ตะขบไทย

(Govnor pulm, Rukum)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Flacourtia cataphraeta Zoll. & Moritzi
ชื่อวงศ์ FLACOURTIACEAE
ชื่ออื่น ครบดง
ถิ่นกำเนิด ประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้


ลักษณะทั่วไป ไม้ต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สูง 5-12 ม. ขนาดทรงพุ่ม 3-5 ม. ผลัดใบ ทรงพุ่มกลมค่อนข้างโปร่งมีหนามตามกิ่งและลำต้น หนามมีแง่ง เปลือกต้นสีน้ำตาลอมเทา หลุดล่อน เป็นแผ่นบาง
ใบ ใบเดี่ยวเรียงสลับ รูปไข่ หรือรูปไข่แกมรูปขอบขนาน กว้าง 2-6 ซม. ยาว 3-16 ซม. ปลายใบเรียวแหลม โคนใบมนหรือสอบเรียว ขอบใบเป็นคลื่นและจักฟันเลื่อยถี่ แผ่นใบบางแต่ค่อนข้างเหนียว สีเขียวสดเป็นมัน ก้านใบยาว 0.5-1 ซม.


ดอก สีเหลืองอ่อน มีกลิ่นหอม ออกเป็นช่อแบบช่อกระจะสั้นๆ ที่ด้านข้างกิ่งและปลายกิ่ง ดอกขนาดเล็กรูปคนโท ดอกเพศผู้กลีบดอก โคนเชื่อมติดกันปลายแยกเป็น 5 แฉก สีเขียว ดอกแยกเพศร่วมต้น เกสรเพศผู้สีเหลีองจำนวนมาก เส้นผ่านศูนย์กลางดอก 0.5-0.8 ซม. ดอกเพศเมียกลีบดอก 5 กลีบ เส้นผ่านศูนย์กลางดอก 0.2-0.3 ซม. การออกดอกช่วง ก.พ.-มี.ค.
ผล ผลสดแบบมีเนื้อหลายเมล็ด ทรงกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 1.5-2.5 ซม.สีเขียว เมื่อสุกสีแดงอมน้ำตาล รสหวานอมฝาด เมล็ดรูปรีแบน สีน้ำตาลเข้ม ติดผลเดือน เม.ย.-ก.ค. ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด
นิเวศวิทยา พบตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้งและป่าดิบชื้น ทางภาคใต้
การใช้ประโยชน์ด้านสมุนไพร ราก แก้เสมหะและอาเจียน ใบ ขับเหงื่อ ลูก รสหวานเย็นหอม บำรุงกำลัง ทำให้ชุ่มชื่นใจ เนื้อไม้ แก้ท้องร่วง แก้บิด มูกเลือด
ที่มา:วัลลิ์รุกขบุปผชาติ ตามรอยพระบาทบรมราชกุมารี โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย