ตะบูนดำ


ชื่อวิทยาศาสตร์ Xylocarpus moluccensis (Lam.)M.Roem.
ชื่อวงศ์ MELIACEAE
ชื่ออื่น ตะบูน ตะบัน (กลาง, ใต้)
ลักษณะทั่วไป ไม้ต้นขนาดใหญ่ สูง 20-35 ม. ผลัดใบ ลำต้นเปลาตรง โคนต้นมีพูพอนเล็กน้อย ทรงพุ่มกลม เปลือกขรุขระ สีน้ำตาลเข้มแตก เป็นร่องตามยาว ต้นแก่เปลือกลอกเป็นแถบแคบๆ เปลือกหนา 0.3-0.5 ซม. เนื้อไม้สีน้ำตาล มีรากหายใจ รูปคล้ายกรวยคว่ำ กลมหรือแบน ปลายมน ยาว 20-40 ซม.


ใบ ใบประกอบแบบขนนก ชั้นเดียว ไม่มีใบยอด เรียงสลับ ใบย่อย 1 – 3 คู่ เรียงตรงข้าม แผ่นใบรูปรี ถึงรูปขอบขนานแกมรี ขนาด กว้าง2-6 ซม.ยาว 5-15 ซม.ปลายใบมน โคนใบแหลม แผ่นใบเป็นมัน สีเขียวเข้มและจะเปลี่ยนเป็นสีส้มอมเหลืองทั้งต้น ก่อนที่จะร่วงหล่น ก้านใบย่อยสั้นมาก


ดอก สีขาวครีม ออกดอกเป็นช่อมีกลิ่นหอมเย็น และกลิ่นของดอก จะหอมมากขึ้นในเวลาเย็นถึงคํ่า ออกตามง่ามใบ เป็นแบบช่อแยกแขนง ช่อดอก ยาว 7-17 ซม. ประกอบด้วยดอกจำนวนมาก กลีบเลี้ยง 4 กลีบ แต่ละกลีบยาว 1-1.5 ซม. กลีบดอก 4 กลีบไม่ติดกัน รูปขอบขนาน ยาว 0.4-0.8 ซม. เกสรเพศผู้ 8 อัน ออกดอกพร้อมๆ กับแตกใบใหม่ เดือน ก.พ.-มี.ค.
ผล ค่อนข้างกลม มีร่องเล็กน้อย สีเขียว เส้นผ่านศูนย์กลาง 7-12 ซม. 7-17 เมล็ดต่อผล ลักษณะโค้งนูนหนึ่งด้าน กว้าง 4-6 ซม. ผลแก่เดือน ส.ค.-ต.ค.
นิเวศวิทยา พบตามป่าชายเลนในที่ดินเลนแข็ง น้ำท่วมถึงเล็กน้อย ตะบูนดำขึ้นได้ดีในดินที่เป็นกรด รากหายใจ เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ ไม้ตะบูนดำ ดำรงชีวิตอยูในเขตที่น้ำท่วมถึงเป็นเวลานาน
การใช้ประโยชน์ด้านสมุนไพร ผล ต้มน้ำดื่มแก้ท้องเสีย แก้บิด แก้อหิวาห์ ตากแห้งและเผาไฟกับเห็ดพังกา เผากับน้ำมันมะพร้าว เป็นยาแก้มะเร็งผิวหนัง ถ้าผสมเปลือกพังกาจะทำให้แผลมะเร็งยุบตัวเร็ว เปลือก ต้มน้ำดื่มรักษาแผลภายใน ต้มตำให้ละเอียดพอกแผลสด
ที่มา:วัลลิ์รุกขบุปผชาติ ตามรอยพระบาทบรมราชกุมารี โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย