร่างลักษณะและชีวประวัติ

ไข่ ตัวเต็มวัยจะเริ่มออกจากดักแด้ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-เมษายน ทั้งนี้ขึ้นกับสภาพแวดล้อม กล่าวคือ ถ้าอากาศเริ่มมีความชื้น ตัวเต็มวัยจะเริ่มออกจากดักแด้ผสมพันธุ์และวางไข่

ไข่มีลักษณะยาวรีคล้ายเมล็ดข้าวสารแต่เล็กกว่าสีเหลืองนวล ผิวเรียบเป็นมันใสปลายด้านหนึ่งแหลม ส่วนอีกด้านหนึ่งมน มีขนาดประมาณ ๒.๐x๑.๐ มิลลิเมตร ระยะไข่ ๖-๗ วัน

ตัวเมียจะวางไข่โดยใช้อวัยวะวางไข่แทงที่เปลือกของลำต้นให้เป็นรูและวางไข่ไว้ที่รูนั้น และจะมียางของนุ่นออกมาหุ้มไข่ไว้ อาจจะพบไข่วางที่รอยแตกของลำต้น โดยไม่มียางปิด หรือบางครั้งจะพบไข่วางติดกับขุยนุ่นที่โคนต้น ตัวเมียตัวหนึ่งจะวางไข่ได้ประมาณ ๕๐-๖๐๐ ฟอง เฉลี่ยประมาณ ๓๒๐ ฟอง

หนอน หนอนที่ออกใหม่ ๆ จะมีขนาดเล็กสีขาวนวลขนาดประมาณ ๓.๐x๑.๐ มิลลิเมตร หนอนจะเข้าไปในลำต้นตามรอยที่มันแทงวางไข่ไว้นั้น และกัดกินชอนไชไปตามเยื่อเจริญของลำต้นโดยมีขุยนุ่นที่มันกัดกินอุดบริเวณปากรู สังเกตจากภายนอกจะเห็นเป็นยางสีน้ำตาลอ่อนไหลออกมาและมีขุยสีแดงสด ฉ่ำน้ำแสดงว่ามีหนอนทำลายอยู่บริเวณใกล้ ๆ นั้น แต่ถ้ายางที่ไหลออกมามีลักษณะแห้งสีเข้มและมีขุยนุ่นสีดำแสดงว่าเป็นรอยทำลายเก่าที่หนอนเข้าดักแด้ไปแล้ว หนอนโตเต็มที่มีขนาดประมาณ ๘.๐x๑.๒ ซม. ระยะหนอนประมาณ ๑๑๕-๑๓๐ วัน เมื่อหนอนโตเต็มที่จะหยุดกินอาหาร และหดตัว สีของลำตัวเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเข้ม หนอนจะเข้าดักแด้บริเวณโคนต้น รากหรือในดินใกล้ๆ ราก

ดักแด้ มีลักษณะคล้ายไข่รูปแบนสีขาวนวล ขนาดดักแด้ประมาณ ๓x๕.๕ ซม. เกิดจากการที่หนอนกลั่นสารพวกแคลเซียมคาร์บอเนตออกมาห่อหุ้มตัวไว้ เปลือกดักแด้ภายในจะเรียบส่วนภายนอกขรุขระเล็กน้อยและมีเศษขุยนุ่นติดอยู่ หนอนใช้เวลาในการสร้างรัง ๑-๒ วัน ระยะดักแด้ประมาณ ๘๐-๒๒๐ วัน ขึ้นกับสภาพแวดล้อมซึ่งถ้าเหมาะสมคือมีความชื้นพอก็จะออกเป็นตัวเต็มวัย

ตัวเต็มวัย เป็นด้วยปีกแข็งหนวดยาวสีน้ำตาลแก่ ขนาดลำตัวประมาณ ๑.๓x๓.๙ ซม. เพศผู้จะมีหนวดยาวกว่าลำตัวมาก ส่วนเพศเมียหนวดจะสั้นกว่าหรือเท่าๆกับลำตัว แต่ปล้องของหนวดทั้ง ๒ เพศเท่ากัน ลักษณะนี้เห็นชัดเจนใช้แยกเพศได้ เมื่อออกจากดักแด้ใหม่ๆ ผิวลำตัวจะนิ่มและมีสีน้ำตาลอ่อน หลังจากนั้น ๑ วันผิวของลำตัวจะแข็งและสีเข้มขึ้น

ไพศาล (๒๕๐๒) รายงานว่า ด้วงหนวดยาวชนิดนี้มีการจำศีล ในระยะตัวเต็มวัยด้วย โดยเมื่อดักแด้เจริญเต็มที่แล้วก็จะเป็นตัวเต็มวัย ถ้าอากาศภายนอกยังคงหนาวเย็นและแห้งแล้ง ตัวเต็มวัยก็จะอยู่ในรังต่อไป ปกติจะพบตัวเต็มวัยในช่วงเดือนพฤศจิกายน-เมษายน ปีหนึ่งจะมี ๑ รุ่น อายุขัยเฉลี่ย ๓๔๘ วัน แต่เนื่องจากระยะตัวเต็มวัยและระยะหนอนยาว จึงทำให้พบการระบาดของหนอนมีอยู่เกือบตลอดปี

สรุปชีพจักรของด้วงหนวดยาวเจาะลำต้น

–         ระยะไข่ ๖-๗ วัน

–         ระยะหนอน ๑๑๕-๑๓๐ วัน

–         ระยะหยุดกินอาหาร-สร้างรังเสร็จ ๑-๓ วัน

–         ระยะดักแด้ ๘๐-๒๒๐ วัน

–         ระยะตัวเต็มวัย ๓๐-๑๐๐ วัน

–         อายุเฉลี่ยประมาณ ๓๔๐ วัน

ข้อแนะนำในการป้องกันกำจัด

๑. ในระยะที่ตัวเต็มวัยออกจากดักแด้หรือเริ่มมีฝนตก ให้หมั่นตรวจดูแปลงนุ่นถ้าพบไข่หรือหนอน โดยสังเกตรอยตามลำต้นจะมียางนุ่นติดอยู่ ให้รีบเก็บทำลาย ถ้าพบหนอนก็ทำการกำจัดโดยวิธีกลอย่างง่ายๆ คือใช้มีดถากตามรอยเมื่อพบหนอนก็ทำลายเสีย ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีที่ดีที่สุดทั้งง่าย ประหยัด และปลอดภัย

๒.  ถ้าพบร่องรอยการทำลายของหนอนให้ใช้สารฆ่าแมลงเข้มข้นไม่ผสมน้ำฉีดเข้าไปในรูที่มีขุยนุ่นด้วยเข็มฉีดยา รูละ ๑-๒ ซีซี ในกรณีที่พบรอยทำลายหลายแห่งก็ควรฉีดหลายแห่งด้วย สารฆ่าแมลงที่ใช้ได้แก่ chlorpyrifos 40℅EC. หรือ pirimifos-methyl 50℅EC.

เอกสารอ้างอิง

เกศรา  จีระจรรยา, ลักขณา บำรุงศรี และสว่าง  วังบุญคง ๒๕๒๓.

เอกสารประกอบการบรรยายเรื่องแมลงศัตรูนุ่น สาขาแมลงศัตรูฝ้ายและพืชเส้นใย กองกีฏและสัตววิทยา กรมวิชาการเกษตร. ๕ หน้า