ตะเคียนทอง

(Iron Wood, Sace, Takian)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Hopea odorata Roxb.
ชื่อวงศ์ DIPTEROCARPACEAE
ชื่ออื่น แคน ตะเคียน ตะเคียนใหญ่
ถิ่นกำเนิด ประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ลักษณะทั่วไป ไม้ต้นขนาดใหญ่ สูง 20-40 ม. ขนาดทรงพุ่ม 10-15 ม. ไม่ผลัดใบ ทรงพุ่มรูปเจดีย์ตํ่า ลำต้นเปลาตรง เปลือกต้นสีน้ำตาลปนดำ แตกร่องลึกตามแนวยาว หรือหลุดล่อนเป็นแผ่น เมื่ออายุมากขึ้น


ใบ ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่แกมรูปใบหอก กว้าง 3-7 ซม. ยาว 8-16 ซม. ปลายใบเรียวแหลม โคนใบมนและเบี้ยว ขอบใบเป็นคลื่น เล็กน้อย แผ่นใบบางแต่ค่อนข้างเหนียว สีเขียวสด เรียบและมีกลุ่มขนเล็กๆ สีดำในซอกเส้นแขนงใบโคนก้านใบโค้ง ยาว 1-1.5 ซม.


ดอก สีขาวนวลหรือสีเหลือง มีกลิ่นหอม ออกเป็นช่อแบบช่อแยกแขนง ที่ซอกใบใกล้ปลายกิ่งและปลายกิ่ง ช่อดอกตั้งยาว 5-7 ซม. กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น 5 แฉก มีขนาดไม่เท่ากัน กลีบดอกมี 5 กลีบ รูปขอบขนานปลายกลีบดอกหยักส่วนล่างบิดโคนเชื่อมติดกัน เกสรตัวผู้ 15 อัน เส้นผ่านศูนย์กลาง 0.4-0.6 ซม. ออกดอกเดือน ธ.ค.-มี.ค.
ผล ผลแห้ง รูปรีหรือรูปไข่ กว้างประมาณ 0.6 ซม. ยาวประมาณ 1 ซม. ปลายมนมีติ่งคล้ายหนาม มีปีก 5 ปีก ยาว 2 ปีก สั้น 3 ปีก สีเขียวอ่อน เมื่อสุกสีน้ำตาลเข้ม เมล็ดค่อนข้างกลมสีน้ำตาล 1 เมล็ดต่อผล ติดผลเดือน ก.พ.-มิ.ย. ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด
นิเวศวิทยา พบตามที่ราบริมน้ำในป่าดิบทั่วไป
การใช้ประโยชน์ เนื้อไม้เหนียว สามารถนำมาก่อสร้างบ้านเรือนได้
การใช้ประโยชน์ด้านสมุนไพร แก่น ซึ่งมีรสขมหวาน รักษาคุดทะราด ขับเสมหะ แก้โลหิตและกำเดา แก้ไข้สัมประชวร (ไข้ที่เกิดจากหลายสาเหตุ มักแสดงอาการที่ตา เช่น แดง เหลือง หรือขุ่นคลํ้า เป็นต้น) ยางบด เป็นผงรักษาบาดแผล
หมายเหตุ ต้นไม้ประจำจังหวัดปัตตานี
ที่มา:วัลลิ์รุกขบุปผชาติ ตามรอยพระบาทบรมราชกุมารี โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย