สภาพการตลาดผลิตภัณฑ์ผึ้ง


ผลิตภัณฑ์จากผึ้งที่เป็นที่รู้จักกันดีที่สุดคือ น้ำผึ้ง ซึ่งจัดเป็นอาหารอันทรงคุณค่าเหมาะสำหรับทุกเพศทุกวัย สามารถรักษาโรคบางชนิดได้ ตลอดจนมีคุณสมบัติเป็นยาบำรุงกำลังและยาอายุวัฒนะ นอกจากนํ้าผึ้งแล้ว ผลิตภัณฑ์จากผึ้งที่เริ่มเข้าตลาดและชื่อเพิ่งจะเป็นที่คุ้นเคยของผู้บริโภคก็คือ นมผึ้งและเกสรผึ้ง ซึ่งจะบอกกล่าวแยกพิจารณาสภาพของตลาดเป็นประเภทของผลิตภัณฑ์ ได้แก่
-สภาพการตลาดน้ำผึ้ง
ปัจจุบันนํ้าผึ้งในประเทศที่มีคุณภาพมากที่สุด คือ นํ้าผึ้งจากเกสรลำไย รองลงมา ได้แก่ นํ้าผึ้งจากสาบเสือและเกสรลิ้นจี่ ดังนั้น ฤดูการที่ผลิตได้ดีที่สุด คือ ช่วงธันวาคม-เมษายน เนื่องจากเป็นช่วงที่ลำไยออกดอก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม หลังจากนี้ไปแล้วจะเหลือเพียงนํ้าผึ้งจากสาบเสือ ในปี 2531/32 เขตภาคเหนือจะผลิตนํ้าผึ้งได้ประมาณ 1,296 ตัน แยกเป็นนํ้าผึ้งจากเกสรลำไย 1,262 และจากสาบเสือ 34 ตัน คาดว่าในปี 2532/ 33 จะผลิตนํ้าผึ้งได้เพียง 600 ตัน แยกเป็นนํ้าผึ้งจากเกสรลำไย 529 ตัน และนํ้าผึ้งสาบเสือ 157 ตัน ผลผลิตน้ำผึ้งที่ลดลงเนื่องจากในช่วงปี 2532/ 33 ลำไยให้ผลผลิตน้อย ดังนั้น ผลผลิตและราคาของนํ้าผึ้งแต่ละปีจะผันแปรไปตามผลผลิตของลำไยหรือปริมาณเกสรลำไย
การแบ่งเกรดนํ้าผึ้งในการผลิตจะมี 2 เกรด คือ เกรดอุตสาหกรรม ซึ่งจะมีลักษณะเหลวกว่าอีกเกรดหนึ่งคือเกรดผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำผึ้งจากดอกลำไยจะแพงกว่านํ้าผึ้งจากสาบเสือ กล่าวคือ ราคานํ้าผึ้งจากดอกลำไยประมาณกิโลกรัมละ 55-70 บาท ส่วนราคานํ้าผึ้งสาบเสือจะตกประมาณกิโลกรัมละ 30-35 บาท ทั้งนี้เนื่องจากน้ำผึ้งสาบเสือเมื่อแรกเก็บนํ้าผึ้งจะมีลักษณะใส สวยน่ารับประทาน แต่พอเก็บไว้นานๆ ประมาณ 6 เดือน สีของนํ้าผึ้งจะเริ่มเปลี่ยนและตกผลึก โดยปกติแล้วคุณภาพน้ำผึ้งสาบเสือจะมีคุณสมบัติด้านรสชาติดี แต่เนื่องจากเก็บได้ไม่นานจะตกผลึกสีดำเข้ม จึงเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกเป็นอย่างยิ่ง
สำหรับตลาดในประเทศนั้นนํ้าผึ้งยังไม่เป็นที่นิยมมากนัก ส่วนหนึ่งเนื่องจากยังขาดความรู้และความเข้าใจ ตลอดจนการสนับสนุนที่ดีพอ ทั้งๆ ที่นํ้าผึ้งมีคุณค่าทางอาหารสูงมากและผลิตได้ในประเทศ และบางส่วนก็เนื่องจากข้อจำกัดในเรื่องราคาขายปลีกที่อยู่ในเกณฑ์สูง ตลาดในประเทศจะเป็นการขายตรงให้กับโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อนำไปผลิตผลิตภัณฑ์ผึ้ง ได้แก่
-ส่วนผสมในการผลิตนมผึ้งและผลิตภัณฑ์บำรุงร่างกาย
-บรรจุขายเป็นนํ้าผึ้งธรรมชาติ
-วัตถุดิบของอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ใช้นํ้าผึ้งเป็นส่วนประกอบ เช่น สบู่นํ้าผึ้ง ขนมปังนํ้าผึ้ง เป็นต้น
ในตลาดมีนํ้าผึ้งอยู่หลายยี่ห้อวางจำหน่าย ซึ่งถ้านับรวมเอาบรรดานํ้าผึ้งป่า จากนักตีผึ้งซึ่งยังคงมีอยู่แล้ว มีนับเป็นสิบๆ ยี่ห้อ แต่บรรดานํ้าผึ้งที่ได้มาตรฐานบรรจุขวดขายแล้ว ชื่อเสียงของค่ายเวชพงศ์ครอบครองความเป็นผู้นำอยู่ อย่างไรก็ตามตลาดนํ้าผึ้งในประเทศก็ยังมีการแข่งขันไม่รุนแรงนัก บรรดาผู้ผลิตอื่นๆ ก็เน้นการขายโดยอาศัยการที่มีฟาร์มเลี้ยงผึ้งเอง
ตลาดต่างประเทศของนํ้าผึ้งนั้นน่าสนใจพอๆ กับตลาดภายในประเทศ จากเดิมที่เริ่มทำตลาดมาตั้งแต่ชาวต่างประเทศไม่รู้จักนํ้าผึ้งจากเกสรลำไยและนํ้าผึ้งจากประเทศไทย จนกระทั่งในปัจจุบันชาวต่างประเทศยอมรับและนิยมอย่างมาก เนื่องจากนํ้าผึ้งที่ไทยผลิตได้มีเพียง 2 แหล่งเท่านั้นในโลก คือ ไทย และสาธารณรัฐประชาชนจีน (เวียดนามมีปัญหาภายในประเทศการผลิตนํ้าผึ้งและการพัฒนาอุตสาหกรรมเลี้ยงผึ้งจึงยังไม่พัฒนาเท่าที่ควร) นํ้าผึ้งที่ส่งออกจะถูกบรรจุในถัง 2 ขนาด คือ ถังเล็กขนาดบรรจุถังละ 28 กิโลกรัม และถังใหญ่ขนาดบรรจุถังละ 250 กิโลกรัม
อย่างไรก็ตาม การส่งออกนํ้าผึ้งธรรมชาติยังไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำผึ้งที่ผลิตในแต่ละปี ตลาดที่ส่งออกสำคัญยังคงเป็นตลาดในเอเชีย ได้แก่ ฮ่องกง ญี่ปุ่น และไต้หวัน ปริมาณการส่งออกในปี 2532 มีเพียง 70 ตัน มูลค่า 9.29 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2531 แล้วลดลงถึงร้อยละ 59.8 และ 62.1 เนื่องจากผลผลิตนํ้าผึ้งในประเทศลดลง และเมื่อพิจารณาการนำเข้านํ้าผึ้งธรรมชาติในช่วง ปี 2528-2532 แล้งจะพบว่าการนำเข้ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปริมาณ 113 ตัน มูลค่า 2.98 ล้านบาทในปี 2528 เป็น 146 ตัน มูลค่า 5.59 ล้านบาท ในปี 2532 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.2 และ 87.6 ตามลำดับ ประเทศที่เป็นแหล่งนำเข้านํ้าผึ้งของไทยก็คือ ออสเตรเลีย สาธารณรัฐประชาชนจีนสหรัฐอเมริกา นิวซีแลนด์ และเยอรมัน แสดงให้เห็นว่านํ้าผึ้งในประเทศ มีไม่เพียงพอกับความต้องการ แต่จากการที่ภาวะตลาดกำลังขยายตัว จึงควรเร่งให้มีการพัฒนาอุตสาหกรรมการเลี้ยงผึ้งเพื่อให้ได้นํ้าผึ้งที่มีปริมาณมากขึ้น
ปัญหาของนํ้าผึ้งของไทย ในด้านการผลิตก็คือ นํ้าผึ้งของไทยค่อนข้างจะเสียเปรียบการผลิตนํ้าผึ้งในต่างประเทศ กล่าวคือ มีการผลิตเพียงปีละ 2 ครั้ง คือ ช่วงเดือนธันวาคมและในระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ในขณะที่นํ้าผึ้งจากต่างประเทศ เช่น ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา ผลิตได้ตลอด 6 เดือน สำหรับปัญหาอีกประการหนึ่ง ในการผลิตก็คือ การควบคุมคุณภาพทั้งความเข้มข้นและความชื้น เนื่องจากเปอร์เซ็นต์ความชื้นยิ่งตํ่าจะยิ่งสามารถเก็บนํ้าผึ้งได้นาน ซึ่งในเรื่องเปอร์เซ็นต์ของนํ้าผึ้งโดยทั่วไปจะแบ่งเป็น 4 เกรด คือ 25% 23%, 21% และต่ำกว่า 19% ทั่วโลกนิยมนํ้าผึ้งที่มีค่าความชื้นระหว่าง 18.6-19.0% ในขณะที่ประเทศไทยผลิตได้ที่ความชื้น 20-21% ซึ่งจะเก็บได้ ประมาณ 3 ปี แต่ไต้หวันจะนิยมนํ้าผึ้งที่ความชื้น 23-25% เนื่องจากมีอากาศเย็นจึงเก็บรักษาด้นาน นอกจากเปอร์เซ็นต์ค่าความชื้นจะมีความสัมพันธ์กับระยะเวลาการเก็บรักษานํ้าผึ้งแล้วยังมีความสัมพันธ์กับราคาด้วย กล่าวคือ ความชื้น 23-24% ราคาประมาณกิโลกรัมละ 50 บาท ความชื้น 20-21% ราคาประมาณกิโลกรัมละ 55 บาท และค่าความชื้น 18-19% ราคาประมาณกิโลกรัมละ 60 บาท
สิ่งที่ต้องประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคในประเทศทราบก็คือ ราคาขายส่งนํ้าผึ้งแท้ในประเทศประมาณ 55 บาท/ กิโลกรัม และขายปลีกประมาณ 80-100 บาท/ กิโลกรัม แต่น้ำผึ้งอุตสาหกรรมซึ่งจะมีซูโครสสูงกว่า 8% (นิยมเอานํ้าตาลเลี้ยงผึ้ง) ราคาจะถูกมากเพียงกิโลกรัมละ 25-30 บาทเท่านั้น นอกจากนี้สีอ่อนและแก่ของนํ้าผึ้งขึ้นอยู่กับอากาศและชนิดของดอกไม้ กล่าวคือ ถ้าอากาศร้อนสีของนํ้าผึ้งจะแก่
การขยายตลาดในประเทศให้หันมารับประทานนํ้าผึ้งก็คือ เน้นเรื่องคุณค่าของนํ้าผึ้งในฐานะเป็นอาหารเสริมสุขภาพ สามารถใช้รับประทานประกอบกับอาหารอื่นๆ ได้ เช่น ใช้ทาขนมปัง หรือใช้เสมือนนํ้าตาลประกอบกับอาหารอื่นๆ เป็นต้น เน้นความเป็นสารธรรมชาติไม่มีสารเคมีเจือปน สำหรับการขยายตลาดต่างประเทศน่าจะเน้นในเรื่องของชนิดของนํ้าผึ้งที่หายากซึ่งจะต้องคงความเป็นเอกลักษณ์ไว้
นอกจากนี้ การขยายผลิตภัณฑ์จากนํ้าผึ้งหรือรูปแบบบรรจุจะช่วยให้ตลาดน้ำผึ้งน่าสนใจขึ้นอีกไม่เงียบเหงาอย่างที่เป็นอยู่ เช่น การจำหน่ายนํ้าผึ้งและรังผึ้งที่บรรจุในขวด ซึ่งเด็กจะนิยมนำมาเคี้ยวแทนหมากฝรั่ง เชื่อกันว่าคุณค่าทางโภชนาการสูงกว่านํ้าผึ้งสำเร็จรูป ทั้งยังประกอบด้วยสารปฏิชีวนะซึ่งเป็นสารเหนียว หรือสารโปรโปลิส (PROPOLIS) ที่ผึ้งนำมาจากเปลือกไม้และใบไม้เพื่อทำเป็นรังผึ้งและขี้ผึ้ง นอกจากนี้ นํ้าผึ้งที่บรรจุหลอดสำหรับรับประทานครั้งเดียวก็น่าจะเป็นที่นิยมในหมู่ของนักเรียนและเป็นรายการหนึ่งของอาหารกลางวันในโรงเรียน
-สภาพการตลาดนมผึ้ง
แต่เดิมการซื้อขายนมผึ้งจำกัดอยู่เฉพาะในกลุ่มเล็กๆ และอยู่ในรูปของสด ยังไม่มีนักธุรกิจกลุ่มใดสนใจจะนำนมผึ้งมาแปรรูปเพื่อการค้าอย่างจริงจัง เนื่องจากไม่แน่ใจในอนาคตของตลาด กอปรกับนมผึ้งเป็นสินค้าที่มีราคาสูงมาก นมผึ้งแท้ๆ คุณภาพดีๆ จะมีราคาขายปลีกในขณะนั้นสูงถึงประมาณกิโลกรัมละ 5,000-8,000 บาท ความตื่นตัวของธุรกิจนมผึ้งเริ่มขึ้นเมื่อ 2 ปีก่อนภายหลังจากที่มีการนำเข้าเกสรผึ้งอัดเม็ดจากสหรัฐอเมริกาเข้ามาจำหน่าย นักธุรกิจจึงหันมาแปรรูปนมผึ้งใส่แคปซูลบรรจุแผงฟอยล์เน้นประสิทธิภาพในการเก็บรักษาดีกว่าบริโภคในรูปของสด รวมทั้งการโฆษณาประชาสัมพันธ์ถึงคุณประโยชน์อเนกประการของนมผึ้ง ทำให้ผู้บริโภคที่สนใจในเรื่องสุขภาพอนามัยส่วนบุคคลหันมานิยมสินค้านมผึ้งมาก แซงหน้าเกสรผึ้งเข้าตลาดมาก่อน นอกจากนี้ การที่นมผึ้งสดราคาจำหน่ายปลีกยังอยู่ในเกณฑ์สูงตั้งแต่ 2,500-6,000 บาท แต่เมื่อบรรจุแคปซูลขายขนาดบรรจุ 333 มิลลิกรัม 30 เม็ดราคา 200-400 บาท ผู้บริโภคจึงเห็นว่าราคาถูกลง ตลาดจึงขยายตัวอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งปัจจุบันมีมูลค่าทางการ ตลาดถึงกว่า 1,000 ล้านบาท โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันมีผู้ลงทุนทยอยเข้ามาในตลาดนมผึ้งแล้วกว่า 40 ราย ทั้งที่ผลิตในประเทศและนำเข้าจากไต้หวันและสหรัฐอเมริกา กลยุทธ์การแย่งชิงสัดส่วนทางการตลาดจึงดำเนินไปอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะกลยุทธ์ในด้านราคาเพื่อดึงดูดใจลูกค้า
จากสภาวะตลาดในปัจจุบันจูงใจให้เกิดผู้ผลิตรายใหม่ทยอยกันเข้ามาลงทุนแต่คาดว่าอีกระยะหนึ่งผู้ที่มีการตลาดที่เข้มแข็งหรือมีผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพเท่านั้นที่อยู่รอดเนื่องจากคณะกรรมการอาหารและยาเตรียมที่จะกำหนดให้นมผึ้งเป็นอาหารควบคุมที่จะต้องขึ้นทะเบียน เพราะต้องการจะคุ้มครองให้ผู้บริโภคพ้นจากการถูกหลอกลวง ซึ่งผู้ผลิตนมผึ้งจะต้องระบุฉลากให้ชัดเจนทั้งชื่อบริษัท สถานที่ตั้งโรงงาน สถานที่ผลิต ผู้จัดจำหน่าย ส่วนผสมและอื่นๆ ให้ครบถ้วนเช่นเดียวกับอาหารทั่วๆ ไป ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากการแข่งขันทางการค้าและมูลค่าการตลาดที่ขยายตัวสูงมากดึงดูดใจให้มีการลอกเลียนแต่ลดราคาจำหน่ายลงอย่างมากเหลือเพียงกล่องละ (บรรจุ 30เม็ด) 145 บาท แต่มีเงื่อนไขเสริมว่าจะต้องซื้อมากถึง 100 กล่อง จึงจะได้การสมนาคุณแบบซื้อกล่องแถมกล่อง ซึ่งถ้าพิจารณาโดยลักษณะของผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพแล้วจะขายในลักษณะดังกล่าวไม่ได้ เพราะราคาของนมผึ้งที่รับซื้อมาจากเกษตรกรก็อยู่ในเกณฑ์สูงแล้ว เมื่อนำมาทำให้แห้งนํ้าหนักจะลดลงไปอีกร้อยละ 33 ของนํ้าหนักเดิม นมผึ้งปลอมนั้น เป็นเพียงการใช้แป้งมันในการผสมและแต่งสีให้คล้ายกับนมผึ้งที่ใช้กรรมวิธีทำให้แห้งซึ่งไม่มีผลในการเสริมสร้างสุขภาพ และเมื่อบริโภคแล้วอาจจะเกิดผลเสียต่อระบบทางเดินอาหารด้วย
นอกจากปัญหาเรื่องนมผึ้งปลอมแล้วก็ยังมีปัญหาในเรื่องของนมผึ้งบางยี่ห้อผลิตไม่ได้มาตรฐาน การผลิตนมผึ้งถ้าใช้กรรมวิธีการผลิตที่ไม่ทันสมัยแล้วคุณค่าทางโภชนาการก็จะเสื่อม เนื่องจากนมผึ้งมีลักษณะเป็นครีมข้นทำให้แห้งยาก ดังนั้น การที่จะทำให้เป็นรูปของเม็ดหรือแคปซูลจะทำได้ยากมาก บางบริษัทจึงนำเอาแลคโตสมาผสม และทำให้เป็นเม็ด คุณภาพของนมผึ้งจึงด้อยลง คือ ใน 1 เม็ดขนาด 300 มิลลิกรัม อาจจะมีนมผึ้งอยู่เพียง 30 มิลลิกรัมเท่านั้น
ลักษณะผลประโยชน์การขายนมผึ้ง ได้แก่
-เป็นสมาชิกซื้อแล้วจะได้ส่วนลดทันที 30% ต่อกล่อง 117 บาท
-ผลประโยชน์จากการแนะนำต่อ บริษัทจ่ายค่าแนะนำต่ออีก 2%
ถ้ากลุ่มที่ผู้เป็นสมาชิกมียอดสั่งซื้อครบจำนวน 55 กล่อง และหักออกจากยอดขายส่วนตัวแล้ว
-ในกรณีเป็นหัวหน้าส่วนการขาย จะได้รับผลประโยชน์เพิ่มเติม
19 กล่องได้รับ 12% รับเงินประมาณ    622 บาท
74 กล่องได้รับ 14% รับเงินประมาณ    2,828 บาท
330 กล่องได้รับ 16% รับเงินประมาณ    14,414 บาท
นอกจากนี้ยังมีรางวัลอื่นๆ อีกมากมายขึ้นอยู่กับยอดการจำหน่ายของสมาชิกลูกทีม ซึ่งการให้ผลประโยชน์จากการขายตรงนี้นับว่าทำให้การจำหน่ายนมผึ้งขยายตัวอย่างรวดเร็วกว่าการขายผ่านระบบเคาน์เตอร์
ปัจจุบันตลาดในประเทศมีการบริโภคนมผึ้ง 3 ลักษณะ คือ นมผึ้งสด ซึ่งเคยมีราคาเพียง 2,000-3,000 บาท/ กิโลกรัม แต่ปัจจุบันราคาพุ่งสูงขึ้นเป็น 5,000-8,000 บาท/ กิโลกรัม ตามความนิยมของตลาดลักษณะแคปซูลซึ่งมีราคาจำหน่าย 200-900 บาท/ 30แคปซูล และนมผึ้งอัดเม็ดราคาจำหน่ายปลีก 300-500 บาท/50 เม็ด
สำหรับตลาดต่างประเทศของนมผึ้งที่สำคัญคือ ฮ่องกง สิงคโปร์ และไต้หวัน ซึ่งนิยมนมผึ้งจากไทยมาก อัตราการขยายตัวในปีที่ผ่านมาสูงถึงร้อยละ 20 ราคาส่งออก ประมาณกิโลกรัมละ 1,800 บาท แม้ว่าตลาดส่วนนี้จะทำเงินได้ปีละหลายล้านบาท แต่ถ้าจะพิจารณาให้ดีจะเห็นว่าไทยนำนมผึ้งเหล่านี้กลับเข้ามาในรูปของการบรรจุแคปซูลจากไต้หวันเป็นจำนวนมากเท่ากับเป็นการส่งวัตถุดิบไปให้ ซึ่งนักลงทุนไทยควรจะตระหนักถึงข้อเสียเปรียบนี้ด้วย ตลาดต่างประเทศที่น่าสนใจมากก็คือ ญี่ปุ่น แต่การซื้อของญี่ปุ่นจะอยู่ในลักษณะการมาซื้อถึงที่ นั่นคือชาวญี่ปุ่นจะหิ้วใส่กระเป๋าเดินทางกลับประเทศ คู่แข่งสำคัญในการผลิตนมผึ้งของไทย ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน แต่นมผึ้งของไทยสามารถจะสู้ได้ก็คือ ในเรื่องคุณภาพ ซึ่งการผลิตนมผึ้งต้องการความรู้ ความชำนาญ และเทคนิคพิเศษพอสมควร โดยจะต้องควบคุมและบริหารงานบุคคลได้ นอกจากนี้ปัจจัยที่จะช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมนมผึ้งอย่างมากก็คือ การส่งเสริมอุตสาหกรรมการเลี้ยงผึ้ง ซึ่งเป็นธุรกิจที่ยังเปิดโอกาสรอนักลงทุนที่จะเข้ามาพัฒนา คาดว่าอนาคตของตลาดนมผึ้งจะขยายตัวต่อไปอย่างรวดเร็ว มูลค่าทางการตลาดในปีหน้าจะเพิ่มขึ้นเฉียด 2,000 ล้านทีเดียว
อย่างไรก็ตาม ปัญหาประการสำคัญอันเป็นอุปสรรคในการส่งออกนมผึ้งก็คือการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐานของบางบริษัท และนมผึ้งสำเร็จรูปก็ยังไม่ได้มีการรับรองอย่างเป็นทางการจากหน่วยงานของรัฐบาลที่ต่างประเทศเชื่อถือ การขยายตัวของตลาดต่างประเทศจึงค่อนข้างช้า เชื่อว่าเมื่อมีการกำหนดมาตรฐานของนมผึ้งแล้ว การตลาดต่างประเทศจะเพิ่มความเข้มข้นเช่นเดียวกับตลาดในประเทศ
-สภาพการตลาดเกสรดอกไม้
เกสรดอกไม้เริ่มเป็นที่รู้จักในตลาดเมืองไทยเมื่อมีการนำเข้ามาเปิดตัวเป็นอาหารเสริมสุขภาพซึ่งก็เป็นที่ฮือฮามาก จนกระทั่งผู้เลี้ยงผึ้งในประเทศไทยเริ่มหันมาผลิตเกสรดอกไม้เองภายในประเทศจำหน่ายในราคากิโลกรัมละ 400 บาท ซึ่งราคาถูกกว่าเกสรผึ้งที่นำเข้ามาจากต่างประเทศมากมายหลายเท่าตัว และบริษัทผู้ผลิตอ้างว่าคุณภาพดีกว่า เพราะสดและน่ารับประทานกว่า แต่ผู้นำเข้าเกสรผึ้งก็อ้างว่าแหล่งที่นำเข้ามาจากแหล่งผลิตที่ดีที่สุดในโลก คุณภาพได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับในต่างประเทศ
มูลค่าทางการตลาดของเกสรผึ้งเกือบ 100 ล้านบาท การจำหน่ายนอกจากจะอยู่ในลักษณะของเกสรดอกไม้อบแห้งและอัดเม็ดแล้ว ยังมีการจำหน่ายในลักษณะหมากหอมบีพอลเลน ซึ่งประกอบด้วยนมผึ้ง นํ้าผึ้ง และเกสรดอกไม้ ซึ่งบางครั้งจะผสมสมุนไพรบางอย่างลงไปด้วย สิ่งที่น่าสังเกตก็คือ แม้ว่าเกสรผึ้งจะเข้าตลาดก่อนนมผึ้งแต่ปัจจุบันมูลค่าทางการตลาดน้อยกว่าและการแข่งขันทางการตลาดไม่ค่อยจะเข้มข้นดุเดือดเหมือนตลาดนมผึ้ง
จากประโยชน์อเนกประการในแง่ของอาหารเสริมสุขภาพและมูลค่าอันมหาศาลของผลิตภัณฑ์ผึ้ง นับเป็นเครื่องยืนยันได้ว่าถึงเวลาอันสมควรแล้วที่จะเร่งส่งเสริมการเลี้ยงผึ้งเป็นอุตสาหกรรมอย่างจริงจัง เพื่อให้การเลี้ยงผึ้งในประเทศเจริญก้าวหน้า และมีผลิตภัณฑ์ผึ้งบริโภคภายในประเทศ ตลอดจนส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศอย่างเพียงพอ และเป็นธุรกิจที่ยังเปิดโอกาสรอนักลงทุนเข้ามาพัฒนาต่อไป
ข้อมูลจำเพาะรายบริษัท
-บริษัทควีนลิฟวิ่งโปรดักส์ จำกัด เริ่มวางตลาดในปี 2529 สาเหตุ
หันมาสนใจผลิตภัณฑ์ผึ้งโดยเฉพาะเกสรดอกไม้และนมผึ้ง เนื่องจากเห็นว่าประชาชนยอมรับผลิตภัณฑ์ผึ้งมามากกว่าหนึ่งพันปี สินค้าขายตัวเองอยู่แล้ว ประชาชนรู้จัก เนื่องจากใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ ค่ายควีนฯ จึงเป็นบริษัทคนไทยบริษัทแรกที่ผลิตและจำหน่ายอาหารเสริม
สุขภาพประเภทเกสรดอกไม้และนมผึ้ง ผลิตภัณฑ์ผึ้งในลักษณะอาหารเสริมสุขภาพของค่ายควีนฯ ที่วางจำหน่ายในตลาดปัจจุบันมี 3 ชนิด คือ
1. นมผึ้งแปรรูป บรรจุในแคปซูลขนาด 333 มิลลิกรัม บรรจุกล่องละ 30 เม็ด ราคา 390 บาท (ราคาจำหน่ายสมาชิกกล่องละ 273 บาท)
2. บีพอลเลนแปรรูปบรรจุแคปซูล บรรจุกล่องละ 30 เม็ด ราคากล่องละ 250 บาท (ราคาจำหน่ายสมาชิก 175 บาท)
3. นมผึ้งอัดเม็ด ราคาขวดละ 290 บาท (ราคาจำหน่ายสมาชิก 203 บาท)
การเข้าตลาดของค่ายควีนฯ ในช่วงแรกมีปัญหาในด้านการขายมาก กล่าวคือ คนไทยไม่ค่อยจะยอมรับสินค้าที่ผลิตภายในประเทศ ดังนั้น การขายสินค้าผ่านทางเคาน์เตอร์ตามห้างสรรพสินค้าจึงไม่ประสบผลสำเร็จ จึงได้มีการปรับยุทธวิธีการขายใหม่ เป็นการขายตรงในระบบสมาชิก ซึ่งนับว่าค่ายควีนฯ ประสบผลสำเร็จอย่างมาก โดยเน้นจุดขายที่เข้าตลาดง่าย เนื่องจากราคาสินค้าตํ่ากว่าผลิตภัณฑ์ประเภทเดียวกันที่มีการนำเข้านอกจากนี้ ในสภาพปัจจุบันที่ราคาขายปลีกในรูปของวัตถุดิบสูงกว่ากิโลกรัมละ 6,000 บาท เมื่อนำมาบรรจุแคปซูลจำหน่ายราคากล่องละ 390 บาท ผู้บริโภคจึงรู้สึกว่าราคาถูกและยอมรับได้
กลยุทธ์การตลาดที่สำคัญของค่ายควีนฯ ก็คือ การเปลี่ยนรูปแบบบริโภคนมผึ้งมาบรรจุในแคปซูล ซึ่งมีประสิทธิภาพในการเก็บรักษาได้ดีกว่าการอัดเม็ดธรรมดา แต่ภายหลังก็ได้ออกผลิตภัณฑ์ในลักษณะนมผึ้งอัดเม็ดด้วย พร้อมทั้งปรุงแต่งรสให้ชวนรับประทานมุ่งเจาะตลาดเด็กในลักษณะเป็นยาอม กลยุทธ์ SIZING คือแพ็คสินค้าในแพ็คที่เล็กลง นอกจากนี้ ค่ายควีนฯ เน้นการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ทางด้านวิชาการแก่กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย เนื่องจากข้อกฎหมายระบุไว้ว่าไม่สามารถจะโฆษณาประชาสัมพ้นธ์สรรพคุณได้
เมื่อตลาดนมผึ้งได้รับความนิยมจากผู้บริโภคมาก ทำให้บริษัทต้องปรับแผนการตลาดใหม่ โดยให้หัวหน้าส่วนการขายในระดับพื้นฐานมีโอกาสเลื่อนมาสู่ตำแหน่งที่สูงเท่านั้นที่จะได้รับประโยชน์ ทั้งนี้โดยการลดยอดเป้าหมายการจำหน่ายสำหรับการเลื่อนตำแหน่งให้ตํ่าลงกว่าเดิม พร้อมกับเพิ่มเปอร์เซ็นต์ยอดขายให้มากขึ้นกว่าเดิม จากร้อยละ 12-16 มาเป็นร้อยละ 14-18
-บริษัท ไดมอนด์แอนด์โกลด์ จำกัด ผลิตนมผึ้งยี่ห้อ “ไดมอนด์ รอเยลเจลลี่” เน้นว่าเป็นผลิตภัณฑ์ธรรมชาติอาหารทิพย์ของนางพญาผึ้ง ยุทธวิธีจะมุ่งให้คำแนะนำแก่ผู้มีปัญหาเพื่อให้ทดลองบริโภค เมื่อได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ผู้ที่เคยใช้จะมีคำแนะนำแก่คนอื่นๆ เชื่อมโยงเป็นลูกโซ่ เข้าถึงผู้บริโภคที่ประสบปัญหา เป็นการเปิดตลาดแนะนำสินค้า ค่ายไดมอนด์ต้องการที่จะสร้างมาตรฐานผลิตภัณฑ์นมผึ้งให้ผู้บริโภคยอมรับในคุณภาพ ซึ่งจากจุดนี้ทำให้บริษัทติดต่อกับสถาบันการศึกษาเพื่อให้ช่วยเหลือตรวจสอบคุณภาพ เช่น หน่วยวิจัยผึ้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อได้ผลมาแล้วก็จะนำไปให้คณะกรรมการอาหารและยาตรวจสอบอีกครั้งหนึ่ง ค่ายไดมอนด์ ต้องการผลักดันสินค้าประเภทนี้ให้เหมือนกับสินค้าประเภทโสมของเกาหลีใต้ที่ส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศได้ เพราะเมื่อมีการรับรองมาตรฐานจากทางราชการแล้วโอกาสและลู่ทางการทำตลาดต่างประเทศย่อมมีมากขึ้น
ค่ายไดมอนด์นับเป็นบริษัทแรกที่ใช้กลยุทธ์การขายตรงแบบจัดระบบการเงินให้กับพนักงานขาย และให้กำไรสูงสุด สร้างระบบขายตรงโดยศึกษาระบบของแอมเวย์ ฟอร์เอฟเวอร์ เอไอเอ และอีกหลายบริษัทที่อาศัยระบบการขายตรง ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งสิ้นกว่า 10,000 คนทั่วประเทศ ยอดขายมากกว่าปีละ 80 ล้านบาท และในปี 2523 ตั้งเป้าหมายว่ายอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 20
โครงการในอนาคตของบริษัทคือ การวางจำหน่ายตามร้านขายยาทั่วไป แต่จะยกประโยชน์ให้กับผู้จัดการเขตแต่ละเขต เพื่อไม่ให้เกิดการแก่งแย่งพนักงานขายในการทำตลาด รวมทั้งมีแผนที่จะทำกิจกรรมในต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศใกล้เคียง เพราะต้องการปูทางเพื่อการส่งออกในอนาคต โดยการจัดสัมมนา จะทำให้ประเทศนั้นๆ ทราบว่านมผึ้งมีประโยชน์อย่างไร ตลาดต่างประเทศที่น่าสนใจคือ
มาเลเซีย โดยการแต่งตั้งเอเย่นต์เพื่อรับผิดชอบในตลาดนั้น ตลาดต่อไปที่จะรุกขยายคือ ตลาดบรูไน
-บริษัท เนเจอร์ไลฟ์ จำกัด จุดหลักของบริษัทต้องการให้สินค้าประเภทนี้สามารถขายตัวเองได้ อาศัยชื่อ พนม ปีย์เจริญ ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการ ซึ่งเป็นคนที่มีชื่อเสียงในวงสังคมเป็นจุดขายด้วย นอกจากนี้ บริษัทยังคงส่งเสริมการขายโดยเน้นการให้ความอบอุ่นกับทีมงานขาย รวมทั้งการมอบรางวัลให้ทีมงานขาย เช่น สร้อยทองคำ เป็นต้น
ค่ายเนเจอร์ไลฟ์ เริ่มบุกตลาดตั้งแต่ต้นปี 2533 ปรากฏว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจ คาดว่าจะครอบครองยอดขายประมาณ 150 ล้านบาท หรือประมาณเดือนละ 4-5 ล้านบาท ปัจจุบันมีสมาชิกทั่วประเทศเกือบ 5,000 คน
-บริษัทฟาร์มผึ้งเอราวัณ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายนํ้าผึ้งสด เกสรดอกไม้ และนมผึ้งเอราวัณ ฟาร์มผึ้งเอราวัณนำน้ำผึ้งบรรจุใส่ขวดภายใต้ชื่อเอราวัณ วางจำหน่ายตามห้างสรรพสินค้าชั้นนำและซูปเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป โดยวางจำหน่าย 4 ขนาด คือ ขนาด 1,000 กรัมราคา 180 บาท ขนาด 780 กรัม ราคา 150 บาท ขนาด 450 กรัม ราคา 100บาท และขนาด 300 กรัม ราคา 70 บาท ค่ายเอราวัณส่งออกน้ำผึ้งสดไปจำหน่ายฮ่องกงและไต้หวัน บริษัทได้รับมาตรฐานจากสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม และใบรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
สำหรับนมผึ้งมีวางจำหน่ายทั้งชนิดแคปซูลและชนิดอัดเม็ด วางจำหน่าย 2 ยี่ห้อ คือ “เอราวัณ” ขนาด 100 มิลลิกรัม กล่องละ 30 แคปซูล ราคา 290 บาท และ “เพียว”  ขนาด 250 มิลลิกรัม กล่องละ 30 เม็ด ราคา 390 บาท จัดจำหน่ายในระบบขายตรงรวมทั้งส่งออกไปยังญี่ปุ่น ศรีลังกา และฮ่องกง สำหรับเกสรดอกไม้มีวางจำหน่ายทั้งใน ลักษณะชนิดอัดเม็ดและแคปซูล
ในปี 2532 ฟาร์มผึ้งเอราวัณผลิตน้ำผึ้งสดได้เพียง 10 ตัน จากผึ้งที่มีอยู่ประมาณ 600-700 รัง ซึ่งเป็นผึ้งพันธุ์อิตาลี สาเหตุที่ผลิตได้น้อยเนื่องจากลำไยไม่ค่อยจะมีดอก  ผึ้งที่เลี้ยงอาศัยน้ำหวานดอกลำไย ลิ้นจี่ และดอกไม้ป่าต่างๆ นํ้าผึ้งประเภทนี้เป็นที่นิยมของชาวต่างประเทศมาก และมีเพียงไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีนเท่านั้นที่ผลิตได้ สำหรับในปี 2533 จะสามารถผลิตน้ำผึ้งสดได้ประมาณ 20-30 ตัน
-บริษัท จักรวาลฟาร์มผึ้ง จำกัด ในส่วนของกิจการฟาร์มผึ้งได้เริ่มกิจการมาตั้งแต่ปี 2521 โดยใช้ชื่อเดิมว่า “ฟาร์มผึ้งอินทนนท์” ตั้งอยู่ในเขตจังหวัดเชียงใหม่ จนกระทั่งปี 2528 บริษัทจัดตั้งบริษัทตัวแทนจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศขึ้นในกรุงเทพฯ จดทะเบียนบริษัทชื่อว่า บริษัทจักรวาลฟาร์มผึ้ง จำกัด เพื่อดำเนินกิจการจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากผึ้ง ได้แก่ นํ้าผึ้งบริสุทธิ์ 100% เพียวฮันนี่ นมผึ้ง (รอยัลเยลลี่) ซึ่งมีทั้งชนิดเกล็ด ชนิดเม็ด และบรรจุแคปซูล และเกสรดอกไม้ (บีพอลเลน) มี 2 ประเภท คือ บีพอลเลนชนิดเม็ดและหมากหอมบีพอลเลน
