ตั๊กแตนปาทังก้า:การจับตั๊กแตนปาทังก้าเพื่อการค้า

สมชาย  อามีน

กองกีฏและสัตววิทยา กรมวิชาการเกษตร

ในอดีตเคยมีผู้คำนวณไว้ว่า “ตั๊กแตน ๕ แสนตัวหรือน้ำหนักตัวรวมกันได้ ๑ ตัน ใน ๑ วัน สามารถกินพืชได้หนักเท่ากับอาหารของช้าง ๑๐ ตัว หรืออูฐ ๒๕ ตัว หรือคน ๒๕๐ คน” แต่ในปัจจุบันมีใครทราบบ้างว่า คน ๑ คน ใน ๑ วัน สามารถกินตั๊กแตนได้กี่ตัว และถ้าคน ๕๕ ล้านคน จะกินตั๊กแตนได้หนักรวมกันกี่ตันใน ๑ วัน คำตอบที่ง่ายที่สุดเห็นจะเป็นว่าไม่มีตั๊กแตนให้จับกินแน่ทีเดียว

การจับตั๊กแตนเพื่อกินหรือเพื่อขายนั้น ได้เริ่มมีมานานแล้วในประเทศไทย โดยเฉพาะในช่วงปี พ.ศ.๒๕๒๐-๒๕๒๔ ซึ่งได้นำโครงการป้องกันกำจัดตั๊กแตน โดยวิธีสมทบมาใช้ และมีการรณรงค์ส่งเสริมด้วยวิธีการต่าง ๆ เพื่อให้เกษตรกรหันมานิยมบริโภคตั๊กแตนมากยิ่งขึ้น โดยการแปรรูปเป็นอาหารประเภทต่าง ๆ เช่น ตั๊กแตนทอด ข้าวเกรียบตั๊กแตน น้ำปลาตั๊กแตน เป็นต้น จนกระทั่งกลายมาเป็นอาชีพจับตั๊กแตนขาย เพื่อเสริมรายได้ของเกษตรกรอย่างเช่นทุกวันนี้

วิธีการจับตั๊กแตน

วิธีการจับตั๊กแตนได้มีการพัฒนาขึ้น เพื่อให้จับได้คราวละมากๆ จากการใช้สวิงมาใช้แสงไฟ จากที่เคยใช้ตะเกียงเจ้าพายุ มาเป็นการใช้หลอดแบลคไลท์จากที่เคยจับได้วันละ ๔-๑๐ กก. กลายมาเป็นวันละ ๕๐-๑๐๐ กก.

วิธีการจับตั๊กแตนแบ่งออกเป็น ๒ วิธี คือ

๑.  การใช้สวิง วิธีนี้จะใช้สวิงขนาดใหญ่ เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๕๐ ซม. ด้ามยาวประมาณ ๒ เมตร เดินโฉบไปมาตามป่าหญ้าขจรจบหรือตามไร่ข้าวโพดที่มีตั๊กแตนอยู่รวมกันหนาแน่น โดยจะเริ่มออกจับตั้งแต่เวลา ๑๗.๐๐ น. ก่อนพลบค่ำเรื่อยไปจนกระทั่งเวลาประมาณ ๒๐.๐๐ น. แล้วรวบรวมตั๊กแตนที่จับได้ส่งพ่อค้าท้องถิ่น ซึ่งคอยรับซื้ออยู่ต่อไป

๒.  การใช้แสงไฟ แต่เดิมใช้แสงไฟจากตะเกียงเจ้าพายุ ต่อมาได้มีการพัฒนามาใช้แสงจากหลอดแบลคไลท์ ซึ่งโดยวิธีนี้เกษตรกรจะส่งคนออกไปสำรวจแหล่งที่มีตั๊กแตนอาศัยอยู่หนาแน่นก่อน แล้วจึงรวมกลุ่มไปจับตามบริเวณที่ได้สำรวจ

อุปกรณ์ที่ใช้ประกอบด้วย หลอดไฟแบลคไลท์สีขาว ๑ หลอด และสีน้ำเงิน ๑ หลอด แบตเตอรี่รถยนต์ ผ้าพลาสติก กระสอบ ส่วนแรงงานที่ใช้ได้จากสมาชิกในครอบครัว

การจับด้วยวิธีนี้เกษตรกรจะปูผ้าพลาสติกใกล้ๆกับบริเวณที่ตั๊กแตนอาศัยอยู่ เช่น ตามใต้ต้นไม้ใหญ่หรือตามป่าหญ้าขจรจบ จากนั้นเปิดไฟจากหลอดแบลคไลท์ทั้งสองสี แล้วแกว่งขึ้นลงในแนวดิ่ง ส่วนสมาชิกที่เหลือจะเดินเคาะไล่ตั๊กแตนตามต้นไม้ที่อยู่รอบ ๆ ให้บินเข้าหาแสงไฟ เมื่อตั๊กแตนบินเข้ามาจำนวนมากๆ เกษตรกรจะดับหลอดไฟแบลคไลท์สีขาว เปิดเฉพาะหลอดสีน้ำเงินแล้วช่วยกันจับตั๊กแตนใส่กระสอบที่เตรียมมา ซึ่งจะใช้เวลาจับประมาณ ๓-๔ ชั่วโมง หลังจากดวงอาทิตย์ตก จากนั้นจะนำส่งพ่อค้าท้องถิ่นที่คอยรับซื้อ

ตารางเปรียบเทียบวิธีการจับโดยใช้สวิงกับใช้แสงไฟ

ข้อจำกัด ใช้สวิง ใช้แสงไฟ
ช่วงเวลา ตั้งแต่เวลา ๑๗.๐๐ น. เรื่อยไปทั้งคืนเดือนมืดและคืนเดือนหงาย หลังดวงอาทิตย์ตก คืนเดือนมืด
ช่วงฤดู ทุกฤดูกาล เฉพาะเดือน ก.พ.-เม.ย.และ ส.ค.-ก.ย.
สภาพอากาศ ทุกสภาพอากาศ อุณหภูมิสูงกว่า ๒๐ องศาเซลเซียส
แหล่งอาศัยของตั๊กแตน ตามป่าหญ้าขจรจบและไร่ข้าวโพด ตามสวนไม้ยืนต้น ป่าละเมาะ ป่าหญ้าขจรจบและไร่ข้าวโพดที่เก็บเกี่ยวแล้ว
แรงงานที่ใช้ ชายฉกรรจ์ที่แข็งแรง สมาชิกในครอบครัว ๕-๖ คนขึ้นไป
ปริมาณที่จับได้ ๑๐-๒๐ กก./คืน ๕๐-๑๐๐ กก./คืน
การลงทุน ๖๐ บาท ๕๐๐ บาท(เฉพาะหลอดไฟแบลคไลท์ ๒ หลอด)

 

ในปัจจุบันแหล่งที่จับตั๊กแตนปาทังก้าแหล่งใหญ่ได้แก่ท้องที่ อำเภอวังน้ำเย็น จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งจะมีพ่อค้าท้องถิ่นคอยรับซื้อและรวบรวม ตั๊กแตนที่จับได้ส่งไปขายที่ตลาดสวนจตุจักร ตลาดคลองเตย กรุงเทพฯ หรือจังหวัดอื่นๆอีกทอดหนึ่ง ราคารับซื้อจากชาวบ้าน กิโลกรัมละ ๑๐-๒๐ บาท บางช่วงที่มีตั๊กแตนน้อยราคาจะสูงขึ้นถึง ๓๐-๔๐ บาท

สรุป

จากการที่เกษตรกรหันมาจับตั๊กแตนขายกันมากขึ้น ทำให้ปริมาณการระบาดของตั๊กแตนปาทังก้าลดลงเป็นอย่างมาก ในปี พ.ศ. ๒๕๒๙ เกษตรกรสามารถจับตั๊กแตนขายได้ไม่ต่ำกว่า ๓๐๐ ตัน ซึ่งคิดเป็นจำนวนตั๊กแตนที่ถูกทำลายนับร้อยล้านตัว วิธีการเช่นนี้นอกจากจะเป็นการเสริมการป้องกันกำจัดตั๊กแตนปาทังก้าอย่างได้ผลแล้ว ยังเป็นอาชีพเสริมที่ทำรายได้ดีให้แก่เกษตรกรได้ โดยไม่ต้องลงทุนสูงอีกด้วย