ตัดยอดถั่วลิสงใช้เป็นอาหารสัตว์

ประจง  สุดโต  สถาบันวิจัยการทำฟาร์ม บางเขน กรุงเทพฯ

ปัจจุบันการเลี้ยงโคเนื้อ-โคขุน กำลังได้รับความสนใจจากเกษตรกรมากเนื่องจากมีตลาดรับซื้อในราคาสูงพอสมควร แต่การเลี้ยงโคก็มีปัญหาเรื่องอาหารมาก โดยเฉพาะหน้าแล้งที่ขาดหญ้าธรรมชาติ ทำให้น้ำหนักสัตว์ลดลง เกษตรกรก็ต้องต้อนสัตว์ไปเลี้ยงในบริเวณใกล้แหล่งน้ำซึ่งมีหญ้าขึ้นบ้าง ให้กินฟางบ้าง เพื่อประทังไปก่อนจนกว่าฤดูฝนจะมาถึง ในขณะเดียวกันก็มีเกษตรกรอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งปลูกพืชเป็นอาชีพหลัก เมื่อเก็บผลผลิตแล้ว มีเศษพืชเหลือมากพอทีจะนำมาใช้เป็นอาหารสัตว์ได้ ดังนั้นก็น่าที่จะส่งเสริมให้เกษตรกรที่ปลูกพืชทำการเลี้ยงสัตว์ควบคู่กันไปด้วย โดยให้มีจำนวนสัตว์ที่เลี้ยงพอกับเศษพืชที่มีอยู่

ถั่วลิสง  เป็นพืชหนึ่งที่เกษตรกรนิยมปลูก เพราะว่าระดับราคาค่อนข้างสม่ำเสมอ ทนทานต่อสภาวะแห้งแล้วดีพอสมควร มีใบมาก มีโปรตีน ประมาณร้อยละ ๑๒-๑๔

จากการวิจัยโดยทดสอบการตัดยอดถั่วลิสงที่มีอายุต่าง ๆ กัน โดยคำนึงถึงผลผลิตว่าจะต้องไม่ลดลงมาก และเมื่อเอายอดถั่วลิสงไปตากแห้งแล้วนำไปเลี้ยงสัตว์จะได้ผลคุ้มกับผลผลิตของถั่วลิสงที่ลดลง เมื่อทราบน้ำหนักแห้งของยอดถั่วลิสงที่ต้องการใช้เลี้ยงสัตว์แล้ว ก็สามารถที่จะนำไปคำนวณได้ว่า การปลูกพืชในพื้นที่เท่าไร จึงพอเหมาะกับจำนวนสัตว์ที่จะเลี้ยง ซึ่งโดยปกติสัตว์ที่เลี้ยง ๑ ตัว กินอาหารประมาณวันละ ๒๐-๒๕ กิโลกรัม

การตัดยอดเมื่อถั่วลิสงอายุได้ ๑๐๐ วัน จะได้น้ำหนักใบถั่วสดไร่ละ ๙๐๐-๙๙๖ กิโลกรัม ตากแห้งแล้วได้ใบถั่วแห้งไร่ละ ๒๑๐-๒๓๐ กิโลกรัมเพื่อเก็บไว้เลี้ยงสัตว์ยามขาดแคลนอาหารสดในฤดูแล้ง

จากผลการทดลองตัดยอดถั่วลิสงที่ปลูกทั้งในสภาพไร่และในสภาพนาดอนไปใช้เลี้ยงสัตว์ พบว่าไม่มีผลทำให้ผลผลิตของฝักถั่วลิสงลดลงแต่อย่างใด