-บริษัท เคพีเอสแอนด์โก จำกัด แนะนำผลิตภัณฑ์ผึ้ง ENDURANCE เข้าตลาดอย่างเป็นทางการในเดือนพฤษภาคม 2533 หลังจากทำการทดลองตลาดมาแล้ว 1 เดือน และพบว่าตลาดมีศักยภาพสูงมาก ในช่วงแรกนี้จะจำหน่ายเพียง 2 ขนาด คือ 20 เม็ด ราคา 224 บาท และ 60 เม็ด ราคา 945 บาท เน้นจุดขายที่คุณภาพ เพราะใช้ระบบ “LYOPHILIZED” ซึ่งเป็นวิธีการผลิตที่ทำให้แห้งโดยการตกผลึก ผลก็คือ ในจำนวนที่รับประทานเท่ากัน ความเข้มข้นจะมากกว่าผลิตภัณฑ์นมผึ้งทั่วๆ ไปประมาณ 3 เท่า ในช่วงของการแนะนำสินค้า จะแจกเอกสารคำแนะนำ และตั้งเป้าหมายในการขายในช่วงแรกเฉลี่ยเดือนละประมาณ 2 ล้านบาท
ก่อนที่จะหันมาบุกตลาดนมผึ้งภายในประเทศนั้น บริษัทดำเนินธุรกิจทางด้านการส่งออกถุงมือยาง เสื้อผ้าสำเร็จรูป รวมทั้งนมผึ้งด้วย โดยส่งนมผึ้งออกไปจำหน่ายประเทศสิงคโปร์ ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา จึงหันมาสนใจเจาะตลาดในประเทศไทย ประกอบกับคนไทยเริ่มหันมาให้ความสนใจต่อการดูแลสุขภาพมากขึ้น และภายในระยะเวลา 1 ปีครึ่งหลังจากการนำผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาด บริษัทมีแผนที่จะขยายสมาชิกจากปัจจุบัน 200 คน เพิ่มเป็น 100,000 คน
กลยุทธ์ทางการตลาดด้านอื่นก็คือ นอกจากจะให้ส่วนลดปกติแก่สมาชิกถึงร้อยละ 30 แล้วยังให้ส่วนลดพิเศษอีกอัตราหนึ่งให้กับสมาชิกที่มีตำแหน่งในด้านการบริหารทุกระดับ นอกจากนี้ยังมีการแจกรางวัล เช่น ทองคำ ตั๋วเครื่องบิน เป็นต้น
-บริษัทฟาร์มผึ้งเอเชีย จำกัด กำลังการผลิตนํ้าผึ้งประมาณสัปดาห์ละ 20 ตัน ในจำนวนนี้ส่งออกร้อยละ 80-90 หรือประมาณสัปดาห์ละ 18-19 ตัน โดยส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่นและไต้หวัน เหลือจำหน่ายในประเทศเพียงร้อยละ 10
-บริษัทเชียงใหม่ รอแยลเจลลี่ จำกัด เป็นผู้ค้าและส่งออกนมผึ้ง กิจการในเครือของบริษัทแกรนด์ไฟว์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด เมื่อกิจการจำหน่ายนมผึ้งได้รับความสนใจจากชาวต่างประเทศมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งออกไปจำหน่ายในตลาดโลก บริษัทจึงเปิดฟาร์มเลี้ยงร่วมกับชาวบ้านในหลายจุดหลายพื้นที่ในเขตจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งขณะนี้มีอยู่ประมาณ 2,000-3,000 รัง และมีโครงการจะขยายเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ บริษัทมีการส่งออกนมผึ้งทุกสัปดาห์
-บริษัท ฟอร์เอเวอร์ลิฟวิ่งโปรดักซ์ (ไทยแลนด์) จำกัด เปิดกิจการมาเป็นเวลากว่า 5 ปี โดยนำเข้าเกสรดอกไม้จากสหรัฐอเมริกามาจำหน่าย พัฒนาจากจำนวนสมาชิกไม่กี่ร้อยเป็น 1.4 แสนคนทั่วประเทศ แม้ว่าราคาขายจะสูงกว่าของที่ผลิตในประเทศ เน้นให้ผู้บริโภคเลือกแหล่งผลิต เน้นว่าผลิตในทะเลทรายซึ่งเป็นแหล่งผลิตที่ดีที่สุดในโลก
-บริษัทไบโอเค็ม (ประเทศไทย) จำกัด จัดตั้งในปี 2532 โดยการรวมกลุ่ม ของนักวิชาการหลายสาขา เช่น เคมี ชีวะ และเทคนิคการแพทย์ เพื่อนำเข้าอาหารเสริมจากสหรัฐอเมริกา อาหารเสริมชนิดหนึ่งที่นำเข้าได้แก่ เกสรดอกไม้ หรือบีพอลเลน มี 2 ขนาดให้เลือก กล่องละ 100 เม็ด ราคา 650 บาท และขนาดบรรจุ 50 เม็ด ราคา 370 บาท จำหน่ายในระบบขายตรง ขณะนี้เริ่มกระจายสินค้าไปทั่วทุกภาคแล้ว มีสมาชิก ประมาณ 7,000 คน
ถ้าแนวโน้มตลาดอาหารเสริมสุขภาพไปได้ดีตามที่คาดหวังไว้ ก็จะมีโครงการที่จะสร้างโรงงานผลิตขึ้นเองในประเทศ ซึ่งคาดว่าจะต้องลงทุนไม่ตํ่ากว่า 10 ล้านบาท แต่ขณะนี้เพิ่งจะเริ่มนำเข้าตลาดและคนไทยยังรู้จักอาหารเสริมไม่ดีพอ ดังนั้นการตั้งโรงงานผลิตในซ่วงนี้จึงยังไม่คุ้ม
ที่มา:ส่วนวิจัยเกษตรกรรม ฝ่ายวิชาการ ธนาคารกสิกรไทย